เมื่อปลาใหญ่ถูกจับ ปลาเล็กก็ถูกจับ แล้วเหลือปลาที่ไหนสืบพันธ์ุ?

ปัจจุบันสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับจำนวนมาก ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารในทะเล แต่รวมไปถึงชาวประมงที่ทำการประมงอย่างยั่งยืนและผู้บริโภคด้วย 

“เมื่อก่อนเราออกไปหาปลาบางทีได้มาเป็นพัน แต่มาช่วงหลังๆบางวันแทบจับไม่ได้เลย มันลดลงเยอะมาก ต่อไปอนาคตข้างหน้ารุ่นลูกรุ่นหลานก็อาจจะไม่ได้ทำ” พี่อัศนีย์ วาฮับ ชาวประมงจากจังหวัดระนองกล่าว

เมื่อวันอังคารที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยจึงเดินทางมายื่นหนังสือให้ห้างร้านและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วกรุงเทพฯ ขอความอนุเคราะห์ให้งดวางขายสัตว์น้ำวัยอ่อน 

และนี่คือเสียงของพี่ๆชาวประมงที่หวังให้สัตว์น้ำขนาดเล็กได้ขยายพันธ์ุเติบโต มีปลาทะเลสืบพันธุ์ เลี้ยงปากท้องของมวลมนุษย์ต่อไปเนิ่นนาน

เจริญ โต๊ะอิแต

“ปลาที่มันโตไม่ได้ขนาด ถ้าแค่ปล่อยมันโตได้ขนาดมูลค่ามันก็เพิ่มขึ้นมา คนในหมู่บ้าน ชาวประมงก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคกินก็อร่อยด้วย สัตว์น้ำขนาดเล็กคนที่ซื้อไปก็ไม่รู้ซื้อไปทำอะไร ซื้อไปให้เป็ดให้ไก่แค่นั้นเอง” เจริญ โต๊ะอิแต

พี่เจริญเป็นชาวประมงที่พยายามอนุรักษ์ให้ประมงและชุมชนอยู่คู่กันได้อย่างยั่งยืน โดยใช้

เครื่องมือเฉพาะในการจับสัตว์น้ำแต่ละชนิด นอกจากนั้นยังมีการทำบ้านปลา เพื่อให้สัตว์น้ำมีที่หลบภัยและขยายพันธุ์เติบโต 

อย่างไรก็ดี พี่เจริญเล่าว่าปัจจุบันทรัพยากรในทะเลถูกทำลายไปจำนวนมาก ด้วยเพราะเครื่องมือที่ใช้ เช่นอวนลาก ติดสัตว์น้ำขนาดเล็กโดยที่สัตว์เหล่านี้ยังไม่ทันได้สืบพันธุ์

พี่เจริญจึงเดินทางมายื่นหนังสือ พร้อมกับ “ความคาดหวังลึกๆ” ที่อยากให้ห้างร้านและผู้บริโภคปรับเปลี่ยนวิธีคิด หยุดบริโภคและจำหน่ายสัตว์น้ำขนาดเล็ก ซึ่งจะช่วยช่วยสร้างทะเลให้มีความยั่งยืนได้

ท้ายสุด พี่เจริญฝากให้เราคิดว่า “ถ้าปลามันได้ขนาด หนึ่งครัวเรือนได้กินหนึ่งตัวก็อิ่มแล้ว แต่ถ้าตัวเล็กอาจต้องทานเป็นร้อยตัว สูญเสียทรัพยากรไปเท่าไร” 

อัศนีย์ วาฮับ 

“อยากจะให้ลดการจับสัตว์น้ำตัวเล็กๆ ถ้าเป็นไปได้ไม่อยากให้จับเลย อยากให้เลี้ยงอนุรักษ์ไว้ อยากให้ทุกห้างให้ความร่วมมือกับชาวประมงทุกคน” 

พี่อัศนีย์ วาฮับเป็นชาวประมงในจังหวัดระนอง เธอสัมผัสได้ด้วยตนเองว่าปัจจุบันสัตว์น้ำลดลงอย่างมาก โดยเธอเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนสามารถจับปลาได้มากกว่านี้ แต่ปัจจุบันหาได้มั่งไม่ได้มั่ง และบางวัน “แทบไม่ได้เลย” 

เมื่อจับปลาได้น้อยลง แต่ยังคงต้องจ่ายค่าเครื่องมือ ด้วยความพยายามที่จะอนุรักษ์ ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านเริ่มเป็นหนี้เป็นสิน 

พี่อัศนีย์เล่าให้ฟังอีกว่าชาวประมงต้องกู้เงินมาซื้อเครื่องมือจับปลา พวกเขาพยายามอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำโดยใช้อวนขนาด 2.5 นิ้วขึ้นไป เพื่อไม่ให้ติดสัตว์น้ำขนาดเล็ก สัตว์น้ำเหล่านี้จะได้สืบพันธุ์ต่อไป 

เพราะความหวังที่อยากให้ทะเลกลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม พี่อัศนีจึงฝากถึงผู้บริโภคให้หยุดซื้อและบริโภคสัตว์น้ำวัยอ่อน

“ถ้าเห็นเป็นสัตว์น้ำตัวเล็กแล้วเราไม่ซื้อคนก็ขายไม่ออก คนจับก็หยุดจับ เพราะจับไปก็ขายไม่ได้”

ปิยะ เทศแย้ม

“การจับสัตว์น้ำวัยอ่อนทำให้ประมงพื้นบ้านที่เป็นประมงขนาดเล็กได้ผลกระทบโดยตรง รวมถึงผู้บริโภคที่ต้องซื้ออาหารทะเลในราคาที่แพงขึ้น การรณรงค์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น สำหรับความมั่นคงทางอาหารในอนาคต” ปิยะ เทศแย้ม

3 เหตุผลหลักที่ทำให้ทะเลปัจจุบันเสื่อมโทรมอย่างหนักในมุมพี่ปิยะคือ กฎหมายที่ล้าหลัง การประมงทำลายล้าง และการกำหนดขนาดพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ ซึ่งข้อสุดท้ายนี้ พี่ปิยะมองว่ากระทบต่ออุตสาหกรรมทั้งระบบ

และนี่คือเหตุผลที่พี่ปิยะมายื่นหนังสือ เพื่อเป็นการรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศว่า “วันนี้ต้องหยุดซื้อหยุดขายสัตว์น้ำวัยอ่อน” 

“ปัจจุบันมีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนมากขึ้น ทำให้ประมงพื้นบ้านที่เป็นประมงขนาดเล็ก ที่จับปลาตัวใหญ่ได้ผลกระทบโดยตรง รวมถึงผู้บริโภคที่ต้องซื้ออาหารทะเลในราคาที่แพงขึ้น การรณรงค์ในเรื่องของการห้ามซื้อห้ามขายสัตว์น้ำวัยอ่อนทั่วกรุงเทพ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับความมั่นคงทางอาหารในอนาคต”

เมื่อถามอนาคตของอุตสาหกรรมประมงไทย พี่ปิยะชี้ว่าเขาอยากเห็นการเข้าถึงทรัพยากรโดยเท่าเทียม

“ผมคิดว่าอนาคตทรัพยากรสัตว์น้ำทุกภาคส่วนควรเข้าถึงทรัพยากรโดยเท่าเทียม สามส่วนหลักๆเลยคือ เรื่องของรัฐ สองเรื่องคนคนจับ สามผู้บริโภค สามส่วนนี้ต้องสัมพันธ์กัน รัฐต้องดูเรื่องข้อกฎหมาย ทำยังไงให้ทุกคนอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่มีมาตรฐานเดียวกันทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ชาวประมงต้องตระหนักเสมอว่าวิธีการทำประมงต้องทำอย่างยั่งยืน สามผู้บริโภค ต้องเป็นส่วนสำคัญในการที่จะรับผิดชอบ ไม่สนับสนุนการทำประมงที่จับสัตว์น้ำวัยอ่อน ทำประมงแบบทำลายล้าง ไม่สนับสนุนการทำประมงที่กดขี่แรงงานเถื่อน แรงงานทาส มันต้องสัมพันธ์กัน เราทำแบบเดิมไม่ได้ แล้วความอุดมสมบูรณ์จะกลับคืนมา ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม”

ปัจจุบัน มีสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับขึ้นมาเพื่อบริโภคจำนวนมาก โดยเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น ปลาสายไหม  ปลาข้าวสาร ปลาจิ้งจั้ง และปลาฉิ้งฉ้าง เป็นต้น โดยในความจริงนั้นปลาต่างชื่อนี้คือปลาชนิดเดียวกัน คือเป็นลูกปลากะตัก ที่ยังโตไม่เต็มไปที รวมถึงอาจมีสินค้าจากลูกปลาทูวางขายด้วย 

ปลากะตักโตเต็มวัยเป็นวัตถุดิบผลิตน้ำปลาชั้นดี เป็นอาหารของคน และสัตวน้ำอื่นๆ ในท้องทะเล เช่น วาฬและโลมา เช่นเดียวกับปลาทูไทยตัวโตเนื้อแน่นที่เราคุ้นเคยกัน  หากเราปล่อยให้ยังมีการจับ “ตัวอ่อน” ปลากะตัก ลูกปลาทูมากินก่อนเวลา จะเท่ากับเราตัดโอกาสที่จะได้กินอาหารทะเลดีๆ ในอนาคตและโอกาสที่จะได้เห็นวาฬหรือโลมาในทะเลไทยน้อยลงเรื่อยๆ มาร่วมกัน #บอกห้างหยุดขายสัตว์น้ำวัยอ่อน

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม