กรุงเทพฯ, 15 กุมภาพันธ์ 2562 – จากการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย (14 กุมภาพันธ์ 2562) ที่ได้มีการทบทวนมติเดิมที่ให้ใช้สารเคมีพาราควอตต่อไปได้ หลังจากมีการทักท้วงของผู้ตรวจการแผ่นดินที่วินิจฉัยให้ยกเลิก แต่ท้ายที่สุด กรรมการวัตถุอันตรายมีมติยืนตามมติเดิมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 คือ ไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตต่อไปอีก 2 ปี แม้จะมีการแสดงความกังวลและคัดค้านประกอบกับข้อมูลวิชาการถึงผลกระทบโดยองค์กรต่าง ๆ มาโดยตลอด

มติดังกล่าวถือเป็นความผิดพลาด และเป็นการเพิกเฉยต่อผลกระทบทางสุขภาพต่อผู้บริโภคและเกษตรกรจากสารพิษร้ายแรง

“กลุ่มคนที่มีหน้าที่ปกป้องประชาชนจากสารเคมีอันตรายอย่างคณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับไม่เด็ดขาดในการตัดสินใจเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนจากการได้รับสารพิษที่อาจก่อมะเร็ง แต่ให้น้ำหนักกับผลประโยชน์ต่อภาคบริษัทอุตสาหกรรม พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่สามารถตกค้างได้ในสิ่งแวดล้อม อาหาร น้ำดื่ม หรือแม้แต่ในร่างกายของคนและถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้ หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จริงจังกับการปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจะต้องดำเนินการห้ามใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายนี้กับอาหารของประชาชน

ระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรมกำลังคุกคามสุขภาพของทั้งผู้กินและผู้ผลิต ทางออกที่สามารถทำได้เพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย คือการเปลี่ยนแปลงจากระบบเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรมที่พึ่งพาสารเคมีไปสู่การเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่เป็นมิตรต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยจำเป็นจะต้องมีการส่งเสริมทางนโยบายอย่างเข้มแข็งจากทางภาครัฐ” รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมามูลนิธิการศึกษาไทยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สรุปผลการศึกษาของผลกระทบจากสารกำจัดศัตรูพืชต่อนักเรียนระดับประถมและมัธยมต้น ทั้ง 4 ภาค ของประเทศไทยว่าผักและผลไม้ที่นำมาใช้ประกอบอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนทานนั้นอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัยร้อยละ 52 และจากการตรวจหาการปนเปื้อนของสารเคมีในเลือดของนักเรียนและคุณครูจำนวน 7,807 คน จาก 55 โรงเรียนพบว่าร้อยละ 6 นั้นอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัย และร้อยละ 25 ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง การได้รับสารเคมีนั้นไม่เพียงได้รับจากการกินอย่างเดียว แต่ยังคงได้รับด้วยการสูดดม หรือการสัมผัสทางอ้อม การยกเลิกการใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตจะเป็นจุดเริ่มต้นสู่อนาคตของอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษได้อย่างแท้จริง

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีมติยกเลิกและควบคุมการใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตในประเทศไทย โดยเร่งด่วนที่สุด

หมายเหตุ
1.ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ผู้เห็นชอบมีมติอนุญาตให้ใช้ 16:5 เสียง
2. กรีนพีซเป็นหนึ่งในเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร