© Alex Hofford / Greenpeace

ตั้งแต่ Jaws (1975), Deep Blue Sea (1999) ไปจนถึง The Shallows (2016) ภาพยนตร์จากอดีตจนถึงปัจจุบันหลายต่อหลายเรื่องมักวาดฉลามให้เป็นอสูรกายที่พร้อมขย้ำเหยื่อทุกครั้งที่ได้กลิ่นคาวเลือด 

แจ็ค บุลเลต (Jack Bullet) เป็นหนึ่งคนที่ติดภาพ “ฉลามนักฆ่า” จนกระทั่งอายุยี่สิบกว่าเพราะรายการทีวีที่เขาดูตั้งแต่เด็ก แม้กระทั่งตอนดำน้ำครั้งแรกก็ยังคิดว่าฉลามคือนักฆ่าเลือดเย็น

“ครั้งแรกที่เห็นฉลามตัวเป็นๆ ผมคิดว่ามันจะมุ่งเข้ามาทำร้ายผมทันที แต่ฉลามไม่ได้สนใจผมเลยด้วยซ้ำ มันก็ว่ายน้ำ ใช้ชีวิตของมันไป” 

แต่เมื่อเขาดำน้ำบ่อยขึ้น จากความกลัวกลับเปลี่ยนเป็นความอัศจรรย์ใจ แจ็คเริ่มตกหลุมรักฉลาม และหาโอกาสไปว่ายน้ำกับพวกมันบ่อยๆ เขาเล่าว่าฉลามที่ใหญ่และน่าหวั่นเกรงมากที่สุดที่เขาเคยดำน้ำด้วยคือฉลามหางยาวที่ยาวถึง 4 เมตร  

“ตอนว่ายน้ำคู่กับมันผมเหมือนอยู่บนสวรรค์ ถ้าเป็นผมตอนอายุ 12 ขวบคงเป็นลมไปละ” 

“มันเหมือนเวลาหยุดนิ่งไปเลยเมื่ออยู่กับสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์พวกนี้ ผมอยู่ในบ้าน ในถิ่นอาศัยของ ‘นักล่า’ แต่พวกมันกลับไม่แสดงอาการเกรี้ยวกราดเลยแม้แต่น้อย”

© Paul Hilton / Greenpeace

เมื่ออยู่กับฉลามมากขึ้น เริ่มเข้าใจธรรมชาติของพวกมันมากขึ้น ทำให้แจ็ครู้สึกว่าภาพจำของฉลามที่ถูกเผยแพร่ออกไปเป็นอะไรที่ “ไม่แฟร์” เอาเสียเลย 

ในขณะที่คนหลายพันดำน้ำเล่นกับฉลามทุกวันโดยไม่ได้รับอันตราย แต่คนจำนวนมากยังคงมีภาพจำของฉลามแบบผิดๆ เพราะการนำเสนอภาพจำแบบผิดๆ 

ภาพจำที่สวนทางกับความจริง

“เวลาไปดำน้ำที่ไหนแล้วเห็นฉลาม ตรงนั้นจะเป็นที่ๆปะการังมีความสมบูรณ์และเต็มไปด้วยสัตว์น้ำ น่าเสียดายที่ปัจจุบันมันยากแล้วที่จะเห็นฉลามตอนดำน้ำ” แจ็คกล่าว 

ดั่งที่แจ็คเล่า ฉลามเป็นภาพจำของความอุดมสมบูรณ์ พวกมันอยู่คู่กับโลกมากว่าห้าร้อยล้านปี เป็นนักล่าที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสมดุลของมหาสมุทร คัดสรรสิ่งที่ชีวิตที่อ่อนแอและป่วยออกไป รักษาสมดุลกับนักล่าอื่นๆ ถ้าไม่มีฉลาม ระบบนิเวศใต้ทะเลจะไร้เสถียรภาพและล่มสลายในที่สุด

ฉลามสีเทา © Paul Hilton / Greenpeace

แต่คนจำนวนมากก็ยังกลัวฉลาม ติดภาพพวกมันในคราบนักฆ่า ทั้งที่จริงแล้วความเป็นไปได้ที่ฉลามจะโจมตีมนุษย์น้อยกว่าโอกาสที่คนจะเดินตกท่อในกรุงเทพฯอีก  กลับกัน ทุกๆหนึ่งชั่วโมงจะมีฉลาม 11,415 ตัวตายด้วยน้ำมือมนุษย์ รวมกันมากกว่าร้อยล้านตัวต่อปี 

พวกมันถูกจับไปทำหูฉลาม นำไปเป็นส่วนผสมของอาหารเสริม อาหารสัตว์ และเครื่องสำอาง

และนับวันจำนวนของมันก็ยิ่งน้อยลงทุกที

ร่วมกันปกป้องฉลาม

ฉลามจำนวนมากถูกฆ่าในอุตสาหกรรมประมง เช่น ในประมงทูน่า ฉลามมักติดอวนขณะเรือประมงลากทูน่าขึ้นจากท้องทะเล 

ในปี 2019 กรีนพีซรายงานว่าเรือประมงในแอตแลนติกเหนือคร่าชีวิตปลาฉลามมาโก (mako shark) กว่า 25,000 ตัวทุกปี เรือประมงเหล่านี้ตั้งใจจะจับปลากระโทงดาบ (swordfish) แต่ฉลามกลับถูกฆ่ามากกว่าปลาที่พวกเขาตั้งใจจะจับถึงสี่เท่า 

ภาพฉลามถูกจับและถูกดึงขึ้นไปบนเรือบริเวณทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก © Tommy Trenchard / Greenpeace

ถ้าจะปกป้องฉลามก็ต้องเริ่มจากการปกป้องมหาสมุทรจากอุตสาหกรรมประมงทำลายล้าง ปัจจุบันเพียง 5% ของท้องทะเลได้รับการปกป้องจากทั้งอุตสาหกรรมประมงทำลายล้างและการเจาะน้ำมัน  

สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือร่วมผลักดันให้เกิด “เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล” โดยมีเป้าหมายคือการปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนให้ได้ภายในปี พ.ศ.2573 เขตคุ้มครองระบบนิเวศนี้จะเกิดขึ้นได้ผ่าน สนธิสัญญาทะเลหลวง ร่วมกันเป็นกระบอกเสียงในการเรียกร้องเพื่อมหาสมุทรและสัตว์ทะเลได้กลับมาอาศัยอยู่ในบ้านที่อุดมสมบูรณ์ ร่วมผลักดันสนธิสัญญาทะเลหลวงกับกรีนพีซ

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ผลักดันเขตคุ้มครองทางทะเล

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม