หลาย ๆ คนอาจเคยได้ร่วมกิจกรรมเก็บขยะ ไม่ว่าจะเป็นตามแม่น้ำ คูคลอง หรือเก็บขยะตามชายหาด ถ้าเราได้ลองเก็บขยะและนำมาสำรวจ เราจะพบว่า ประเภทของขยะที่เราเก็บมีความหลากหลายทั้งบรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ในชีวิตประจำวัน และประเภทของขยะพลาสติก เช่น PET, HDPE, PVC เป็นต้น กรีนพีซมีเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบขยะเรียกว่า Brand Audit ซึ่งเป็นกิจกรรมเก็บขยะแล้วนำมาตรวจสอบว่าขยะพลาสติกที่เราเก็บนั้นมี ‘ประเภทผลิตภัณฑ์ ประเภทบรรจุภัณฑ์ แบรนด์จากขยะพลาสติก’ อะไรบ้าง โดยเราจะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลลงในแบบฟอร์ม และเพราะวิกฤตมลพิษพลาสติกมีความเร่งด่วน ทั้งเพราะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งถูกใช้อย่างรีบเร่ง และมีความหลากหลาย ดังนั้น ในการตรวจสอบขยะ เราจะเพิ่มความละเอียดไปที่การตรวจสอบขยะพลาสติก เพื่อให้เราได้เห็นภาพปัญหาขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เด่นชัดมากขึ้น 

การตรวจสอบแบรนด์สามารถทำได้ทุกพื้นที่ เช่น ชายหาด ป่า สนามเด็กเล่น หรือแม้แต่บ้านที่อยู่อาศัย วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบแบรนด์จะทำให้เราทราบว่า ขยะพลาสติกและขยะอื่นๆ ที่เราสร้างในแต่ละวันนั้นมีอะไรบ้างและมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำไปสู่การลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือลดการสร้างขยะให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ในที่สุด  

สำหรับความตั้งใจอยากตรวจสอบขยะในบ้าน หรือในที่ทำงาน เราต้องทำอะไรบ้าง ต้องเริ่มอย่างไร มาดูกัน

ขั้นตอนแรก คือ ความตั้งใจแน่วแน่และเริ่มเตรียมการ

  1. กำหนดระยะเวลาดำเนินการ: หลังจากเราตั้งใจแล้วว่า เราอยากตรวจสอบขยะในบ้านหรือที่ทำงานของเราเอง เราต้องกรอบเวลาให้ชัดเจนว่าเราจะเริ่มทำจากเดือนไหนถึงเดือนไหน เราแนะนำให้จัดกรอบเวลาตั้งแต่ 1 เดือนเป็นต้นไป เพื่อที่เราจะได้เห็นความหลากหลายของขยะที่เราสร้างและจะช่วยให้ลดขยะที่เรามองว่าไม่จำเป็นออกง่ายขึ้น
  2. เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม อย่างแรกที่สำคัญที่สุดคือ ถังขยะ เลือกถังขยะมาเพียง 1 ใบ สำหรับใส่ขยะพลาสติกทั้งหมด โดยถังขยะเหล่านี้จะต้องแยกกับขยะเปียก และขยะที่ใส่ในถังขยะใบนี้จะต้องล้างให้สะอาดก่อนหย่อนลงถังทุกครั้ง ไม่งั้นจะส่งกลิ่นเหม็นไม่น่าอภิรมย์ตอนเราตรวจสอบแบรนด์
  3. อุปกรณ์ถัดไปที่ต้องเตรียมคือ แบบฟอร์มการตรวจสอบขยะ สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ ปากกาสำหรับจด ถุงมือตอนหยิบแยกขยะ ผ้ารองปูตอนตรวจสอบแบรนด์ 

ขั้นตอนที่สอง คือ เริ่มทิ้งและรอวันตรวจสอบแบรนด์

  1. เริ่มทิ้งขยะตามปกติที่เราใช้ชีวิต ตามไลฟ์สไตล์ของเรา
  2. ผ่านไป 1 สัปดาห์ เรามาลองตรวจสอบขยะกัน
  3. เทขยะลงบนพื้น เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบ และแยกขยะออกเป็น ‘ประเภทผลิตภัณฑ์’ เช่น
  4. แยกขยะออกเป็น 2 กอง กองที่หนึ่งคือ ‘ขยะพลาสติกที่ระบุแบรนด์ได้’ กองที่สองคือ ‘ขยะพลาสติกที่ระบุแบรนด์ไม่ได้’ ในแต่ละกอง เราเริ่มแยก ‘ประเภทผลิตภัณฑ์’ ออกเป็น บรรจุภัณฑ์อาหาร ของใช้ส่วนตัว ของใช้ในครัวเรือน อุปกรณ์สำหรับสูบบุหรี่ อุปกรณ์ตกปลา และบรรจุภัณฑ์ห่อของ เป็นต้น หลังจากนั้น ในแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ ก็แยกเป็นขยะที่ระบุแบรนด์ได้เป็นกองๆ ด้วย
  5. ลงมือตรวจสอบทีละกอง และกรอกรายละเอียดตามแบบฟอร์ม ซึ่งข้อมูลที่ระบุในแบบฟอร์ม มีดังนี้ 

ชื่อแบรนด์ 

ประเภทของผลิตภัณฑ์ (Type of Product) 

ประเภทของวัสดุ (Type of Material) 

ลักษณะของบรรจุภัณฑ์

4. นับจำนวนทั้งหมด แล้วสรุปลงในแบบฟอร์มตรวจสอบขยะ (Brand Audit)

5.ในส่วนของ ‘ขยะพลาสติกที่ระบุแบรนด์ไม่ได้’ เราก็ขับแบบเดียวกัน และระบุตรงช่อง ‘ชื่อยี่ห้อ’ ว่า unknown

6.ขยะอื่นๆ ที่ไม่ใช่ขยะพลาสติกให้ทำแบบเดียวกัน และไม่ต้องระบุในช่อง ‘ประเภทบรรจุภัณฑ์’  

7.ทำลักษณะเดียวกันทุกสัปดาห์ แล้วเอามารวมกันเป็นเดือนๆ เราจะได้ทราบว่า ในแต่ละเดือน เราผลิตขยะไปมากน้อยแค่ไหน 

ขั้นตอนที่สาม ตั้งหน้าตั้งตาลดสร้างขยะ

หลังจากเห็นภาพรวมของขยะทุกเดือนแล้ว เราจึงมาคิดต่อว่า ขยะส่วนไหนที่เยอะที่สุด หรือขยะส่วนไหนที่เราไม่ต้องสร้างก็ได้ แล้วเรามาตั้งหน้าตั้งตาลดสร้างขยะกัน โดยเริ่มคิดถึง สิ่งไหนที่เราหาสิ่งทดแทนได้ เช่น แก้วใช้ซ้ำแทนแก้วกาแฟ กล่องใช้ซ้ำแทนโฟม ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก เป็นต้น หลังจากเราเริ่มลดใช้แล้ว เราก็มาลองตรวจสอบขยะอีกครั้ง เพื่อวัดความตั้งใจของเราว่าการตั้งหน้าตั้งตาลดใช้นั้นประสบผลเพียงใด

ขั้นตอนที่สี่ ส่งรายชื่อแบรนด์มาที่กรีนพีซการตรวจสอบขยะพลาสติก ไม่ได้มีเพียงแค่ประเภทผลิตภัณฑ์และประเภทบรรจุภัณฑ์เท่านั้น แต่มีรายชื่อยี่ห้อ และบริษัทแม่ของยี่ห้อนั้นๆ ด้วย ดังนั้น เราเริ่มจัดลำดับจำนวนขยะมากที่สุดไปน้อยที่สุด แล้วเริ่มส่งข้อมูลทั้งหมดไปกรีนพีซ ข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกรวบรวมโดยกลุ่มเครือข่าย Break Free From Plastic จากทั่วโลกของทุกปี และจะจัดทำรายงานเผยแพร่ทั่วโลกด้วย

Hazibition : นิทรรศการใต้ฝุ่น เปิดต้นตอปัญหาฝุ่นควัน