ท่ามกลางวิกฤตมลพิษพลาสติกในปัจจุบันที่ทวีความรุนแรงขึ้น และการเรียกร้องให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งก็ยังไม่ตอบโจทย์ความเร่งด่วนของปัญหานี้ได้ดีเท่าที่ควร ภาคธุรกิจซึ่งเป็นผู้ผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งจึงจำเป็นต้องก้าวมาเป็นหนึ่งในคนจัดการปัญหาพลาสติกไปพร้อม ๆ กับกระบวนการจัดการของภาครัฐและพฤติกรรมลดใช้ของผู้บริโภค 

Waitrose Refill Station in Oxford. © Isabelle Rose Povey / Greenpeace
ร้าน refill อาหารแห้งในอ็อกส์ฟอร์ด ที่ให้ลูกค้านำภาชนะมาเติมวัตถุดิบเอง เพื่อลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว © Isabelle Rose Povey / Greenpeace

แล้วทำไมภาคธุรกิจจึงต้องร่วมมือแก้ไขปัญหานี้?

ข้อมูลจากผลการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) ซึ่งตรวจสอบโดยกรีนพีซประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า 5 อันดับแรกของขยะพลาสติก คือ บรรจุภัณฑ์พลาสติกใส่อาหาร 1,333 ชิ้น ฝาขวดพลาสติก 1,251 ชิ้น ขวดใส 844 ชิ้น ฉลากพลาสติก 483 ชิ้น และกล่องเครื่องดื่ม 471 ชิ้น ขยะพลาสติกเหล่านี้ที่เราพบตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม อาจไม่สามารถระบุได้ว่ามาจากการทิ้งไม่เป็นที่ของผู้บริโภค หรือมาจากถังขยะภายในบ้านก่อนที่จะถูกนำไปจัดการอย่างเหมาะสม แต่ที่รู้อย่างแน่ชัดคือ มันเกิดจากการผลิตของผู้ผลิตทั้งสิ้น และการทิ้งขยะลงถัง ไม่ได้หมายความว่า พวกมันจะไม่หลุดรอดลงสู่สิ่งแวดล้อม 

Brand Audit in Chiang Mai กรีนพีซจัดกิจกรรม เก็บ สังเกต บันทึก รู้จักที่มาของขยะผ่านแบรนด์
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอาสาสมัครกรีนพีซร่วมกันเก็บขยะบริเวณอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ทางขึ้นดอยสุเทพ ถนนศรีวิชัย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และสำรวจแบรนด์จากขยะพลาสติกที่พบ

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า บรรจุภัณฑ์สินค้าไม่ได้จบที่ชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาเก็ต แต่บรรจุภัณฑ์เหล่านั้นกลับไปปรากฎในสิ่งแวดล้อมแทน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ผู้ผลิตจะต้องคำนวณต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมเข้าไปในต้นทุนการผลิตสินค้าด้วย 

สิ่งที่ภาคธุรกิจทำได้คือ ลดการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งลง และเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์แบบนำกลับมาใช้ซ้ำได้และเพิ่มวิธีการเติม (Refill) 

แม้ว่าในปีนี้ (2562) เราพอจะเห็นการตื่นตัวของภาคธุรกิจในการออกมารณรงค์ให้ลูกค้าไม่รับถุงพลาสติก และให้หันมาพกถุงผ้าแทน แรงจูงใจคือการเพิ่มคะแนนสะสม ซึ่งเมื่อขึ้นชื่อว่ามันคือการปรับเปลี่ยนแบบสมัครใจ เราก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีถุงพลาสติกลดลงมากเท่าไหร่ในแต่ละปี และในขณะที่มลพิษพลาสติกถือเป็นวาระเร่งด่วนมาก การค่อย ๆ ลดโดยภาคประชาชนนั้นทำให้ไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่า การแก้ปัญหาแบบนี้จะเร็วพอที่จะช่วยแก้ไขหรือช่วยให้วิกฤตบรรเทาเบาลงได้ 

Scales for Weighing Loose Fruit. © Isabelle Rose Povey / Greenpeace
ลูกค้ากำลังช่างน้ำหนักแอปเปิ้ล โดยไม่ต้องใช้ถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว © Isabelle Rose Povey / Greenpeace

ภาคธุรกิจแจกพลาสติกให้เราใช้มากแค่ไหน?

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ในแต่ละปีมีถุงพลาสติกเข้ามาในระบบถึง 45,000 พันล้านชิ้นแบ่งเป็นตลาดสด 18,000 พันล้านชิ้น (40%) ร้านขายของชำ 400,000 ร้านทั้งประเทศ 13,500 พันล้านชิ้น(30%) และอีก 13,500 พันล้านชิ้น(30%) อยู่ในภาคธุรกิจร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า 16,330 แห่ง ทั้งหมดนี้คือต้นทางของมลพิษพลาสติกทั้งสิ้น และถ้ามีขยะพลาสติกเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ นั่นหมายความว่าจะมีถุงพลาสติกเกือบ 40,000 ชิ้นตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือไปจบที่หลุดฝังกลบ 

เมื่อคิดถึงว่าขยะพลาสติกในปัจจุบันไม่ได้มีแค่ถุงพลาสติกเท่านั้น แต่รวมถึงบรรจุภัณฑ์สินค้า ซึ่งจากการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกของกรีนพีซพบว่ามีถึง 5,485 ชิ้น(ร้อยละ 90) และยังมีขยะประเภทอื่นๆ เช่นของใช้ส่วนตัว 186 ชิ้น (3%) อุปกรณ์สำหรับการสูบบุหรี่ 231 ชิ้น (ร้อยละ 3.8) สินค้าอุปโภคบริโภค 188 ชิ้น (ร้อยละ 3) เป็นต้น 

Fruit and Vegetables Plastic Packaging. © Steve Morgan / Greenpeace
แอปเปิ้ลในบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว © Steve Morgan / Greenpeace

ข้อมูลทั้งหมดนี้ชี้ให้เราเห็นว่า มลพิษพลาสติกในปัจจุบันจึงต้องการความรับผิดชอบของผู้ผลิต ซึ่งเป็นต้นทางของขยะมาจัดการปัญหา ในเมื่อผู้ผลิตคือคนที่สร้างขยะเหล่านี้ขึ้นมา ทำไมจึงต้องเป็นผู้บริโภคที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงฝ่ายเดียวด้วย ผู้ผลิตไม่ควรลอยตัวเหนือปัญหา แล้วผลักภาระการจัดการมลพิษพลาสติกไปให้ภาครัฐและภาคประชาชนเพียงอย่างเดียว 

ในยุคปัจจุบัน เราเชื่อว่าผู้ผลิตมีศักยภาพเพียงพอที่จะก้าวไปไกลกว่าการรณรงค์เพียงอย่างเดียวแล้ว เพราะทางออกของปัญหามลพิษพลาสติกคือ การหยุดวัฒนธรรมการทิ้งขว้าง (Throw-away culture) ด้วยการริเริ่มใช้บรรจุภัณฑ์แบบนำกลับมาใช้ใหม่ และเปิดร้านค้าแบบเติม (refill) โดยบรรจุภัณฑ์และร้านค้าแบบเติมนั้นควรอยู่ภายใต้แนวทางการแก้ไขวิกฤตการณ์มลพิษพลาสติก ดังนี้ 

Plastic-Free Shopping Practices in Mangwon Market, Seoul. © Jung Park / Greenpeace
ตลาดสดในเกาหลีใต้ ที่เราสามารถจ่ายตลาดแบบไม่มีพลาสติกได้ © Jung Park / Greenpeace

ราคาที่เอื้อมถึง

ผู้ผลิตจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของวัสดุบรรจุภัณฑ์สำหรับเติม หรือที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้รวมถึงการเก็บคืน และไม่ผลิตบรรจุภัณฑ์แบบเติมที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้เพื่อตอบสนองลูกค้าพรีเมี่ยมเพียงแค่บางกลุ่มเท่านั้น 

เรียบง่าย

การเปลี่ยนไปใช้ระบบการเกษตรอินทรีย์ท้องถิ่น ที่ออกแบบมาตามหลักการทางนิเวศวิทยาจะรวมถึงการบริโภคอาหารที่เกษตรกรใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อลดขั้นตอนการใช้บรรจุภัณฑ์และการขนส่ง

ไม่มีสารเคมีอันตราย

บรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำควรปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย และไปให้ไกลกว่าการลดใช้สารเคมีชนิดที่กฎหมายบังคับไว้ แต่คำนึงถึงสารพิษทุกชนิดที่อาจก่อให้เกิดอันตราย

เป็นธรรม

ระบบใช้ซ้ำควรให้ความสำคัญกับการผลิต พนักงานส่งของ และธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงผู้บริโภคมากกว่าผลกำไรของตน

คงทน

วัสดุควรมีอายุยาวนานและแข็งแรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

สะดวก

บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ควรเก็บคืนได้ และบริษัทควรรับผิดชอบในการออกแบบระบบการเก็บรวบรวม เพื่อให้แน่ใจว่าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำจะไม่กลายเป็นขยะสู่สิ่งแวดล้อม ผู้ค้าปลีกควรอนุญาตให้ลูกค้านำภาชนะของตนมาใช้ได้ รวมทั้งเสนอทางเลือกที่ยั่งยืนให้ผู้บริโภคได้