ปัจจุบันวัตถุดิบ อาหารหลายอย่างที่เราบริโภคนั้น เราไม่สามารถทราบถึงต้นทางในการผลิตได้แน่ชัด แน่นอนว่าพืชผัก เนื้อสัตว์ที่ถูกผลิตในเชิงอุตสาหกรรมนั้นอาจปนเปื้อนสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า หรือมีการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น ทั้งนี้ สารเคมีดังกล่าวยังมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งและความเสี่ยงทางด้านสุขภาพอีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากหันมาเลือกวัตถุดิบอาหารที่มาจากการเกษตรเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นอาหารที่เรารู้ที่มาและปลอดภัยกว่า

Vegetarian Thai Food in Bangkok. © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

มื้ออาหารมังสวิรัติ ประกอบไปด้วยพืชผักหลากหลาย มีประโยชน์ต่อร่างกาย

อย่างไรก็ดี การบริโภคอาหารอินทรีย์ที่รู้ที่มานั้นอาจไม่ง่ายเหมือนเวลาที่เราเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วหยิบพืชผักสวย ๆ จากชั้นวาง จ่ายเงิน แล้วขับรถกลับบ้าน การบริโภคอาหารอินทรีย์ทำให้เราต้องถี่ถ้วนกับเรื่องอาหารมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหัดออกไปเดินตลาดนัดเพื่อเลือกซื้อวัตถุดิบที่ส่งตรงจากเกษตรกรมากขึ้น หรือหาเครือข่าย กลุ่มคนที่รักในการกินอาหารอินทรีย์เหมือนกัน แต่หากใครยังไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร เราจึงอยากชวนให้เริ่มที่การเลือกชนิดวัตถุดิบอินทรีย์ที่ปลอดภัยก่อนกับ 5 ประเภทอาหารที่เราควรบริโภคแบบอินทรีย์

เต้าหู้

Tofu and Soy Sprouts. © Greenpeace / Fred Dott

ทำไมต้องเต้าหู้? ก็เพราะถั่วเหลืองที่นำมาทำเต้าหู้นั้นหากเราไม่ทราบถึงที่มาอาจเป็นถั่วเหลืองจากการตัดต่อพันธุกรรมหรือ GMO ซึ่งการปลูกถั่วเหลือง GMO นั้นจะมีการใช้สารเคมี เช่น ไกลโฟเซท ในการปลูกเป็นจำนวนมาก การเลือกกินเต้าหู้อินทรีย์จึงเป็นทางเลือกที่ทำให้เราหลีกเลี่ยงสารเคมีตกค้างในอาหารได้

ผลไม้สด

Vegetables and Fruit in Germany. © Axel Kirchhof / Greenpeace

ผลไม้สดคืออีกหนึ่งประเภทอาหารที่มีสารเคมีตกค้างสูง จากผลสุ่มตรวจสารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ประจำปี 2561 พบว่ามีสารพิษตกค้างในผักผลไม้สูงจนน่าเป็นห่วง (ส้ม เป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีการตกค้างของสารเคมีสูง) ผลไม้สดจึงเป็นวัตถุดิบที่เราควรเลือกกินแบบอินทรีย์

พริกและผักคะน้า

Beijing Farmers Market in China. © Peter Caton / Greenpeace

ผัดผักคะน้าอาจเป็นเมนูโปรดของใครหลายคน ส่วนพริกก็เป็นเครื่องปรุงในเมนูหลักๆที่คนไทยนิยมกิน ผักทั้งสองชนิดเป็นวัตถุดิบในมื้ออาหารหลายมื้อและเป็นที่นิยม จึงไม่แปลกที่จะมีการปลูกผักทั้งสองชนิดในปริมาณมากและเพื่อผลผลิตมหาศาล ผักทั้งสองชนิดจึงปนเปื้อน สารเคมี ยาฆ่าแมลง ในปริมาณมากเช่นกัน โดยพริกและผักคะน้า เป็น 1 ใน 3 ชนิดผักที่มีสารเคมีตกค้างสูง จากการตรวจของกระทรวงสาธรณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อปี 2561

สำหรับพริกนั้นเป็นชนิดผักสดที่พบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในปี 2561 แม้ว่าทางกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ย้ำว่า แม้ว่าผักเหล่านี้จะมีการพบสารเคมีตกค้างเกินเกณฑ์มาตรฐานแต่ยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัยถ้าผู้บริโภคไม่บริโภคมากเกินไป แต่การเลือกซื้อผักทั้งสองชนิดที่มาจากการปลูกแบบอินทรีย์ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า

เนื้อไก่

Chicken Wings in Packaging in France. © Elsa Palito / Greenpeace

ปัญหาของไก่ที่เลี้ยงเพื่อเป็นอาหารในเชิงอุตสาหกรรมนั้นคือ ไก่ปริมาณมากถูกขังอยู่ในที่แคบๆ ไม่มีพื้นที่ในการขยับตัว และไม่ได้รับแม้กระทั่งแสงอาทิตย์ในบางกรณี สิ่งที่ตามมาคือพวกมันไม่แข็งแรง ทำให้อุตสาหกรรมต้องใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมากเพื่อให้ไก่เจริญเติบโตได้โดยไม่เจ็บป่วย ไม่แน่ว่าเราอาจได้รับยาปฏิชีวนะ และเชื้อดื้อยา โดยไม่รู้ตัวจากการรับประทานเนื้อสัตว์ เนื้อไก่จึงเป็นอาหารอีกหนึ่งประเภทที่ควรเลือกกินเนื้อไก่ที่ถูกเลี้ยงในแบบการเกษตรเชิงนิเวศ ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเร่งฮอร์โมน

ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์นั้น(ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไก่ หมู หรือวัวก็ตาม) นอกจากประเด็นของยาปฏิชีวนะแล้ว การผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเพียงอย่างเดียวได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกพอ ๆ กันกับภาคการคมนาคมขนส่งเลยทีเดียว

ดังนั้น การลด หรือหลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ในเชิงอุตสาหกรรมนอกจากจะช่วยไม่ให้เราตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการได้รับยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาแล้ว ยังช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

ข้าวโอ๊ต

Oat and Nut Breakfast. © Lisa-Maria Otte / Greenpeace

อาหารประเภทนี้อาจไม่ได้เป็นที่นิยมมากนักในประเทศไทย แต่ข้าวโอ๊ตก็เป็นอาหารทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพหลายๆคน และที่สำคัญยังเป็นอาหารของเด็กๆที่ได้รับความนิยมจากเหล่าคุณแม่อีกด้วย การเลือกซื้อข้าวโอ๊ตอินทรีย์จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับไกลโฟเซต เพราะจากรายงานของนักวิจัยสถาบันองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาพบว่ามีไกลโฟเซตตกค้างอยู่ในผลิตภัณฑ์ข้าวโอ๊ตสำเร็จรูปสำหรับเด็ก ซึ่งองค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC)ระบุไว้ว่า ไกลโฟเซต เป็นสารเคมีที่ก่อมะเร็งในมนุษย์

อันที่จริงแล้ว หากทำได้ การเลือกกินอาหารอินทรีย์นั้นคือทางเลือกที่ดีที่สุดต่อสุขภาพของเราและโลก อาหาร 5 ชนิดนี้คือจุดเริ่มต้นที่คุณเริ่มได้เพื่อเลี่ยงภัยจากสารเคมี แม้ว่าตอนนี้อาหารการกินที่มาจากการเกษตรเชิงนิเวศนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายตามชั้นวางอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านอาหารก็ตาม แต่ในการเลือกซื้ออาหาร วัตถุดิบนั้นเปรียบเสมือนเรากำลัง “เลือก” ให้ผู้ผลิต ผลิตอะไรออกมาให้เรากิน หากเราต้องการอาหารที่มาจากการเกษตรเชิงนิเวศและ “เลือก” มากขึ้น ผู้ผลิตก็จะต้องผลิตอาหารที่มาจากการเกษตรเชิงนิเวศให้มากขึ้นตามกลไกตลาด ดังนั้น การเลือกซื้ออาหารอินทรีย์ของเราก็เหมือนการเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงจากการผลิตอาหารเชิงอุตสาหกรรมไปสู่การผลิตอาหารในระบบการเกษตรเชิงนิเวศ

 

ถึงเวลาปฏิวัติระบบอาหาร

ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์

มีส่วนร่วม