93% ของเด็กทั่วโลกอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพอากาศเกินเกณฑ์มาตรฐานที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก 

1 ในเด็กทุกๆ 4  คนที่อายุต่ำว่า 5 ขวบเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม 

ในปี 2559 เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตกว่า 600,000 ทั่วโลกเนื่องจาก?สาเหตุมลพิษทางอากาศในบรรยากาศทั่วไป (Ambient Air Pollution – AAP) และมลพิษทางอากาศในครัวเรือน (Household Air Pollution – HAP) 

เนื้อหาโดยสรุป

  • กลุ่มเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงหากผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ เพราะถุงลมที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้เด็กหายใจถี่และเร็วกว่าผู้ใหญ่ รวมทั้งยังมีโอกาสสูดดมมลพิษเข้าไปมากกว่าเพราะเด็กๆมักชอบวิ่งเล่นข้างนอก
  • การติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศ “DustBoy” ให้กับโรงเรียนทั้ง 8 แห่ง กรีนพีซมุ่งหวังที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจกับนักเรียนเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ
  • ข้อสังเกตอย่างหนึ่งจากการทำกิจกรรมคือ เด็กๆ ไม่ค่อยถามว่าจะต้องปกป้องตัวเองอย่างไร แต่เป็น “เราจะสามารถกำจัดมลพิษทางอากาศนี้อย่างถาวรได้อย่างไร”

ทำไมเด็กจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญในเรื่องมลพิษทางอากาศ? 

ในขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า ไม่มีมลพิษทางอากาศระดับใดที่ได้รับแล้วจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและกลุ่มเสี่ยงในเรื่องนี้นั้นมีทั้งกลุ่มเด็ก วัยชราและผู้มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหัวใจ ปอดและสมอง กลุ่มเด็กนั้นได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะ 

  1. ในแง่สรีระ เด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ถุงลมในปอดส่วนใหญ่จะพัฒนาขึ้นหลังคลอด ด้วยเหตุนี้ เด็กๆ จึงหายใจถี่เร็วกว่าผู้ใหญ่ เพราะถุงลมยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ 
  2. ในแง่ของพฤติกรรม เด็กๆ มักจะชอบวิ่งหรือเล่นข้างนอก ทำให้มีโอกาสสูดดมมลพิษเข้าไปมากกว่าผู้ใหญ่ 

กรีนพีซ ประเทศไทยได้จัดกิจกรรม “ขออากาศดีคืนมาออนทัวร์” กับโรงเรียน 8 แห่งในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงเรียนวัดนาคปรก โรงเรียนอนุบาลทอฟ้า โรงเรียนมหรรณพาราม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนเลิศหล้ากาญจนาภิเษก โรงเรียนปัญญาวิทยา โรงเรียนคลองสองต้นนุ่น โรงเรียนวัดบางประทุนนอก และ โรงเรียนวัดลาดปลาเค้า

โรงเรียนทั้ง 8 แห่งได้เข้าร่วมโครงการติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศ “Dustboy” โดยกิจกรรมที่มีขึ้นนี้จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับนักเรียนเกี่ยวกับเรื่องมลพิษทางอากาศและการอ่านค่าดัชนีวัดคุณภาพอากาศผ่านเกมส์ต่างๆ ก่อนจะมีการติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศตามโรงเรียน ซึ่งนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมนั้นมีตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6

เราเริ่มทำกิจกรรมกันแต่เช้าด้วยเกมส์ละลายน้ำแข็งพอให้น้องๆ ได้สนุกสนาน แล้วเปิดวิดีโอแนะนำฝุ่น PM2.5 และสารพิษอื่นๆ ที่มากับฝุ่นเพื่อย้ำเตือนว่าสิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่แค่ฝุ่น PM2.5 กับขนาดของมันแต่ยังมีเรื่องของสารพิษอย่างสารก่อมะเร็งที่เรียกว่า “PAHs”  ปรอท สารหนูและแคดเมียมที่เกาะมากับฝุ่นซึ่งพร้อมจะทำอันตรายกับอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเราอีกด้วย 

เมื่อถามว่า “ใครมีอาการอย่างไรบ้างในวันที่คุณภาพอากาศไม่ดีหรือฝุ่นเยอะ” น่าเศร้า คำตอบที่ได้จากเด็กๆ มีตั้งแต่ “เคืองตา” “แสบจมูก” “แสบคอ” “คันตามผิวหนัง” และ “อาเจียน” 

“ฝุ่น” เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่สถานการณ์ความเลวร้ายของมันกลับเป็นภาพชัดสมจริงขึ้นมากว่าเดิมเมื่อเด็กๆ ตอบเช่นนั้นพลอยทำให้เกิดคำถามว่า “ผู้ใหญ่อย่างเราๆ เคยรับรู้บ้างหรือไม่ว่าเด็กคนหนึ่งต้องรู้สึกหรือมีอาการเจ็บป่วยอย่างไรในวันที่ไม่มีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจ”

ในวันที่ต้นตอไม่ถูกจัดการ เราจึงต้องรู้จักป้องกันตัวเอง 

เมื่อตระหนักถึงอันตรายแล้วเราจึงสอนให้น้องๆ รู้จักวิธีการอ่านค่าดัชนีวัดคุณภาพอากาศ ค่าฝุ่น PM2.5 และวิธีป้องกันตัวเองตามระดับสีต่างๆ ผ่านการอธิบายและเกมส์ โดยเด็กๆ จะต้องช่วยกันแยกความแตกต่างระหว่างค่าดัชนีวัดคุณภาพอากาศกับค่าฝุ่น PM2.5 ได้ ระบุสีและวิธีป้องกันตัวเองแต่ละระดับได้ถูกต้องและรวดเร็วที่สุดจึงจะเป็นทีมที่ชนะ 

แทนที่จะใช้ค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ของไทย (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง) ในการสอน เราใช้ค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ของสหรัฐอเมริกา (35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง) ด้วยเหตุผลที่ว่า ค่ามาตรฐานดังกล่าวจะสามารถปกป้องสุขภาพได้รวดเร็วกว่า 

ยกตัวอย่างเช่น หากค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศที่ใช้ค่ามาตรฐานไทยจะอยู่ที่ “คุณภาพอากาศปานกลาง” ซึ่งมีค่าดัชนีวัดคุณภาพอากาศที่ 100 และไม่ได้แจ้งเตือนให้ต้องปกป้องตัวเองแต่อย่างใดเนื่องจากค่าคุณภาพอากาศยังเป็นที่ “ยอมรับ” ได้ แต่หากใช้ค่ามาตรฐานของสหรัฐอเมริกาคุณภาพอากาศจะขึ้นว่า “เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ” ซึ่งเป็นการเตือนให้เด็กๆ ต้องใส่หน้ากากเมื่อต้องอยู่หรือทำกิจกรรมข้างนอกและจะช่วยลดความเสี่ยงเร็วขึ้น 

อย่างไรก็ดี จะปกป้องตัวเองอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับการยอมรับความเสี่ยงและต้นทุนชีวิตที่ต้องจ่ายของแต่ละคน กล่าวคือ หากบางคนสามารถยอมรับความเสี่ยงต่างๆ ที่จะมากับมลพิษทางอากาศพร้อมกับค่ารักษาพยาบาลในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกลได้ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องปกป้องตัวเองเร็วขนาดนั้น แต่หากเราต้องการจะลดต้นทุนเหล่านี้ลง เราก็ต้องรู้จักปกป้องตัวเองให้เร็วที่สุดตั้งแต่วันนี้ 

คำถามที่ถูกถามบ่อยที่สุด 

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งจากการทำกิจกรรมคือ เด็กๆ ไม่ค่อยถามว่าจะต้องปกป้องตัวเองอย่างไร แต่เป็น “เราจะสามารถกำจัดมลพิษทางอากาศนี้อย่างถาวรได้อย่างไร” 

คำถามนี้เกิดขึ้นเมื่อเด็กๆ ตระหนักว่าร่างกายไม่สามารถกำจัดฝุ่นขนาดเล็กนี้ได้ เนื่องจากร่างกายของเราไม่ได้ถูกออกแบบให้สามารถดักจับหรือรับมือกับฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนและการใส่หน้ากากกับการเปิดเครื่องฟอกอากาศเป็นเพียงแค่การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

นี่คือ คำถามที่ผู้ใหญ่ทุกคนกลัว 

และ “จะกำจัดฝุ่นได้อย่างถาวรต้องจำกัดการปล่อยฝุ่นที่ต้นทาง” คือ  ข้อเท็จจริงที่ผู้ใหญ่ทุกคนพยายามปัดความรับผิดชอบออกจากตัวแล้วผลักให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป 

อีก 20 ปี….? 

คำถามดังกล่าวทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงวันที่เคยได้มีโอกาสไปงานเสวนางานหนึ่ง ในงานเสวนานั้นมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกะด้วยสายตาน่าจะอายุไม่ต่ำกว่า 70 ปี กล่าวประมาณว่า “กว่า(มลพิษทางอากาศ)จะเริ่มส่งผลกระทบต่อร่างกายก็อีก 10 – 20 ปีนู่น” 

อีก 20 ปีต่อจากนี้ เด็กทุกคนที่เจอในวันนี้จะอายุ 25 – 30 ปีเป็นวัยกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ควรจะเป็นวัยที่ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อสานฝันของตัวเอง

แต่อีก 20 ปีต่อจากนี้ มลพิษทางอากาศจะเริ่มเล่นงานสุขภาพร่างกายของพวกเขาตราบใดมลพิษทางอากาศไม่ถูกจำกัดตั้งแต่ต้นตอ พวกเขาต้องทำงานเก็บเงินไม่ใช่เพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว แต่เพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับโรคภัยที่พวกเราทุกคนต่างตระหนักรู้ดีว่า ไม่สมควรจะเกิดขึ้นและสามารถหลีกเลี่ยงได้ 

การปัดป้องว่า “อีกสิบยี่สิบปีค่อยว่ากัน” จึงเป็นคำพูดที่เห็นแก่ตัวอย่างที่สุดและการไม่ทำอะไรเพื่อแก้ไขสถานการณ์เลยก็เป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวไม่ต่างกัน 

มองให้ลึกลงไปอีกนิด เรากำลังส่งต่อความเหลื่อมล้ำจากรุ่นสู่รุ่น จากมือสู่มือผ่านมลพิษทางอากาศหากเรื่องนี้ยังไม่ถูกจัดการแก้ไข

คำถามคือ ยุติธรรมแล้วหรือที่เราจะส่งต่อ”อนาคต”ที่อากาศมีคุณภาพอากาศเช่นนี้ให้เด็กๆ? 

สำหรับกิจกรรมสุดท้ายก่อนที่เราจะแยกย้าย เราขอให้ทุกคนช่วยกันวาดภาพ “อากาศที่เราอยากหายใจ” และนี่คือสิ่งที่น้อง ๆ ได้บอกกับเราผ่านรูปวาดชิ้นนี้ 

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม