ที่ผ่านมาไต้หวันเป็นเสมือนบ้านที่สุขสบายให้กับปะการังมากมายหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งพบได้อย่างในที่อื่นๆ แต่ในปัจจุบัน สภาพภูมิอากาศที่ร้อนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์กลับทำให้เหล่าปะการังต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ “การฟอกขาว” ในระดับรุนแรง ถึงขึ้นที่ระบบสังเกตการณ์แนวปะการังประจำองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) ได้ยกระดับการเตือนภัยปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในเขตน่านน้ำทางตอนใต้ของไต้หวันขึ้นเป็นระดับที่สองเป็นที่เรียบร้อย หมายความว่าอัตราการตายของปะการังกำลังพุ่งสูงขึ้น และจะเริ่มส่งผลกระทบกับระบบนิเวศใต้ท้องทะเลในอีกไม่ช้า

Coral Bleaching Investigation in South Taiwan. © Yves Chiu / Greenpeace
หนึ่งในขั้นตอนการตรวจสอบการฟอกขาวของปะการังในไต้หวัน © Yves Chiu / Greenpeace

แต่อะไรล่ะ คือต้นเหตุของปะการังฟอกขาวในไต้หวัน? ผลกระทบที่ตามมาจะมีอะไรบ้าง? ที่สำคัญคือ เราจะหยุดยั้งการฟอกขาวของปะการังได้อย่างไรบ้าง?

ปะการังคืออะไร?

หลายคนอาจคิดว่าปะการังเป็นเพียงแค่ “พืช” ทั่วๆ ไปชนิดหนึ่งที่เกิดและเติบโตใต้ท้องทะเล แต่ความจริงแล้วปะการัง นับเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งอยู่กันเป็นกลุ่มก้อน (Colony) ร่วมกับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเรียกว่า “โพลิป” (Polyps) อีกหนึ่งความเข้าใจเกี่ยวกับปะการังคือเรื่องสี เพราะที่จริงแล้วสีของปะการังเป็นสีใส แต่ที่เราเห็นสีสันฉูดฉาดหลากสีเกิดจาก สาหร่ายชนิดหนึ่งมีชื่อเรียกว่า “ซูแซนเทลลี” (Zooxanthellae) โดยซูแซนเทลลีจะช่วยผลิตอาหารจากการสังเคราะห์แสงให้กับปะการังและพึ่งพาอาศัยกัน

ทั้งนี้ ไต้หวันที่เป็นที่รู้จักกันในนาม “อาณาจักรแห่งปะการัง” ถึงแม้จะมีจำนวนปะการังตามเขตเขินติง เกาะกรีนไอแลนด์ และ เกาะออคิดรวมกันไม่มากนักเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ แต่ถ้าเทียบกันในเรื่องของความหลากหลายทางสายพันธุ์แล้ว ถือว่าทะเลไต้หวันมีความหลากหลายสูงมาก โดยหนึ่งในสามของปะการังในโลกที่มีถึงกว่า 700 ชนิดพันธุ์   มีจำนวน 250 สายพันธุ์ที่สามารถพบได้ที่ไต้หวัน

ปะการังสีแดงที่อยู่บนแนวปะการัง Wan Li Tong © Paul Hilton / Greenpeace

ปะการังสำคัญอย่างไรกับท้องทะเล?

ปะการังเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทะเล เพราะปะการังเป็นที่พักพิงให้กับสัตว์ทะเลน้อยใหญ่มากมาย เป็นทั้งบ้าน พื้นที่ขยายพันธุ์ แหล่งหาอาหาร และพื้นที่สำหรับการหลบซ่อนผู้ล่า เกิดเป็นระบบนิเวศอันสมบูรณ์ไปโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นบ้านให้กับกว่า 1,500 สายพันธุ์ได้อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง และนี้คือสาเหตุว่าทำไมแนวปะการังถึงได้เป็นที่รู้จักกันในนาม “ป่าฝนในเขตร้อนแห่งท้องทะเล”

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวคืออะไร?

ความจริงแล้วปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตที่อายุยืนยาวมากที่สุดชนิดหนึ่งเลยทีเดียว ขอเพียงแค่มีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ ยาวนานกว่าร้อยปี หรือมากกว่านั้นด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นสภาพแวดล้อมจึงมีผลอย่างมากต่อการอยู่รอดของปะการัง หากสภาพแวดล้อมแย่ โอกาสรอดของปะการังก็น้อยตามไปด้วย

ปะการังมีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำ ค่าความด่าง และความขุ่นของน้ำ ล้วนแล้วแต่ส่งผลกับความสัมพันธ์ของปะการังและสาหร่ายซูแซนเทลลี เพราะถ้าหากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัย สาหร่ายซูแซนเทลลีก็จะย้ายออกไปหาบ้านใหม่ หรือถูกตัวปะการังเองขับไล่ให้ออกไป และเมื่อไม่มีสาหร่ายซูแซนเทลลี ปะการังจะไร้ซึ่งสีสันและฟอกขาวไปในที่สุด

เมื่อสาหร่ายที่อยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาย้ายออกไป ปะการังจะยังไม่ตายไปในทันที หากสภาพแวดล้อมดีขึ้น สาหร่ายซูแซนเทลลีก็จะค่อยๆ หวนคืนกลับมาและปะการังจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ เช่นกัน แต่ถ้าหากถูกปล่อยฟอกขาวนานจนสายเกินแก้ ปะการังจะค่อยๆ อ่อนแอลงและตายไปในที่สุด เพราะฉะนั้นการฟอกขาวเป็นเสมือนสัญญาณเตือนที่ชั้นเจนว่าระยะสุดท้ายของปะการังกำลังใกล้เข้ามา

ต้นเหตุของปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษจากมนุษย์

อุณหภูมิโลกเปลี่ยน ไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของแนวปะการัง

ความเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันของอากาศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน รวมถึง “ปรากฏการณ์ทะเลเป็นกรดกรด”  ก็ผลักให้ประสิทธิภาพของการดูดซึมแคลเซียมคาร์บอเนตของปะการังลดลง และทำให้ปะการังไม่แข็งแรงมากพอที่จะต้านการกัดกร่อนตามธรรมชาติของน้ำทะเลได้ สุดท้ายปะการังก็จะต้องใช้เวลาฟื้นฟูจากการฟอกขาวนานขึ้น

ระบบเฝ้าสังเกตการณ์ประจำ NOAA ใช้ดาวเทียมในการเฝ้าตรวจจับอุณหภูมิของผิวน้ำทะเลและบันทึกบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงเพื่อส่งสัญญาณเตือนความเสี่ยงของปรากฏการณ์ปะการังฟอกสี และปีนี้ ไต้หวันเจอกับไต้ฝุ่นที่มาจากความกดอากาศสูงในมหาสมุทรแปซิฟิกจำนวนน้อยลง ซึ่งทำให้อุณหภูมิของทั้งบนดินและผืนน้ำสูงขึ้น โดยบริเวณผืนน้ำโดยรอบไต้หวันรวมทั้งหมู่เกาะปราตัสและเกาะไทปิงต้องเจอกับอุณหภูมิที่สูงถึง 30° องศาเซลเซียส

แต่ทว่าอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของปะการังกลับอยู่ที่ 20-28° องศาเซลเซียสเพียงเท่านั้น หากอุณหภูมิต่ำกว่า 18° องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า 30° องศาเซลเซียส ปะการังจะเริ่มขับไล่สาหร่ายที่อาศัยในเนื้อเยื่อปะการังออกไป ทำให้เกิดอาการฟอกขาวหรืออาจถึงขั้นตายเลยทีเดียว ถ้าหากจำนวนไต้ฝุ่นในไต้หวันยังคงมีจำนวนน้อยต่อไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ สถานการณ์ปะการังฟอกขาวจะเลวร้ายไปยิ่งกว่าที่เคยเป็นในขณะที่อุณหภูมิของทะเลก็จะยังคงสูงต่อไป และอย่าลืมว่าอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นในระยะสั้นๆ ไม่ได้ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว แต่การที่ปะการังจำนวนมากเริ่มฟอกขาวมาจากอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างผิดปกติอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

บริเวณทางตอนใต้ของไต้หวัน อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ภาพนี้เป็นหนึ่งในปะการังที่ฟอกขาวบริเวณจุดดำน้ำสามแห่งใน Kenting ที่ถูกถ่ายไว้เมื่อเดือนสิงหาคม © Yves Chiu / Greenpeace

“กิจกรรมของมนุษย์” ผู้ร้ายตัวฉกาจ

นอกจากนั้น กิจกรรมของมนุษย์ทั้งบนบกและทางน้ำล้วนเป็นภัยกับแนวปะการังทั้งสิ้น เช่นยาฆ่าแมลงจากอุตสาหกรรมการเกษตรที่ไหลลงสู่แม่น้ำ น้ำเสียจากทั้งโรงงานอุตสาหกรรมและบ้านเรือนที่ถูกปล่อยลงสู่ท้องทะเล หรือแม้กระทั่งครีมกันแดดที่มีสารเบนโซฟีนอล (Benzophenone) และสารอ็อกทิล เมท็อกซีซินนาเมท (Octyl methoxycinnamate) ที่ก่อกวนวงจรการขยายพันธุ์และการเจริญเติบโตของปะการัง

เมื่อระบบนิเวศทะเลคือเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย

การถูกทำลายและการตายของแนวปะการังนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่า ซึ่งระบบนิเวศทะเลคือผู้เคราะห์ร้ายที่ได้รับผลกระทบนั้นไปเต็มเปา ความจริงแล้วปะการังไม่ได้เติบโตได้ไวอย่างที่หลายคนเข้าใจ พวกเขาเติบโตได้เพียงประมาณหนึ่งเซนติเมตรต่อปีเพียงเท่านั้น เพราะฉะนั้นที่เราได้เห็นปะการังขนาดใหญ่สวยงามตามท้องทะเลคือผลลัพธ์ของการปล่อยให้ปะการังได้เจริญเติบโตมานานนับกว่าสิบๆ ปี หรือเป็นร้อยกว่าปีด้วยซ้ำไป และเมื่อถูกทำร้าย พวกเขาจำเป็นต้องใช้เวลาพอมากพอๆ กันในการกลับไปเจริญงอกงามเช่นเคย

ปะการังที่อุดมสมบูรณ์และมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีเป็นประโยชน์ต่อโลกใบนี้และต่อตัวพวกเราเอง © Paul Hilton / Greenpeace

นอกจากปะการังจะช่วยรักษาความหลากหลายของเหล่าสัตว์ทะเลใต้ผืนน้ำ ระบบนิเวศตามแนวปะการังที่สมบูรณ์ ยังเป็นประโยชน์กับทั้งระบบนิเวศทางทะเลและกับมนุษย์อย่างเราๆ เช่นกัน เพราะแนวปะการังไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของทะเลเท่านั้น แต่มีค่าทางเศรษฐกิจสูงอีกด้วย เพราะนับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นดี และผลิตเม็ดเงินนับล้านจากการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น ความเสื่อมถอยของระบบนิเวศจากปะการังฟอกขาวจะต้องส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาแนวปะการังอย่างการท่องเที่ยวและการประมงอย่างแน่นอน

แล้วเราจะแก้ปัญหาปะการังฟอกขาวได้อย่างไรบ้าง?

รักษาพลังงานและลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อชะลอภาวะโลกร้อนลง

ในเมื่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติเกิดจากปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เราจำเป็นต้องจัดการปัญหาที่ต้นตออย่างการลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ถ่านหินลง และหันมาเลือกใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด

ใคร ๆ ก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ปะการังได้

ปะการังที่ดูสวยงามเป็นอาหารตาชั้นดีของเราๆ และเป็นบ้านของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด แต่ถึงอย่างนั้นกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์และการพัฒนาชายฝั่งทะเลจนมากเกินพอดี หรือแม้กระทั่งอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นต่างส่งผลกับเหล่าปะการัง และเมื่อมนุษย์เริ่มได้รู้ซึ้งถึงความสำคัญของแนวปะการังแล้ว พวกเราทุกคนควรช่วยกันร่วมกันอนุรักษ์ปะการังโดยการเริ่มต้นที่ตัวเราเอง

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม