สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID – 19 กำลังเปลี่ยนสังคมของเราไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยและโรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอนหรือปรับเปลี่ยนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์แทน ในช่วงเวลานี้ที่นักเรียนและนักศึกษาอาจจะมีเวลาว่างมากขึ้น หรือครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องดูแลลูก ๆ อยู่ที่บ้านมากขึ้น และกำลังมองหาหนังสือเสริมการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน เพื่อเป็นสื่อพูดคุยกับลูก ๆ 

เราจึงอยากชวนทุกๆคนมารู้จักกับหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของการปกป้องสิ่งแวดล้อมในหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นคู่มือพกพาที่จะช่วยให้เราลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งทุก ๆ ห้องในบ้าน หนังสือที่จะช่วยให้เราเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศง่าย ๆ และสามารถพัฒนาตัวเองไปเป็นนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสร้างสรรค์ หรือจะเป็นนวนิยายสร้างแรงบันดาลใจให้เราเห็นถึงความอัศจรรย์ของธรรมชาติมากขึ้น และหนังสือนิทานสำหรับน้อง ๆ หนู ๆ ที่อยากต่อสู้กับยักษ์ใหญ่เหมือนกับเกรียตาร์ ทุนแบรย์

1.How to Give up Plastic : A Guide to changing the world, one plastic bottle at a time –  Will McCallum

คู่มือฉบับพกพาสำหรับทุก ๆ คนที่อยากเริ่มต้นลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยผู้เขียน วิล แมคคัลลัม ที่เชื่อว่าไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ วิธีง่าย ๆ ที่จะทำให้คุณลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวได้นั่นคือการเริ่มลดใช้จากบ้านที่คุณอาศัยอยู่และมันจะค่อย ๆ ขยายไปสู่ที่ทำงานและในชุมชนของคุณ อีกทั้งยังแนะนำวัสดุอุปกรณ์ที่ “กรีน” กว่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้นคู่มือนี้ยังให้กำลังใจคุณด้วยเรื่องราวความสำเร็จของการลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวอีกด้วยรวมทั้งเกล็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะช่วยให้คุณลดใช้พลาสติกอย่างสนุกสนาน ไม่เหนื่อย ไม่เบื่อไปเสียก่อน

แน่นอนว่าหนังสือไม่ได้มีแค่การแนะนำว่าคุณควรลดใช้ single-use plastic อย่างไร แต่ยังพูดถึงผลกระทบของพลาสติกต่อทะเลและมหาสมุทร ต่อสัตว์ต่าง ๆ อย่างละเอียดยิบอีกด้วย การันตีข้อมูลแน่น ๆ ด้วยประสบการณ์การร่วมรณรงค์เรื่องมลพิษพลาสติกในทะเลและมหาสมุทร รวมถึงการณรงค์และผลักดันให้ภาครัฐ เอกชนเห็นถึงปัญหามลพิษพลาสติกและเรียกร้องให้พวกเขา (ในฐานะที่เป็นผู้ก่อมลพิษรายใหญ่) แก้ไขปัญหานี้โดยเร็วที่สุด

2.โลกสุดขอบฟ้า – หลุยส์ เซปุล์เบดา เขียน สถาพร ทิพย์ศักดิ์ แปล

ใต้โลกมหาสมุทรสีน้ำเงินนี้มีความลับมากมายที่เรายังไม่เคยรู้ แต่ที่เราทราบดีนั่นคือการไล่ล่าสังหารวาฬทางนั้นล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ วรรณกรรมเล่มนี้จะพาเราไปพบกับนักข่าวผู้เบื่อหน่ายกับการรายงานข่าวแบบเดิม ๆ เขาเริ่มหันมาสนใจข่าวด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจนได้ยินข่าวประหลาดเกี่ยวกับการตายของลูกเรือในเรืออุตสาหกรรม นิชิน มารุ ทั้ง 18 คน ที่ช่องแคบแม็กเจลแลน ด้วยความสงสัยนี้นี่เองที่นำพานักข่าวหนุ่มคนนี้ไปพบกับนักข่าวสาวนาม ซาริต้า ที่ติดตามการล่าวาฬของเรือนิชิน มารุ ซึ่งเธอถูกคุกคามจากการนำเสนอข่าวนี้ นั่นยิ่งทำให้เขาอยากไขปริศนาว่าเกิดอะไรขึ้นที่ช่องแคบแม็กเจลแลนกันแน่

หลุยส์ เซปุล์เบดา นักเขียนที่ออกเดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่อายุยังน้อย จากประวัตินักเขียนในเล่ม เขาเป็นทั้งนักเขียน นักเล่านิทาน นักสร้างภาพยนตร์ นักบันทึกการเดินทาง เขาเขียนหนังสือหลากหลายรูปแบบตั้งแต่วรรณกรรมสำหรับเยาวชน นวนิยายแนวระทึกใจ แนวสืบสวนสอบสวน ไปจนถึงนวนิยายที่สื่อสารการประณามการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านภาษาเรียบง่าย ชัดเจน แต่ยังคงความไพเราะเอาไว้ครบถ้วน

สำหรับวรรณกรรมเรื่อง โลกสุดขอบฟ้า เล่มนี้เหมาะสำหรับผู้อ่านที่มีประสบการณ์ในการอ่านวรรณกรรมมาแล้ว สำหรับใครที่เริ่มอ่านวรรณกรรม เราอยากให้ใช้เวลากับเล่มนี้เยอะ ๆ ค่ะ เพราะผู้เขียนเติมแต่งรายละเอียดระหว่างตัวหนังสือไว้และมีการวิพากษ์เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมไว้พอสมควรเลยค่ะ 

3.We Are All Greta : Be inspired to save the world – Valentina Giannella เขียน Manuela Marazzi ภาพประกอบ

สายนักกิจกรรมตัวจริงห้ามพลาดหนังสือเล่มนี้เด็ดขาด เพราะนี่คือหนังสือที่จะทำให้คุณกลายเป็นนักรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศเต็มตัว หนังสือเริ่มจากการปูพื้นฐานให้พวกเราเข้าใจที่มาที่ไปของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาเหตุของภาวะโลกร้อนคืออะไร ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change นั้นมีอะไรบ้าง จากนั้นก็นำไปสู่การแก้ไขปัญหา การชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้ เราจะต้องทำอย่างไร? และส่งท้ายด้วยคำแนะนำเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศนี้ในชีวิตประจำวัน ที่พวกเราเองก็ทำได้ อ่านจบแล้วเราจะเข้าใจเลยว่าทำไมคนรุ่นใหม่อย่างเกรียตาจึงลุกขึ้นมารณรงค์ในประเด็นนี้ร่วมกับเยาวชนทั่วโลก

หนังสือเล่มนี้แม้ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ฝึกภาษาอังกฤษไปพร้อม ๆ กับเรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรียกได้ว่าสามารถเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนและนักศึกษาได้ดีเลยทีเดียว

4.เกรตากับยักษ์ใหญ่ – Zoe Tucker เขียน แพทย์หญิง เสาวภา พรจินดารักษ์ แปล

เกรตากับยักษ์ใหญ่ – นานมีบุ๊คส์

เจ้าหมาป่าขนนุ่มสีน้ำตาลเหลือบเงินตัวหนึ่งก้าวมาข้างหน้า

หางของมันตกลู่ “ช่วยพวกเราด้วย” มันกระซิบ

ป่าไม้ถูกทำลาย เราไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน พวกยักษ์ทำลายบ้านของเรา

นี่คือส่วนหนึ่งของคำโปรยบนปกหลังของหนังสือสำหรับเด็ก “เกรตากับยักษ์ใหญ่” ซึ่งผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจจากการรณรงค์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของเยาวชนอย่าง เกรียตา ทุนแบรย์ ออกมาเป็นนิทานสำหรับเด็ก เนื้อหาคร่าวๆก็คือ เกรตาและผองเพื่อนอาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่งอย่างสุขสงบ แต่แล้วกลับมียักษ์เข้ามาบุกรุกป่า ตัดต้นไม้ในป่าไปเพื่อเอาไปสร้างบ้านให้ตัวเอง เกรตาและเพื่อนๆของเธอจะทำอย่างไรเพื่อหยุดไม่ให้พวกยักษ์ทำลายบ้านของเธอ?

ด้วยสีสันสดในและการเปรียบเปรยเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ทำให้หนังสือนิทานเล่มนี้เหมาะกับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่ที่อยากหาหนังสือดี ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมให้กับลูก หรือแม้กระทั่งจะเป็นหนังสือบนชั้นในห้องเรียนของเด็ก ๆ

เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว หากคุณมีหนังสือเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมดี ๆ ที่อยากแชร์ให้เราและผู้อ่านบทความนี้ได้ฟัง อย่าลืมร่วมแชร์หนังสือกับเราในคอมเมนท์กันนะคะ เพราะเราเชื่อว่าหนังสือนั้นเป็นสื่อที่สร้างสรรค์พลังดี ๆ ให้กับคนทั่วโลก และหวังว่าหนังสือเหล่านี้จะสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมให้กับเราทุกคน

ขออุทิศบทความนี้แก่ หลุยส์ เซปุล์เบดา ผู้เขียนหนังสือ โลกสุดขอบฟ้า นักเล่าเรื่องและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม