รายงานนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปล่าสุดของอุตสาหกรรมถ่านหินในฐานะความท้าทายของปฏิบัติการระดับโลกว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบพลังงานของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง 5 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม

ภาพรวมของสถานการณ์ล่าสุดว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน

ที่ COP 26 ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 มีการขับเคลื่อนที่ต้องลงแรงและมีผลเชิงบวกเพื่อยุติถ่านหิน โดยใช้คำว่า ‘ค่อยๆ ลด (phase down)’ แทนคำว่า ‘ปลดระวาง (phase out)’ มีการลงนามในปฏิญญาหลายฉบับเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมถึง การปล่อยก๊าซมีเทน การเปลี่ยนผ่านจากถ่านหินสู่พลังงานหมุนเวียน ป่าไม้และการใช้ที่ดิน แต่การมีส่วนร่วมของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงนั้นยังไม่ดีนัก มีเพียงเวียดนามเท่านั้นที่ลงนามในพันธกรณีด้านพลังงาน และเป้าหมายที่ช้าที่สุดเป็นของประเทศไทยที่ประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608

ความเคลื่อนไหวล่าสุดในเรื่องแผนที่นำทางในการลดก๊าซเรือนกระจกระดับประเทศหรือ Nationally Determined Contributions (NDCs)ของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงนั้นยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ประเทศเหล่านี้ทำได้ดีที่สุดเพียงให้รายละเอียดถึงพันธกรณีที่ไม่เปลี่ยนแปลง (กัมพูชาและลาว) ในขณะที่ความพยายามของไทยและเวียดนามถูกจัดอยู่ในระดับ ‘ไม่เพียงพออย่างยิ่ง’ จากการวิเคราะห์ของ Climate Action Tracker (CAT) เนื่องจากยังคงขาดวิสัยทัศน์และเจตจำนงทางการเมืองที่จะกำหนดกลยุทธ์ที่ชัดเจนสำหรับอนาคต ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน

มีความคืบหน้าอย่างมากจากพันธกรณีของกลุ่มประเทศที่ให้เงินกู้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน (จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ในการยุติการให้เงินกู้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินนอกประเทศของตน รายงานนี้ประมาณการว่า มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและแผนทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินเดิม รวมกัน 27 โครงการ (ประกอบด้วย 62 หน่วยผลิตไฟฟ้าเป็นอย่างต่ำ) รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 25.9 กิกะวัตต์  ในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอาจได้รับผลกระทบจากการยุติการให้เงินกู้ดังกล่าวนี้เมื่อเปรียบเทียบกับกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ (ไม่รวมโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดเล็ก) ที่ 32.2 (42 โรงไฟฟ้าและ 102 หน่วยผลิตไฟฟ้า) นอกจากนี้ ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 8 แห่งซึ่งเสร็จสิ้นการสนับสนุนงบทางการเงินแล้ว (14 หน่วยไฟฟ้า กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 8.8 กิกะวัตต์)

ในขณะเดียวกัน ต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนก็ลดลงอย่างมาก  แผงโซลาร์เซลล์มีราคาถูกกว่าก๊าซฟอสซิลและถ่านหินทั้งในไทยและเวียดนาม และในไม่ช้า ต้นทุนพลังงานลมบนฝั่งก็จะลดลงตามไปด้วย โดยแหล่งพลังงานทั้งสองจะมีต้นทุนลดลงอีกในทศวรรษหน้า  เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพการจ้างงาน การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

แม้จะมีพันธกรณีดังที่กล่าวมา แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงโควิดก็ล้มเหลวในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการสร้างกลับมาให้ดีกว่าเดิม (Build Back Better) เมื่อพิจารณาถึงระบบพลังงานและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การปล่อยคาร์บอนได้กลับสู่ระดับการปล่อยก่อนเกิดโรคระบาด มีการฟื้นตัวของการค้าถ่านหิน และการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอาจไปถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565

หน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานขนาดใหญ่ ดูเหมือนลังเลใจที่จะยอมรับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน ยังคงยึดโยงอยู่กับการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งทำให้ระบบพลังงานของประเทศยิ่งรวมศูนย์มากขึ้น ต้นทุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงมาจากเงินสนับสนุนของรัฐบาลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลตอบแทนระยะสั้นยังคงน่าดึงดูด กล่าวอีกนัยหนึ่ง ภาคพลังงานยังคงถูกยึดกุมด้วยความโลภของบรรษัท

ในขณะเดียวกัน ราคาถ่านหินก็ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการใช้ที่มากขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 และมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียภายหลังการรุกรานยูเครน ยังส่งผลกระทบต่อประเทศผู้นำเข้าถ่านหินและก๊าซฟอสซิล เช่น เวียดนาม ไทย และกัมพูชา ในทางกลับกัน การลงทุนเริ่มแรกในพลังงานหมุนเวียนสามารถสร้างผลตอบแทนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วราว 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และก่อให้เกิดการจ้างงาน 5-6 ล้านตำแหน่งในภูมิภาคนี้ภายในปี 2573