รถตู้ติดฟิล์มมืด ด้านหลังติดสติ๊กเกอร์ว่า “นำเข้าต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา ลาว เวียดนาม” พร้อมชื่อบริษัทและเบอร์โทรศัพท์ เป็นรถที่เราเห็นการปรากฏตัวไม่บ่อยนัก แต่รถเหล่านี้เป็นหนึ่งในข้อต่อสำคัญที่ทำให้หลายกิจการในประเทศไทย มีแรงงานข้ามชาติมาทำงานด้วยค่าแรงถูก 

ก่อนความมืดดำของกระจกติดฟิล์ม บทสนทนาเชิญชวนแรงงานมาทำงานเจิดจ้ากว่านั้นมาก แรงงานส่วนใหญ่มักไม่ได้รับแจ้งรายละเอียดว่าจะมาเจอสภาพการจ้างงานอย่างไร ไม่ได้รับสำเนาสัญญาจ้างงานตามกฎหมาย สิ่งที่ได้รับฟังส่วนใหญ่คือการวาดภาพอนาคตสวยงามให้ฟังว่าประเทศไทยมีงานให้ทำมากมาย 

“การนำเข้าแรงงานมีกระบวนการนายหน้าซ่อนอยู่ทั้งหมด เพราะบริษัทเข้าไม่ถึงตัวคนงานที่อยู่ในชุมชนของประเทศต้นทาง ต้องพึ่งกลุ่มนายหน้าในจังหวัดนั้นๆ  แรงงานต้องจ่ายค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าควรจะเป็น  ทั้งค่าเดินทาง ค่าจัดการเรื่องเอกสาร ค่านำพา” นาตยา เพชรรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา ซึ่งเป็นด่านหน้าอีกด่านในการรับแรงงานข้ามชาติที่ถูกทำร้ายมาพักฟื้นฟูร่างกายและจิตใจกล่าว

เอกสารสิทธิที่จะช่วยให้ทำงานในประเทศไทยนั้นเป็นสิ่งมีค่าและหาได้ยากสำหรับแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานประมง เอกสารประจำตัวยุคแรกที่แรงงานไขว่คว้าคือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยหรือบัตรสีชมพู แม้บัตรนี้จะมีข้อจำกัดมากมายทั้งผู้ถือบัตรไม่สามารถเดินทางออกนอกจังหวัดที่ขึ้นทะเบียนแรงงานเป็นเวลาเกิน 7 วัน ยกเว้นได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และยังขอเงินชดเชยจากกองทุนเงินทดแทนเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานไม่ได้ 

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล นักสิทธิแรงงาน เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network – MWRN) กล่าวถึงยุคของการใช้บัตรสีชมพูว่าเป็นยุคที่แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบมากที่สุดยุคหนึ่ง โดยหลังจากเสียเงินมากกว่าต้นทุนจริงไปมากมายพวกเขามักได้สําเนาบัตรเคลือบพลาสติกที่ถ่ายเอกสารจากบัตรจริงของพวกเขาซึ่งไต้ก๋งเรือยึดไว้และเหตุการณ์จะเลวร้ายยิ่งขึ้นหากไต้ก๋งใช้บัตรสีชมพูต่อรองให้พวกเขาเป็น “แรงงานบังคับ” 

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล นักสิทธิแรงงาน เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network – MWRN)

“ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ลูกเรือประมงต้องถือบัตรสีชมพู  ซึ่งทำให้ขึ้นบกแทบไม่ได้เลย ต้องทำงานประมงแทบตลอดไปและเปลี่ยนงานไม่ได้ บางคนพอจะออกจากเรือปุ๊บ นายจ้างบอกเอ็งเป็นหนี้ข้า 30,000-40,000 บาท บางคนถูกแจ้งว่ามีหนี้เกือบแสน แค่นั้นก็ไปไม่ได้แล้ว ทั้งที่เขาถามตอนแรกว่าเขามีหนี้อะไรมั้ย นายจ้างบอกไม่มีอะไรค้างคา พอจะขึ้นจากเรือจริงๆ นายจ้างบอกไปไม่ได้”

พ.ศ. 2558 หลังเรื่อง IUU คุกรุ่น แรงงานประมงเริ่มได้รับหนังสือสำคัญประจำตัว (Certificate of Identity : CI)สามารถขอรับวีซ่าเพื่อให้มีสิทธิ์อยู่ประเทศไทยและขออนุญาตทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากหนังสือฯ หมดอายุ แรงงานต้องรีบกลับประเทศ สุธาสินีให้คำนิยาม CI ว่า “คือน้องๆ พาสปอร์ต เคลื่อนย้ายได้ ทำงานบนบกได้” และกล่าวว่าปัจจุบันสถานการณ์แรงงานได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นคือแรงงานเข้าถึงการทำพาสสปอร์ตค่อนข้างครอบคลุม และรัฐได้ออก พ.ร.ก.บริหารจัดการการทํางานคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุว่าเป็นความผิดอาญาหากบุคคลใดยึดใบอนุญาตทํางานหรือเอกสารสําคัญประจําตัวของคนต่างด้าวไว้ จะต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ และยังมี พ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558 ที่สกัดกั้นเรื่องนายหน้านอกระบบ

“ถ้าแรงงานทำพาสปอร์ตมาถูกต้องจะไม่ต้องตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ถูกหลอกไปทำงานยากขึ้น สามารถเลือกงานได้ด้วยตัวเอง พ.ร.ก.ประมง 2558 ตอนนี้ห้ามไม่ให้มีนายหน้านอกระบบ แรงงานต้องเข้าสู่การทำงานกับบริษัทจัดหางานจริงๆ ที่จดทะเบียน มีสถานประกอบการ”  สุธาสินีกล่าวถึงสถานการณ์ด้านเอกสารของแรงงานในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามแม้หลายอย่างคืบหน้าไปในทางที่ดี แต่ใช่ว่าสถานการณ์ด้านแรงงานจะมูฟออนไปโดยสวยงามทั้งหมด ซึ่งเราจะรู้เรื่องนี้ได้ หากติดตามแรงงานเหล่านี้ใกล้ชิดและลงเรือไปด้วยกัน

ความเต็มใจที่ท่าเรือ

หลังแรงงานตกลงใจเดินทาง ​“คนนำพา” มักพาแรงงานไปจังหวัดติดทะเลทั้งในภาคตะวันออกและภาคใต้ บางครั้งเปลี่ยนคนนำพาอีกคนหนึ่งเพื่อพาไปขึ้นเรือ ระหว่างทางแม้มีเจ้าหน้าที่จำนวนมากรายทาง ทว่าราวกับเหล่าเจ้าหน้าที่มองไม่เห็นเส้นทางการนำพาสู่ทะเลนี้ ปภพ เสียมหาญ และเมื่อมาถึงท่าเรือ ด่านเกือบสุดท้ายที่สัญญาณกฎหมายและการปกป้องแรงงานไม่ให้ถูกล่อลวงยังครอบคลุมไปถึง แรงงานหลายคนที่กำลังจะเปลี่ยนสถานะเป็นแรงงานทาสกลับเต็มใจลงเรือไป  ปภพ เสียมหาญ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่ท่าเรือว่า

คุณปภพ เสียมหาญ

“สัดส่วนคนเต็มใจกับคนถูกหลอกไปขึ้นเรือระบุได้ยาก คนเต็มใจก็มี แต่อยู่บนพื้นฐานว่าความเต็มใจมาจากเงื่อนไขอะไร 1. เขาไม่รู้แน่ชัดว่าถ้าลงเรือจะเกิดอะไรขึ้น  2. รู้แต่ยังไงก็อยากจะลงเรือ 3. มีการหลอกลวง ชักจูงกันว่าเรือเป็นเรือที่ดี  มีการโฆษณาว่าเงินเดือน 3 หมื่น งานสบาย กินข้าวฟรี เบิกเงินล่วงหน้าได้ หลายคนที่เราได้คุยด้วยเต็มใจในสเต็ปแรก พอไปที่ท่าเรือเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานถามว่าเต็มใจลงเรือมั้ย เขาตอบว่าผมเต็มใจ  แต่พอไปสเต็ปที่สอง ลงเรือปุ๊บ เจอสภาพงานไม่ดี เราถามคนที่ลงเรือช่วงนี้เขาจะเริ่มมีอาการลังเลแล้ว กระทั่งไปสเต็ปสุดท้ายคือเจอสภาวะที่เลวร้ายแล้วระเบิด เริ่มมีเสียงร้องขอความช่วยเหลือ ไม่ไหวแล้ว อยากเปลี่ยนงานคนโทรกลับมาหาพวกเราบอกช่วยเขาด้วย”

ย้อนไปก่อนลงเรือสักเล็กน้อย ในความเป็นจริงการเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายและทำเอกสารเพื่อทำงานทุกขั้นตอน แรงงานจำเป็นต้องใช้เงิน 7,000 บาท ซึ่งแรงงานจำนวนหนึ่งมองว่าเป็นจำนวนเงินที่ยังคงสูงและเลือกเข้าประเทศไทยอย่างไม่ปกติ ซึ่งต้องจ่ายค่านำพาให้นายหน้าและผู้นำพา ชาวประมงจำนวนหนึ่งได้ทำงานอย่างยุติธรรมอย่างที่หวังไว้ แต่แรงงานไม่น้อยเมื่อมาถึงท่าเรือ พวกเขาไม่รู้ว่าก่อนลงเรือเจ้าของเรือได้จ่ายเงินให้นายหน้าที่พาพวกเขามาอยู่ที่หลักหมื่น นายหน้าบางรายขอค่านายหน้าจากเจ้าของเรือคิดเป็นเงินเดือนของแรง งานรวมแล้วหลายเดือน ซึ่งแน่นอนว่าเงินที่เจ้าของเรือเสียไปนั้น พวกเขาจะทวงคืนจากแรงกายของแรงงานเหล่านี้ภายหลัง

ในเรืออับสัญญาณกฎหมาย

ในอดีตเมื่อเรือออกจากฝั่งไปแล้ว ที่ทำงานของลูกเรือประมงไทยเหมือนโลกอีกโลกหนึ่งที่กฎหมายต่างๆ บนชายฝั่งราวกับอับสัญญาณไปดื้อๆ สวนทางกับคำขาดของไต๋เรือที่กลายเป็นอาณัติ ปัจจุบันเรือทุกลำต้องติดตั้งระบบสัญญาณติดตามเรือ (Vessel Monitoring System : VMS) มีการนับจำนวนแรงงานแรงงานก่อนและกลับเข้าฝั่งเพื่อให้รู้ว่าไม่มีใครถูกทำร้ายจนสูญหายไป และลูกเรือส่วนใหญ่มีพาสปอร์ตแล้วแต่ใช่ว่าทุกอย่างจะจบลงอย่างสวย งาม

สุธาสินีกล่าวถึงบทสนทนากับลูกเรือในปัจจุบันว่า “ถ้าคุยกัน 1-2 วันแรก เขาจะเล่าแต่เรื่องดีๆ พอหลังจากลงเรือไปพักหนึ่ง เขาบอกว่าไม่มีใครอยากเป็นลูกเรือ มันเป็นงานหนัก ตอนนั้นพี่ไปเจอที่สงขลา ลูกเรือกัมพูชาบอกพี่ว่าเขาไม่ไหวแล้ว เพราะเรือลำนี้ใหญ่มาก ถ้าต้องการใช้เรือให้เต็มศักยภาพควรมีลูกเรือสัก 50 คน แต่พวกเขาทำกัน 20 กว่าคน พวกเขาขึ้นอวน ลากลง คัดแยกปลาอยู่ตลอดเวลา เป็นงานหนักมาก”

เช่นเดียวกับปภพซึ่งกล่าวว่าสภาพการทำงานเช่นนี้สวนทางกับการทำงานในเรือพาณิชย์นาวีกระทั่งเรือประมงในหลายประเทศที่มูฟออนก่อนเราไปแล้ว

“ถ้าเราเปรียบเทียบกิจการประมงกับกิจการพาณิชย์นาวี การเดินเรือระหว่างประเทศต่างๆ เราจะเห็นว่าคนเดินเรือต่างประเทศ เรือขนสินค้า มีสวัสดิการดีกว่า เช่นมีห้องนอน ห้องอาบน้ำ โรงอาหาร มีการคำนวณโภชนาการว่าการออกเรือแต่ละครั้งลูกเรือต้องได้รับโภชนาการเท่าไหร่ถึงปลอดภัย มีสหภาพแรงงานของลูกเรือ สมมติเกิดเหตุนายจ้างบนเรือกดขี่ เขาสามารถติดต่อสหภาพฯ ได้ทันทีว่าเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น สหภาพฯ จะไล่บี้กับบริษัทพาณิชย์นาวีว่าทำไมคุณทำกับลูกเรืออย่างนี้

“หรือแม้แต่คนทำงานประมงในต่างประเทศมีการยกระดับขึ้น เช่นในเรือลำหนึ่งขนาดเท่ากัน เราใช้แรงงาน 20 คน ออกแรงทุกอย่าง แต่เขาใช้ประมาณ 5 คน แต่มีเทคโนโลยีทดแทน 5 คนนั้นเป็นคนควบคุม คัดปลา ดูว่าปลาพันธุ์นี้พันธุ์อะไร ต้องใส่กล่องไหน ขณะที่บ้านเราดึงแหกันทีเดียว 10 คน เอ้า! คนนี้ตกน้ำ เอาไง จะช่วยไม่ช่วย เลือกเอา มึงว่ายน้ำเป็นมั้ย กูว่ายน้ำไม่เป็นกูไม่ลงไปนะ เพราะลงไปกูก็ตาย  ลูกเรือแออัดจนไม่รู้จะนอนตรงไหน เรื่องความปลอดภัยมีแค่กล่องยาใบหนึ่ง”

ปภพเล่าถึงประสบการณ์ตรงที่เขาพบจากการพูดคุยกับลูกเรือ ในฐานะนักกฎหมายเขายังเห็นข้อเสียเปรียบที่ซ่อนไว้หลังความเหมือนจะมูฟออนไปของระบบแรงงานประมงไทยว่า หลังลูกเรือหลายคนเจอสภาพการทำงานเลวร้าย ต้องทำงานหนักเกินขนาด เจออุบัติเหตุจากการทำงานและไม่ได้รับการรักษา ถูกข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย กฎหมายไทยยังไม่อนุญาตให้แรงงานได้พิสูจน์ตัวเองมากนัก 

“สมมติแรงงานคนหนึ่งบอกเราว่าเขาทำงานหนักต่อเนื่อง 15 ชั่วโมง แต่ใน log book (ใบบันทึกเวลาการทำงานคล้ายการตอกบัตรของพนักงานออฟฟิศ) บอกว่าเขาทำงาน 8 ชั่วโมง แล้วแรงงานจะทำยังไง เขาไม่มีวิธีพิสูจน์ว่าตัวเองทำงาน 15 ชั่วโมง กฎหมายทำให้แรงงานต้องมีหน้าที่พิสูจน์หนักเกินกว่าที่เขาจะทำได้”  ปภพกล่าว

ด้านนาตยาผู้ดูแลแรงงานหลายคนที่บ้านพักสุขสันต์ จ.สงขลา เล่าว่าหลังลงเรือมา ลูกเรือจำมีปัญหาทางสุขภาพจากโรคที่แทบจะไม่มีใครเป็นกันแล้วเช่นโรคเท้าช้าง โรคขาดสารอาหาร โรคติดต่อต่างๆ  หลายคนได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน และหลายคนบาดเจ็บถึงจิตใจ ลูกเรือหลายคนเมื่อขอให้ทบทวนความทรงจำ พวกเขาแทบไม่อาจถ่ายทอดสิ่งที่ได้เจอมาได้ เรื่องราวช่วงอยู่ในเรือเหมือนถูกขีดฆ่าด้วยหมึกสีดำ 

คุณนาตยา เพชรรัตน์

“จริงๆ แรงงานทุกคนที่เข้ามาในไทยส่วนใหญ่มีความเครียดอยู่แล้ว แต่กรณีของคนถูกค้ามนุษย์และโดนละเมิดหนักๆ เขาจะมีภาวะความทรมานจิตใจ (trauma) เห็นได้ชัด บางคนเสพแอลกฮอล์และกัญชาจนติดเพื่อให้ลืมความเจ็บปวด  บางคนกระโดดตึกเพราะเขาเข้าใจว่ามีคนจะมาทำร้าย บางคนเดินไปข้างนอกโดยไม่มีจุดหมาย ความรู้สึกเขาตอนนั้นคือเขายังหวาดกลัวและหวาดระแวง และต้องการออกจากพื้นที่ไม่ปลอดภัย ทั้งที่เขาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว”

สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นต่อไปอย่างที่เป็นมา เรามูฟออนได้  นาตยากล่าวว่ากระบวนการทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย กับการได้รับการคุ้มครองทางด้านสุขภาพ การมีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น ทุกอย่างล้วนมาพร้อมกัน

ประมงไทยจะล้มละลายถ้าให้สิทธิแรงงานอย่างเต็มที่ ?

“ใครไปทำประกันให้แรงงานบ้างแล้วนี่ โห มีคนยกมือ มีตังค์นะเนี่ย เขาให้เราเลือก ประกันสังคมหรือประกันเอกชน หรือไม่ทำก็ได้ แต่ถ้าไม่ทำ ลูกน้องมันไปกินเหล้า ไปร้องคาราโอเกะ เมา ทะเลาะกับเพื่อน ออกมาเพื่อนแทงตาย นายจ้างต้องจ่าย มันไปร้องคาราโอเกะมันไปทำงานหรือเปล่า มันเกี่ยวอะไรกับนายจ้าง ไม่เกี่ยวกันเลย คนไทยได้แบบนี้หรือเปล่า ถ้าเพื่อนฟันมันแขนขาด ทุพพลภาพ ออกเรือได้มั้ยครับ ออกไม่ได้ สาวอวนไม่ได้ แต่พวกเราทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนี้ต้องจ่าย  รู้มั้ยครับว่ากฎหมายข้อนี้ออกมาแล้ว ประกันชีวิตหมู่ ถ้ามันแขนขาขาดจากรถล้ม ถูกฟัน อะไรที่ไม่เกิดจากการทำงานทั้งหลาย เราต้องจ่ายชดเชย 15 ปี  30 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน มันเป็นธรรมมั้ยพี่น้อง เพราะฉะนั้นถ้าไม่เป็นธรรมเราต้องไม่ทำ”

ถ้อยคำข้างต้นคือถ้อยคำปลุกระดมให้ชาวประมงพาณิชย์ร่วมกันต่อต้าน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 ซึ่งต่อยอดมาจากการอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ. 2550 หรือที่เรียกย่อๆ ว่า พ.ร.บ.C188    ปภพซึ่งเรียกกฎหมายฉบับนี้อย่างย่นย่อ ว่า พ.ร.บ.C188 กล่าวถึงกฎหมายฉบับนี้ว่า

“ในอนุสัญญา C188 ฉบับภาษาอังกฤษระบุว่าแรงงานต้องได้รับ Social Security ซึ่งบ้านเราคำนี้เป็นคำแปลภาษาอังกฤษของประกันสังคมอยู่แล้ว แต่นักกฎหมายของรัฐตีความว่า Social Security ไม่ได้หมายถึงประกันสังคม แต่คือการคุ้มครองรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่ควรได้รับ รัฐบาลไม่ชี้ชัดเรื่องนี้แล้วถามไปที่ ILO (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ : International Labour Organization)  ซึ่ง ILO ตีกลับมาว่าไทยต้องไปดูระบบภายในของตัวเอง ว่า Social Security ของไทยหมายความอะไร ดังนั้นกฎหมายลูกที่ออกมาจึงไม่ได้ระบุให้แรงงานเข้าระบบประกันสังคม แต่บอกว่านายจ้างทุกคนต้องจัดระบบประกันสุขภาพและสวัสดิการให้กับแรงงาน และถ้าเกิดอุบัติเหตุนายจ้างต้องเป็นคนรับผิดชอบ” 

ในมุมของนักกฎหมายอย่างปภพมองว่า “การจัดระบบประกันสุขภาพและสวัสดิการ” หรือประกันสังคมเป็นคำที่คลุมเครือ  เพราะครอบคลุมทั้งการซื้อประกันสุขภาพแบบกลุ่มจากรัฐและบริษัทเอกชน และประกันสังคม ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาสำคัญคือลูกจ้างต้องไล่เบี้ยเอากับนายจ้างหากนายจ้างเลือกใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช่ประกันสังคม 

“สมมติแรงงานนิ้วขาดจากการทำงาน แรงงานต้องไปไล่เบี้ยกับเจ้าของเรือหรือเจ้าของกิจการที่เขาซื้อประกันสุขภาพจากรัฐหรือเอกชนไว้ ถ้าเขาไม่จ่ายหรือไม่ได้ซื้อประกันไว้ให้ แรงงานต้องไปฟ้องร้อง ถ้าฟ้องแล้วได้เงินหรือไม่ได้เงินมา หรือมีคำพิพากษาออกมา แรงงานต้องไปบังคับคดีเอง แทนที่รัฐจะมีระบบประกันสังคม ที่รัฐจ่ายทันทีรัฐไม่เอาอย่างนั้น แต่กลายเป็นภาระตกกับแรงงานเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นผมว่าการดำเนินการเช่นนี้เป็นไปตาม C188 ไหม หรือคุณเอาไปโชว์เฉยๆ พอไปใช้จริงๆ ใช้ไม่ได้”  

 ทุกวันนี้เราจะได้ยินคำกล่าวจากลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่ต้องการซื้อประกันสังคมบ่อยครั้งว่า “แรงงานข้ามชาติได้อะไรเยอะแยะกว่าคนไทย คนไทยยังไม่ได้เท่านี้เลย” “การทำประกันให้ลูกเรือเป็นเรื่องสิ้นเปลือง ถ้าลูกเรือบาดเจ็บด้วยเรื่องส่วนตัว ทำไมนายจ้างต้องรับผิดชอบ” “ประมงไทยจะล่มสลายถ้าให้สิทธิแก่แรงงานอย่างเต็มที่”  นาตยาช่วยวิเคราะห์ว่าคำกล่าวเหล่านี้เป็นจริงแค่ไหน

“ประกันสังคมคือการส่งเงิน 5% ทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม โดยตั้งเพดานของเงินเดือนหรือค่าแรงรายวันคูณจำนวนวันที่ทำงานไว้สูงสุดคือเดือนละ 15,000 บาท ต่อให้เงินเดือนหรือค่าแรงรายวันที่คุณให้พนักงานสูงกว่านั้นก็ส่งไม่เกินเพดาน 5% จาก 15,000 บาท โดย คิดแล้วเต็มที่นายจ้างจ่ายราว 750 บาทต่อเดือน”

เมื่อแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม จะมี 2 กองทุนคอยดูแล คือ 1) กองทุนประกันสังคม จ่ายค่ารักษาเมื่อเจ็บป่วยทุกกรณี ยกเว้นจากการทำงาน  2) กองทุนเงินทดแทน จ่ายค่ารักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยหากนายจ้างและลูกจ้างส่งเงินครบ สองกองทุนนี้จะจ่ายค่ารักษาเยียวยาต่างๆ อัตโนมัติ นาตยากล่าวถึงข้อดีของกองทุนเงินทดแทนที่นอกจากดีต่อลูกจ้างแล้วยังดีต่อนายจ้างด้วย ว่า

Cambodian Fisherman at Hospital in Thailand. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชากำลังพักฟื้นตัวจากการรักษาโรคเบอริ-เบอรี่ โรคที่พบได้บ่อยในแรงงานประมงเนื่องจากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอระหว่างออกหาปลาเป็นเวลานาน
© Chanklang Kanthong / Greenpeace

“ส่วนกองทุนเงินทดแทน นายจ้างส่ง 0.02 ของเงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างตลอดทั้งปี สมมติมีลูกจ้างอยู่ 10 คน นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง 10 คนนี้ตกปีละ 200,000 บาท คิดแล้วนายจ้างต้องสมทบทุนเข้ากองทุนเงินทดแทนประมาณ 2,000 กว่าบาทต่อปี และถ้าลูกจ้างอยู่ไม่ครบปีนายจ้างขอเงินคืนได้อีก เร็วๆ นี้เพิ่งมีกรณีเกิดความสูญเสียและอุบัติเหตุจากการออกเรือแล้วเจอพายุ นายจ้างส่งกองทุนเงินทดแทนไว้ กองทุนก็จ่ายให้ลูกจ้างเองโดยอัตโนมัติ

“ถ้าเราเอาประกันสังคมกับประกันสุขภาพรูปแบบอื่นมาเทียบกันจริงๆ ประกันสังคมสิทธิประโยชน์เยอะกว่ามาก นายจ้างไม่ต้องควักกระเป๋าตัวเองเพื่อรักษา เกิดอุบัติเหตุคุ้มครองทันที ถ้าเจ็บป่วยมีเงื่อนไขบางข้อต้องรอ 3 เดือนไปแล้วถึงจะคุ้มครอง เช่นคลอดบุตร ที่สำคัญตราบใดคุณยังเป็นคนงานที่อยู่ในประเทศไทย ถึงคุณเปลี่ยนนายจ้างคุณยังรักษาสิทธิประกันสังคมได้ ส่งเงินเข้าประกันสังคมต่อได้เลย ส่วนประกันกลุ่ม (การซื้อประกันสุขภาพจากรัฐหรือบริษัทเอกชน) วันนี้เราอยู่องค์กรนี้เราได้รับประกันสุขภาพ แต่พอลาออกไปอยู่ที่อื่นเราเสียสิทธิไปด้วย” 

แรงงานกึ่งกูกกฎหมายในต้นทุนต่ำ

นอกจากการเลือกใช้ทั้งประกันสังคมและประกันกลุ่มที่ทำให้เรามูฟออนอย่างครึ่งๆ กลางๆ และเกิดพื้นที่ที่ทำให้ลูกเรือยังไม่ได้รับหลักประกันความปลอดภัยอย่างเต็มที่แล้ว ย้อนกลับไปที่เรื่องเอกสารสิทธิ์ในการทำงานในประเทศไทย เรายังมีความพยาพยามแล่นเรือไปถึงจุดคลุมเครือได้อย่างน่าทึ่ง ผ่านการ  “ไฟเขียว” ให้ใช้มาตรา 83 พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 นำเข้าแรงงานแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นวิธีการหาคนทำงานที่นักแรงงาน นักกฎหมาย และนักสิทธิมนุษยชนจำนวนมากเห็นพ้องว่ามาตรา 83 มีหลายจุดหละหลวมจนอาจนำไปสู่การค้ามนุษย์

สุธาสินีกล่าวว่า “การนำเข้าแรงงานตามมาตรา 83 คือแรงานถือพาสปอร์ตเข้ามาเล่มนึงแล้วมาขอใบอนุญาตการทำงาน (work permit)  ในประเทศไทย ทำ log book ในประเทศไทย มาตรา 83 จะจำกัดความเป็นอิสระ เปลี่ยนนายจ้างได้ก็จริงแต่ยังอยู่ในอาชีพประมง เพราะมาตรา 83 เกิดขึ้นเพื่อการแก้ไขปัญหาภาวะการขาดแคลนแรงงานในธุรกิจประมง จริงๆ ตัวกฎหมายเองบางทีมีลักษณะละเมิดในตัวกฎหมายเอง กฎหมายที่ไม่ละเมิดแรงงานคือวันหนึ่งเมื่อนายจ้างทำผิดเงื่อนไขการทำงานที่ตกลงไว้ตอนแรก ลูกจ้างควรสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่เอาตัวกฎหมายเป็นตัวล็อคทำให้เขาไม่สามารถมีอิสระในการทำงาน ซึ่งมาตรา 83 เป็นเช่นนั้น”   

ในมุมมองของนาตยาคิดว่าแรงงานข้ามชาติควรเข้าสู่ระบบแรงงานด้วยระบบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU  ทั้งหมด เพราะจะทำให้พวกเขารู้ล่วงหน้าว่าพวกเขาจะมาเจอกับอะไร ได้รับการคุ้มครอง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และเปลี่ยนงานได้หากถูกกดขี่ข่มเหง

Burmese Workers at Fishing Port in Thailand. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
แรงงานข้ามชาติชาวพม่าบริเวณท่าเรือในจังหวัดระนอง
© Chanklang Kanthong / Greenpeace

“MOU เป็นกระบวนการสรรหาคนมาทำงาน มีกระบวนการการฝึกอบรมคนงานก่อนเข้าทำงาน และให้ความรู้เรื่องตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีระบบประกันว่าถ้าคนงานเข้ามาแล้วเกิดปัญหา บริษัทที่เป็นผู้นำเข้าต้องมีส่วนรับผิดชอบ ลูกจ้างมีสิทธิเปลี่ยนงานถ้าเข้าเงื่อนไข MOU จะเป็นตัวการันตีว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะไม่สูงเกินไปที่แรงงานจะรับไหว และนายหน้าหรือตัวแทนบริษัทให้ข้อมูลแรงงานถึงการมาทำงานในประเทศไทยอย่างครอบคลุมรอบด้าน มาทำงานอะไร กฎหมายอะไรบ้างที่คุณต้องรู้ คุณมีปัญหาร้องเรียนได้ที่ไหน” นาตยากล่าว

ก่อนรัฐบาลอนุมัติให้ใช้มาตรา 83 เพื่อนำเข้าแรงงานประมง มีเสียงบ่นจากผู้ประกอบการมาเสมอว่ากระบวนการ MOU ใช้เวลายาวนาน ทำให้ขาดแคลนแรงงาน และลูกจ้างลาออกหางานใหม่ได้ง่ายหากไม่พอใจ เช่นเดียวกับการที่รัฐตัดสินใจไม่นำแรงงานข้ามชาติเข้าระบบประกันสังคมเพียงระบบเดียว เกิดขึ้นหลังผู้ประกอบการแสดงความกังวลว่าประกันสังคมจะให้อิสรภาพในการเปลี่ยนงานแก่ลูกเรือและลูกจ้างแรงงานข้ามชาติมากเกินไปเช่นกัน 

ประมงไทยกำลังไม่มูฟออนโดยใช้วิธีการเปลี่ยนแรงงานนอกกฎหมายไร้การคุ้มครอง ไร้สวัสดิการสังคม ไร้การคุ้มครองด้านสุขภาพที่เห็นได้ชัดเจนในอดีต ให้เป็นแรงงานถูกกฎหมายแต่ไม่เปิดให้ได้สิทธิบางอย่างเต็มที่ อีกทั้งผลักภาระในการไล่เบี้ยกับนายจ้างเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองแทนที่จะให้สิทธิแก่แรงงานอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ เพื่อคงต้นทุนที่ต่ำกว่าและการพันธนาการไว้หรือไม่ ?  นอกจากคำถามเหล่านี้แล้ง ยังมีคำถามที่นาตยากล่าวไว้หลังประเทศไทยหลุดพ้นจากการติดลิสต์เทียร์ 2 เมื่อเร็วๆ นี้ว่า

“ประเทศไทยเรามักกระหยิ่มยิ้มย่องกับการได้ยกระดับที่ดีขึ้น แต่เราไม่ค่อยพยายามรักษาระดับ รักษาคุณภาพ ทำไมคุณไม่รู้สึกว่าเราแก้กฎหมายมา 4 ปีแล้ว มันเป็น 4 ปีที่รู้สึกว่าหลายอย่างดีขึ้นมาก ทำไมเราไม่รักษาคุณภาพหรือมาตรฐานเหล่านี้ให้ดีขึ้น ?”

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม