ขยะพลาสติกในมหาสมุทรสีน้ำเงิน

จากรายงานของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยจอร์เจีย และสมาคมการศึกษาทางทะเล  (Sea Education Association) ในรัฐแมสซาชูเซทส์สหรัฐฯ ที่ถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Science Advances ระบุว่า จากขยะพลาสติก 6,300 ล้านตันที่เราทิ้งออกไปในปี พ.ศ.2558 มีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ร้อยละ 12 ถูกนำไปเผาซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และที่เหลือร้อยละ 79 ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม

หากการผลิตพลาสติกและแนวโน้มการกำจัดของเสียยังคงดำเนินเช่นปัจจุบัน จะมีพลาสติกปริมาณ 1.2 หมื่นล้านตันที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือมีน้ำหนักเทียบเท่ากับวาฬสีน้ำเงิน 100 ล้านตัว หรือคิดเป็น 5,000 เท่าของประชากรวาฬสีน้ำเงินที่เหลืออยู่บนโลกใบนี้

มหาสมุทรกำลังสำลักขยะพลาสติก

Plastic Pollution in the Aftermath of Super Typhoon Manghkut in Manila. © Joshua Paul / Greenpeace

ไต้ฝุ่นมังคุดที่พัดเข้าถล่มบริเวณทางภาคเหนือของกรุงมะนิลาได้พัดเอาขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้ามาพร้อมๆกับพายุฝน กรีนพีซเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคแบบจำหน่ายเร็ว (FMCG) ลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นบรรจุภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันขยะพลาสติกจำพวกนี้กำลังเป็นวิกฤตในหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

พลาสติกชิ้นเล็กๆ มีอยู่ในมหาสมุทรทุกแห่งบนโลก ทุกๆ ปี เราเพิ่มจำนวนขยะพลาสติกหลายล้านตันในสิ่งแวดล้อมทางทะเล นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจียประมาณการไว้ว่ามนุษย์เพิ่มขยะให้กับมหาสมุทรไปประมาณ 12 ล้านตันต่อปี

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลพบเศษพลาสติกบนเกาะเฮนเดอร์สัน(Henderson Island)เกาะร้างอันห่างไกลในแปซิฟิกใต้ ขยะพลาสติกที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์นี้มีที่มาจากทั่วโลก พวกเขาพบชิ้นส่วนขยะพลาสติกจากเยอรมนี นิวซีแลนด์ แคนาดา และประเทศอื่นๆ ถึง 18 ตัน พลาสติกจิ๋วเหล่านี้ยากที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในทุกๆ ตารางเมตรบนชายหาดเมื่อนักวิจัยขุดลึกลงไป 10 เซนติเมตร จะพบเศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ มากกว่า 4,000 ชิ้น

ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล พลาสติกมารวมกันจากอิทธิพลของกระแสน้ำวนในมหาสมุทร ซึ่งโดยหลักๆ มีอยู่ 5 บริเวณคือในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและใต้ 2 บริเวณ ในมหาสมุทรแปซิฟิก 2 บริเวณ และอีกหนึ่งบริเวณในมหาสมุทรอินเดีย นอกจากนี้ยังมีกระแสน้ำวนขนาดเล็กอีกบางส่วน กระแสน้ำวนในมหาสมุทรเหล่านี้เป็นแหล่งรวมกันของถุงพลาสติก ขวดพลาสติก บรรจุภัณฑ์พลาสติก ถังพลาสติก กล่องโฟม ตาข่ายจับปลา เชือกพลาสติก กรวยจราจร ไฟแช็ค ของเล่นพลาสติก ยางรถยนต์ แปรงสีฟันพลาสติก และวัตถุพลาสติกชิ้นจิ๋วที่ไม่สามารถระบุได้

กระแสน้ำวนของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือนับว่าเป็นบริเวณที่มีขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก เปรียบเทียบคือ 1 กิโลกรัมของแพลงก์ตอนจะมีขยะพลาสติกอยู่ 6 กิโลกรัม และหนึ่งในพื้นที่ที่อยู่ในเขตกระแสน้ำวนนี้คือรัฐฮาวายซึ่ง พบซากเต่าที่ท้องของมันเต็มไปด้วยพลาสติกนับพันชิ้น

สัตว์ทะเลกำลังตกอยู่ในอันตราย

Plastic Waste in Verde Island, Philippines. © Noel Guevara / Greenpeace

ภาพปูทะเลติดอยู่ในแก้วน้ำพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง ภาพนี้ถูกถ่านบริเวณเกาะ Verd สถานที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลระดับโลก จังหวัดบาตังกัส ฟิลิปปินส์

งานวิจัยในวารสาร Marine Pollution Bulletin พบชิ้นส่วนพลาสติกในกระเพาะอาหารของนกทะเลถึงร้อยละ 44 ของสายพันธุ์นกทะเลทั้งหมด และร้อยละ 22 ของสัตว์จำพวกวาฬและเต่าทะเลทุกสายพันธุ์ ในหมู่นกทะเลพันธุ์จมูกหลอด (Procellariiformes) เช่น นกอัลบาทรอส นกพีเทรล และนกจมูกหลอดลาย  อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดเนื่องจากนกเหล่านี้มีกระเพาะขนาดเล็กและถ้าหากกินพลาสติกเข้าไป พวกมันจะไม่สามารถขย้อนพลาสติกที่กินแล้วออกมาได้ ส่วนสิ่งมีชีวิตที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร เช่น นก ปลา และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มักสับสนระหว่างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วของพลาสติกกับแพลงก์ตอนบางสายพันธุ์

เมื่อสัตว์กินชิ้นส่วนของพลาสติกเข้าไป พลาสติกชิ้นนั้นจะไปกีดขวางลำไส้ของสัตว์ และรบกวนระบบย่อยอาหาร ทำให้เอนไซม์ในกระเพาะอาหารหยุดหลั่ง และที่น่ากลัวกว่านั้นคือระดับฮอร์โมนถูกรบกวนหรือทำให้เกิดผลกระทบอื่นๆ ในระบบของร่างกาย UNESCO ประมาณว่าในแต่ละปีมีนกทะเลราว 1 ล้านตัวและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลราว 100,000 ชีวิต ตายจากการกินพลาสติกเข้าไปและไปรบกวนระบบย่อยอาหารและติดค้างในกระเพาะอาหารและลำไส้