
อะไรคือพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง
พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หมายรวมถึง ถุง ขวด หลอด และอื่นๆ ที่โยนทิ้งหลังจากใช้แล้วแค่ครั้งเดียว ซึ่งมีอายุการใช้งานสั้น แต่ใช้เวลาย่อยสลายแสนนาน

เมื่อโลกเต็มไปด้วยขยะพลาสติก
การผลิตพลาสติกมีความสัมพันธ์กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ บริษัทข้ามชาติมักเลือกประเทศด้อยพัฒนาซึ่งมีการจัดการของเสียที่ไร้ประสิทธิภาพและการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอเป็นปลายทางของการระบายผลิตภัณฑ์พลาสติกของตน ขณะที่สารเคมีที่เป็นพิษในกระบวนการผลิต พลาสติกสามารถหลุดรอดและตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม

พลาสติกภัยร้ายคุกคามห่วงโซ่อาหาร
จากการแตกตัวของขยะพลาสติกกลายเป็นไมโครพลาสติก และไหลทะลักเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร แน่นอนว่ามนุษย์เราก็เป็นหนึ่งในห่วงโซ่นี้

สืบจากขยะ ใครกันที่ต้องรับผิดชอบ
สวมบทนักสืบตามหาผู้ที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติก
พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) กำลังคุกคามสิ่งมีชีวิตในทะเล มหาสมุทรรวมถึงโลกทั้งใบของเรา พลาสติกกลายมาเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกของเราในปัจจุบัน แต่ขยะพลาสติกเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อโลกและทำร้ายสิ่งมีชีวิตในทะเลเป็นจำนวนมาก โดยการทำงานร่วมกับผู้บริโภค กรีนพีซตั้งคำถามต่อบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกถึง “การขยายความรับผิดชอบ(extended producer responsibility)” และแผนงานลดรอยเท้าพลาสติก(plastic footprint) และการยุติการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ล้นเกินที่ออกแบบให้ใช้ครั้งเดียวทิ้งและกลายเป็นมลพิษในสิ่งแวดล้อม กรีนพีซยังเรียกร้องรัฐบาลให้ลงมือจัดการมลพิษพลาสติกนี้โดยสนับสนุนระบบการผลิตและการบริโภคแบบของเสียเหลือศูนย์
เรียนรู้เรื่องมลพิษพลาสติก
พลาสติก เป็นวัสดุพอลิเมอร์ที่ผ่านกระบวนการสังเคราะห์โดยใช้วัตถุดิบจากแหล่งปิโตรเคมีเป็นหลัก เนื่องจากความคงทน ทำให้พลาสติกถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย และพบเห็นได้ทั่วไป แต่บางประเภทก็ถูกนำมาใช้งานเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่กลับถูกทิ้งอยู่ในสิ่งแวดล้อมอีกยาวนาน
พลาสติกที่เราใช้ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่จะถูกแบ่งตามหมายเลข เพื่อจะได้ทราบว่าผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นใช้พลาสติกประเภทใด เพราะแต่ละชนิดมีการใช้งานแตกต่างออกไป บางชนิดนำมาใช้ซ้ำได้ บางชนิดนำมารีไซเคิลได้ แต่หลายชนิดก็ไม่สามารถแตกตัวหรือนำมารีไซเคิลได้
- ร่วมกันหาคำตอบ และแนวทางการแก้ไขวิกฤตมลพิษพลาสติกนี้ใครกันที่ต้องเข้าร่วมกันรับผิดชอบ ในแพลตฟอร์ม สืบจากขยะใครกันที่ต้องรับผิดชอบ
- รู้จักพลาสติกแต่ละประเภทได้ที่นี่ พลาสติก 101 : รู้จักพลาสติกในชีวิตประจำวัน
- อ่านข้อมูลการย่อยสลายของ พลาสติกชีวภาพ (Biodegradable plastic)
พลาสติกส่งผลกระทบอะไรบ้าง
เราพบพลาสติกแทบในทุกๆที่ และมลพิษของพลาสติกก็ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศในทุกๆที่เช่นเดียวกัน ตั้งแต่ในมหาสมุทร แหล่งน้ำ ในป่า เกาะที่ห่างไกล หรือแม้แต่ในน้ำแข็งของทวีปอาร์กติก
พลาสติกส่วนใหญ่ใช้เวลานานในการย่อยสลาย เราไม่สามารถรู้แน่ชัดว่าใช้ระยะเวลานานแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ คือ ถ้าหากพลาสติกปนเปื้อนเข้าสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะเก็บกวาดให้หมดไป พลาสติกที่เราใช้ หลังจากกลายเป็นขยะแล้ว ก็จะมีปลายทางอยู่ที่หลุมฝังกลบ หรือปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น แม่น้ำ ทะเล เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าก็จะแตกตัวออกมาเป็นพลาสติกขนาดเล็ก หรือไมโครพลาสติก ที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
การผลิตพลาสติกมีความสัมพันธ์กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ บริษัทข้ามชาติมักเลือกประเทศด้อยพัฒนาซึ่งมีการจัดการของเสียที่ไร้ประสิทธิภาพและการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอเป็นปลายทางของการระบายผลิตภัณฑ์พลาสติกของตน ขณะที่สารเคมีที่เป็นพิษในกระบวนการผลิตพลาสติกสามารถหลุดรอดและตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์และสัตว์
มนุษย์เรายังหนีไม่พ้น “พลาสติก”
หากคิดว่ามลพิษพลาสติกยังคงวนเวียนอยู่ในมหาสมุทร แต่ยังมาไม่ถึงมนุษย์เรา คุณคิดผิด เพราะหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของออสเตรีย (The Environment Agency Austria)ได้นำอุจจาระจากผู้ร่วมการทดลอง 8 คน จาก 8 ประเทศอย่าง ออสเตรีย อิตาลี ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหราชอาณาจักร โดยแต่ละคนได้รับประทานอาหารประจำวันแบบปกติ (ผู้ที่ร่วมการทดลองไม่มีใครทานมังสวิรัต และมี 6 คนที่ทานปลาทะเล) ก่อนที่จะส่งอุจจาระของพวกเขาให้หน่วยงานได้วิเคราะห์
ผลที่ได้คือ ตรวจเจอไมโครพลาสติกจากอุจจาระของผู้ที่ร่วมการทดสอบทุกราย โดยไมโครพลาสติกที่พบมีตั้งแต่ โพลีเอธีลีน (ส่วนประกอบของถุงพลาสติก) โพลีพรอพีลีน (ฝาขวดน้ำ) ไปจนถึง โพลีไวนิลคลอไรด์ (ที่พบได้จากท่อพีวีซี) เฉลี่ยแล้วพบว่าในแต่ละ 10 กรัมของอุจจาระจะพบอนุภาคของไมโครพลาสติกจำนวน 20 ชิ้น
สัตว์บนบกก็ถูก(พลาสติก)ทำร้ายเช่นกัน
ไม่เพียงแต่สัตว์ทะเลเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามอันน่ากลัวนี้ แต่สัตว์บนบกก็ต้องเผชิญกับอันตรายเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ช้างที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นกกระสาในสเปน หรือแม้กระทั่งไฮยีนาที่ดินแดนห่างไกลอย่างเอธิโอเปีย ก็หนีไม่พ้นวิกฤตขยะพลาสติก สัตว์เหล่านี้อาจบังเอิญกินพลาสติกเข้าไปโดยไม่รู้ตัว หรืออาจโชคร้ายถูกห่อหุ้มด้วยขยะพลาสติก อาทิ ช้างในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่มีรายงานและภาพถ่ายระบุว่า อุจจาระของช้างตัวนี้มีถุงพลาสติกและถุงขนมปนอยู่ด้วย
การปนเปื้อนเหล่านี้อันตรายมากเพราะ เมื่อสัตว์กินชิ้นส่วนของพลาสติกเข้าไปพลาสติกชิ้นนั้นจะไปกีดขวางลำไส้ของสัตว์ และไปรบกวนระบบย่อยอาหาร โดยทำให้เอนไซม์ในกระเพาะอาหารหยุดหลั่ง และที่น่ากลัวกว่านั้นคือระดับฮอร์โมนถูกรบกวนหรือทำให้เกิดผลกระทบอื่นๆ ในระบบของร่างกาย มีประมาณการว่าในแต่ละปีมีนกทะเลราว 1 ล้านตัวและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลราว 100,000 ชีวิตตายจากการกินพลาสติกเข้าไปและไปรบกวนระบบย่อยอาหารและติดค้างในกระเพาะอาหารและลำไส้
ผลกระทบต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากวงจรชีวิตพลาสติกทำให้เป้าหมายเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่ 1.5 องศาไม่เป็นผล พลาสติกกว่า 90% ทำมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล จากรายงานล่าสุดของ CIEL ประมาณว่าการปล่อยมลพิษจากการผลิตพลาสติกทั่วโลกและการเผาเฉพาะปี 2562 เพียงปีเดียว เท่ากับการปล่อยมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินราว 189 โรง รายงานฉบับเดียวกันยังประมาณว่าในปี พ.ศ. 2593 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจเพิ่มขึ้นอีก 10-13% และหากการใช้พลาสติกยังเป็นเช่นนี้ต่อไป การนำเชื้อเพลิงฟอสซิลมาทำพลาสติกอาจเท่ากับ 20% ของการใช้น้ำมันในปี 2593
แก้ปัญหาพลาสติกได้อย่างไรบ้าง
พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย แต่ความสะดวกสบายของเราต่างหากที่น่ากลัว หลายคนใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเพราะตอบโจทย์เรื่องความสะดวก รวดเร็ว แต่พลาสติกชิ้นนั้นกลับใช้เวลานานในการย่อยสลาย เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทางที่ดีที่สุดคือ การลดใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทางเพื่อลดการใช้ทรัพยากรที่มากเกินความจำเป็น หากจำเป็นต้องใช้ พยายามใช้ซ้ำให้ได้มากที่สุด และหาวัสดุทางเลือกที่ไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
แก้ปัญหามลพิษพลาสติกโดย หลักการ Extended Producer Responsibility (EPR)
หลักการ Extended Producer Responsibility (EPR) คืออะไร?
EPR คือ หลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ กระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด