ไม่แน่ว่า เราอาจได้รับยาปฏิชีวนะ และเชื้อดื้อยา โดยไม่รู้ตัวจากการรับประทานเนื้อสัตว์
โรคติดเชื้อดื้อยา (Antimicrobial Resistance-AMR) นั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ถือว่าเป็นหนึ่งในวิกฤตสุขภาพที่กำลังคุกคามผู้คนในปัจจุบัน โดยที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุไว้ว่า จากแนวโน้มความต้องการเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน (ที่มา: FAO) และโดยมากแล้ว หากปราศจากกฎข้อบังคับและการตรวจสอบอย่างรัดกุมจากภาครัฐ ก็อาจนำไปสู่การใช้งานอย่างผิด ๆ เช่น เพื่อคาดหวังให้สัตว์เติบโตได้ดี และป้องกันโรคในสัตว์ที่สุขภาพดี การใช้เหล่านี้เป็นการใช้ยาปฏิชีวนะเกินขนาด และส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยา รวมถึงยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ และสิ่งแวดล้อม
ติดเชื้อดื้อยา เลวร้ายขนาดไหน?
ยาปฏิชีวนะ คือ ยาที่ช่วยชีวิตคนมาแล้วนับไม่ถ้วนจากโรคร้ายที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ปัจจุบันนี้ ยาปฏิชีวนะลดประสิทธิภาพอย่างรวดเร็ว และเริ่มจะใช้ไม่ได้ผลในการรักษาการติดเชื้อนั้น ๆ มีผลข้างเคียงของโรคมากขึ้น และมีโอกาสเสียชีวิตจากการติดเชื้อมากขึ้น เนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้อง หรือได้รับยาปฏิชีวนะเกินขนาดและเกินความจำเป็น เราเรียกปัญหานี้ว่า เชื้อดื้อยา กล่าวคือ เชื้อดื้อยาเป็นเชื้อโรคที่สามารถยับยั้งการทำงานของยาปฏิชีวนะได้ ทำให้การรักษาผู้ป่วยไม่ได้ผลดีดังเดิม
เมื่อแบคทีเรียหันมาสร้างภูมิปกป้องตน แบคทีเรียเหล่านั้นกลายเป็นเชื้อดื้อยา และสามารถกระจายภูมินี้ไปยังแบคทีเรียที่อยู่ใกล้เคียงได้ และที่ซ้ำร้ายคือ ยิ่งการเพิ่มประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะประกอบการใช้เกินขนาดและเกินจำเป็น ก็จะไม่มียาปฏิชีวนะขนานใดรักษาได้ เชื้อแบคทีเรียร้ายนั้นเราเรียกว่า ซูเปอร์บัค (Superbug)
ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อดื้อยากว่า 700,000 คนต่อปี โดยที่ประเทศไทยคาดว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาปีละประมาณ 87,751 คน และตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 42,509 ราย ซึ่งอัตรานี้ถือว่าสูงกว่าประเทศสหรัฐอเมริกา (23,000 รายต่อปี จากประชากรทั้งหมด 316 ล้านคน) และยุโรป (25,000 รายต่อปี จากประชากรทั้งหมด 500 ล้านคน) หากปราศจากการดำเนินการใด ๆ จากภาครัฐ ตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 10 ล้านคนทั่วโลกต่อปี ในปี 2563 ซึ่งการมีมาตรการที่รัดกุมในการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์คือจุดเริ่มต้นที่ภาครัฐสามารถลงมือทำได้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยา และการตกค้างของยาปฏิชีวนะ
แล้ววิกฤตโรคติดเชื้อดื้อยา เกี่ยวโยงอย่างไรกับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์?
ความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นั้นเป็นผลมาจากความต้องการเนื้อสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น และในราคาที่ถูก
ยาปฏิชีวนะมีบทบาทสำคัญมากในอุตสาหกรรมปศุสัตว์และประมง เพื่อให้คงให้สัตว์มีเนื้อสัตว์ในปริมาณที่มากพอกับความต้องการก่อนกำหนดวันฆ่า และป้องกันไม่ให้สัตว์จำนวนมากที่อยู่รวมกันในพื้นที่แออัด ไม่ปลอดโปร่ง ไม่ป่วยทั้งคอก ซึ่งจะเป็นการสูญเสียรายได้มหาศาล บ้างอาจยังคงมีการใช้เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตของสัตว์
การให้ยาปฏิชีวนะนั้นจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อการรักษายามป่วย แต่เป็นการใช้แม้สัตว์จะมีสุขภาพดี ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะเช่นนี้คือการใช้เกินความเหมาะสม และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา และการตกค้างของยาปฏิชีวนะดังที่กล่าวไปข้างต้น
- เชื้อดื้อยาสามารถกระจายไปยังฝูงสัตว์ หรือคอกอื่นได้ เช่น จากการสัมผัสสิ่งที่อาจมีเชื้อดื้อยาอยู่ เช่น มูลสัตว์ที่ติดเชื้อ
- หลังจากนันเชื้อดื้อยาและยาปฏิชีวนะสามารถตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ ไม่จะเป็นจากมูลสัตว์สู่ดิน และถูกทำเป็นปุ๋ยให้กับพืชผล การปล่อยของเสียจากปศุสัตว์ลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ดังรายงานที่ตรวจพบการปนเปื้อนในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสิ่งเหล่านั้นอาจหมุนเวียนมาสู่มนุษย์ในห่วงโซ่การอุปโภคบริโภค
- เชื้อดื้อยาและยาปฏิชีวนะในสัตว์อาจปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ที่เราบริโภคได้ ดังตัวอย่างจากการสำรวจยาปฏิชีวนะตกค้างของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นประจำทุกปี และกรณีการรับเชื้อดื้อยาจากเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ปรุงสุก
การตรวจวัดการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคส่วนอุตสาหกรรมปศุสัตว์นั้นยากที่จะทำได้ เนื่องจากขาดกฎหมายข้อบังคับ และขาดการเก็บข้อมูล องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดเดาไว้ว่ามีการใช้ทั่วโลกราว 60,000 ตันต่อไป และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามอัตราความต้องการเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้น
การแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อดื้อยา คือ การใช้ยาปฏิชีวนะให้น้อยที่สุด และเหมาะสมตามความจำเป็นมากที่สุด และทางออกที่สำคัญคือ การปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรม กล่าวคือ ลดจำนวนสัตว์ รักษาความสะอาดในระบบ มีการดูแลสัตว์อย่างเหมาะสม และใช้วิถีอินทรีย์ ซึ่งเราในฐานะผู้บริโภคเองนั้นมีสิทธิในการรับรู้ที่มาของอาหาร และมีพลังเลือกซื้ออาหารจากรูปแบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนได้ ที่สำคัญคือ การหันมากินเนื้้อสัตว์น้อยลง กินผักผลไม้มากขึ้น คือวิถีที่ดีต่อสุขภาพของเราและโลกมากที่สุด
ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์
มีส่วนร่วม