‘พี่คะ ไม่เอาหลอดค่ะ’

คำพูดนี้กลายเป็นคำพูดติดปากของเรามาตลอดตั้งแต่เราอยากช่วยลดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันให้น้อยลง ถึงแม้ว่าจะเป็นการลดที่อาจจะดูเหมือนช่วยได้เพียงน้อยนิด แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าหลาย ๆ คนช่วยกัน “ไม่ขอรับ” พลาสติกบางประเภท เราก็ช่วยลดพลาสติกไปได้เยอะเลย

ตั้งแต่ที่เราไปร่วมกิจกรรม Brand Audit กับทางกรีนพีซ ประเทศไทยในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เราเห็นขยะที่มาจากหลอดดูดน้ำเยอะมาก บางครั้งหลอดดูดน้ำอันนั้นยังไม่ถูกใช้งานด้วยซ้ำไป นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราหันมาพกกระบอกน้ำส่วนตัว และเลิกใช้หลอดแบบใช้แล้วทิ้ง

ในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทุกคนคงได้ยินข่าวกันมาแล้วว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของขยะที่เกิดจากการสั่ง food delivery นั้นมากขึ้นถึง 15% เราที่พยายามลดใช้พลาสติกมาก่อนหน้านี้เกิดการตั้งคำถามขึ้นว่า แล้วขยะพวกนั้นจะไปไหน สามารถจัดการอย่างไรได้บ้าง แต่โชคดีที่ไม่ได้มีแค่เราคนเดียวที่คิดแบบนี้ เพราะ campaign #ไม่ขอรับ จากเมย์ ชุลี เชง เอื้อ และวี จะสามารถทำให้เราลดขยะที่มาจาก food delivery ได้ไม่มากก็น้อย

กว่าจะเป็น #ไม่ขอรับ

ช่วงที่มีการประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพฯ วิถีชีวิตของคนรอบตัวเปลี่ยนไปหมดเลย หลายที่ประกาศให้ work from home ผู้คนกลัวการออกนอกบ้าน จะออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ทำให้การจับจ่าย ใช้สอยเพื่อความจำเป็นในชีวิตประจำวันลดลงอย่างน่าประหลาดใจ การสั่งอาหารจาก food delivery เลยกลายเป็นทางออกสำหรับคนที่ไม่ชอบทำอาหารกินเอง

ชุลีเล่าให้ฟังว่า เริ่มคุยกันช่วงประมาณมีนา ช่วงที่เริ่มมีประกาศปิดต่าง ๆ ออกมา แล้วพวกร้านกาแฟต่าง ๆ ก็ปฏิเสธไม่รับแก้วส่วนตัว เหมือนปลายปี 2562 ทุกอย่างกำลังจะไปได้ดี คนเริ่มพกถุงผ้า การใช้แก้วส่วนตัวเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่พอมาเจอโควิดทุกอย่างคือหยุด ถึงแม้ว่าตอนนั้นสถานการณ์มันจะยังไม่ได้ lockdown แบบเต็มตัว แต่เราเริ่มใช้แก้วส่วนตัวไม่ได้แล้ว แล้วมันก็ค่อย ๆ หนักขึ้นเป็น lockdown แล้วเราก็เริ่มคุยกันว่า พลาสติกที่ส่งอาหารมันเริ่มเยอะ แต่ตอนนั้นที่คุยกับเอื้อ เอื้อก็ไม่ใช่คนที่สั่งอาหาร คือปัญหานี้ไม่ได้เป็นปัญหาของเอื้อ เพราะเอื้อซื้อของมาทำกินเอง แต่ว่ามันเป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่ที่อยู่รอบตัวเรา

เวลามีคนรอบตัวเราอัพรูปต่าง ๆ ว่าสามารถสั่งอาหารจากร้านมากินที่บ้านได้นะ ได้อารมณ์เดียวกันกับกินที่ร้านเลย สิ่งที่พวกเรามองคือ เราไม่ได้มองอาหารที่ถูกแสดงขึ้นมา แต่เรามองถึงบรรจุภัณฑ์อาหารหรือแพคเกจจิ้งเหล่านั้นมากกว่าว่ามันเยอะมาก แล้วจะจัดการกับพวกมันยังไงหลังใช้งานเสร็จ

เป็นโอกาสดีที่ช่วงนั้น สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) มีทุนให้ทำโครงการเกี่ยวกับการรองรับ new normal ที่จะเกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  พวกเราเลยมานั่งสรุปกันว่าจะทำอะไรได้บ้าง ทำกับใคร กลุ่มไหน เริ่มอย่างไร มันมีอะไรที่พอจะเปลี่ยนได้บ้าง ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ก็จะจัดการได้สองแบบ หนึ่งคือ เราจะเน้นที่การคัดแยก เอาขยะที่มีไปคัดแยก ซึ่งก็มีบางหน่วยงานเริ่มทำแล้ว แล้วสองคือ ลดตั้งแต่ต้นทางก่อนที่มันจะกลายเป็นขยะ เราสามารถลดอะไรได้บ้างหรือเปล่า supply chian หรือห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดเราสามารถลดอะไรได้บ้าง ก็มีเชงกับวีณามาช่วย ที่ทั้งสองคนสนใจเรื่องนี้มาอยู่ก่อนแล้ว เลยเป็นที่มาของพวกเราห้าคนและโปรเจ็ค #ไม่ขอรับ

#ไม่ขอรับ โมเดลของการลดใช้พลาสติก

ช่วงแรกของโปรเจคเหมือนกับการไปลงพื้นที่สำรวจร้านต่าง ๆ ว่าตอนนี้แต่ละร้านมีความคิดเห็นในเรื่องการใช้พลาสติกเป็นอย่างไร มันไม่ได้มีแค่เรื่องของบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่จะเปลี่ยนจากกล่องพลาสติกให้เป็นกล่องชานอ้อยที่ย่อยสลายได้ง่ายขึ้น แต่มันยังรวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทางร้านคิดเผื่อลูกค้าด้วย เช่น ซองเครื่องปรุง ช้อน ส้อมพลาสติก หลอดดูดน้ำต่าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมทั้งหมด ทางเราจึงมี 4 ทางเลือกสำหรับร้านอาหารที่สนใจเข้าร่วมโปรเจ็คของเรา คือ

  • ไม่ขอรับช้อน ส้อม ตะเกียบ
  • ไม่ขอรับซองเครื่องปรุง
  • เปลี่ยนมาใช้กล่องที่ย่อยสลายได้ง่าย
  • การลดใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำซ้อน

หลังจากปล่อยโปรเจ็คนี้ออกไปจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีกลุ่มคนที่สนใจลดพลาสติกอยู่แน่ ๆ เพียงแต่ว่ามันไม่มีโอกาส หรือช่องทางที่พวกเขาสามารถจะทำได้ ขอเพียงแค่มีระบบมารองรับสิ่งเหล่านี้ ตอนนี้พวกเรามีคู่มือ พร้อมรายละเอียดอธิบายไว้ชัดเจนแล้วว่าสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ทุกอย่างสามารถเริ่มดำเนินการไปได้เลย โดยที่ไม่ต้องมาติดต่อพวกเรา ขอแค่มีคนพร้อมที่จะทำและแก้ปัญหานี้ไปพร้อม ๆ กัน

พลาสติก = ผู้พิทักษ์เชื้อโรคจริงหรือ

ในช่วงที่โควิดระบาดหนักทางรัฐก็ออกมาตรการป้องกันเพื่อสร้างความมั่นใจและดูแลความปลอดภัยให้กับทุกคน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ข้ดกับความรู้สึกของทีมงานไม่ขอรับนั่นคือ เวลาทานข้าวตามร้านอาหารจะมีการใช้พลาสติกมากขึ้น คือ ช้อนหนึ่งคันก็จะแรปพลาสติกหนึ่งอัน หรือการไปทานอาหารที่ศูนย์อาหาร เครื่องปรุงต่าง ๆ ถูกเปลี่ยนจากการวางใส่ชามแล้วสามารถเติมได้ เป็นการบรรจุใส่ถุงไว้แล้วเรียบร้อย ในช่วงโควิดทางทีม #ไม่ขอรับ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส นั่นคือเราสามารถลดการใช้พลาสติกจากต้นทางได้มากขึ้น มันเป็นทางออกที่ดีที่เราจะลดขยะตั้งแต่ต้นทาง แต่วันนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนไป ไม่สามารถลดที่ต้นทางได้แล้วเพราะทุกอย่างถูกแพ็คมาแล้ว คำถามจึงเปลี่ยนเป็น แล้วเราสามารถนำพลาสติกที่เกิดจากการแรปอาหาร หรือซองบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ไปใช้ซ้ำหรือว่ารีไซเคิลได้อย่างไรบ้าง “ถ้าพวกเรากังวลในเรื่องการระบาดขนาดนั้น ทำไมเราถึงยังนั่งกินข้าวโต๊ะเดียวกันได้ แต่ในเมื่อเรายังนั่งร่วมกันได้ ทำไมเราต้องห่อพลาสติกทุกอย่าง”

3R คือทางออกแต่ไม่มีทางไหนที่สมบูรณ์แบบ

Reduce Reuse Recycle คือทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาพลาสติกที่เราทุกคนได้ยินกันมานาน เราคงไม่สามารถทำทุกอย่างแบบสุดโต่งได้ ยังมีพลาสติกบางชนิดที่ยังจำเป็นต้องใช้ แต่คำถามคือเราจะทำอย่างไรให้ใช้ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ทุกอย่างต้องทำควบคู่กันไป ก่อนที่จะไปถึงปลายทางของการรีไซเคิล อยากให้ลองลดการใช้บางอย่างที่ไม่จำเป็นลง หากลดไม่ได้อาจมองสเต็ปถัดไปว่าแล้วเราจะใช้ซ้ำอย่างไรบ้าง

ถึงแม้ว่าการพยายามลดปัญหามลพิษพลาสติกจะมีทางเลือกออกมามากมายให้ทุกคนได้รับทราบกันแล้ว แต่เห็นได้ชัดว่าปัญหามลพิษพลาสติกยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง หากภาครัฐออกกฎหมายเพื่อให้ภาคประชาชนหรือภาคธุรกิจปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ปัญหามลพิษพลาสติกคงไม่เข้าขั้นวิกฤตเหมือนตอนนี้

ในขณะที่การรอให้มีกฎหมายบังคับใช้ อาจไม่ทันการณ์แก้ปัญหา ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถเริ่มลงมือนำร่องโปรเจคลดพลาสติกได้ หากสนใจเข้าร่วมโครงการ “ไม่ขอรับ” เพื่อร่วมเป็นร้านอาหารลดบรรจุภัณฑ์พลาสติก สามารถติดต่อ ทีมงานไม่ขอรับได้ที่  #ไม่ขอรับ – ชุมชนคนลดขยะพลาสติกจากอาหารเดลิเวอรี่

ผู้บริโภคที่ต้องการเริ่มลดพลาสติกในชีวิตประจำวัน ที่ทำงาน หรือที่บ้าน สามารถเรียนรู้เรื่องพลาสติก และอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีลดพลาสติกได้ที่ https://www.greenpeace.org/thailand/tag/plastic/