จากกรณีที่กรมควบคุมมลพิษประกาศพัฒนา “ระบบคาดการณ์มลพิษทางอากาศ”​ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เพื่อแจ้งเตือนประชาชน โดยพัฒนาระบบดังกล่าวจากปัจจุบันที่สามารถคาดการณ์มลพิษทางอากาศที่แม่นยำสูงสุดได้ไม่เกิน 3 วันเป็น 5 – 7 วันในพื้นที่ต่างๆ อันได้แก่ 1) พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 2) พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย 3) พื้นที่เขตควบคุมมลพิษ ต.หน้าพระลาน จ.สระบุรี และ 4) พื้นที่เขตควบคุมมลพิษ ต.มาบตาพุด จ.ระยอง นับว่าเป็นสัญญาณพัฒนาการที่ดีของการรายงานมลพิษทางอากาศของประเทศไทย

หนึ่งในภาพของระบบคาดการณ์สถานการณ์มลพิษอากาศของกรมควบคุมมลพิษ

หนึ่งในภาพของระบบคาดการณ์สถานการณ์มลพิษอากาศของกรมควบคุมมลพิษ

แต่สิ่งที่กรมควบคุมมลพิษสามารถทำได้และเป็นประโยชน์มากกว่านั้นคือ การปรับปรุงแอปพลิเคชัน Air4Thai ให้รายงานตามเวลาจริงซึ่งนำไปสู่การการคาดการณ์ PM2.5 ในวันต่อๆ ไป ในหน้าแอปพลิเคชัน ให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานจริง

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายจังหวัดและพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศที่ตัวเองหายใจได้เนื่องจากไม่มีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมฯ ใกล้บริเวณที่อยู่อาศัย ทำให้ไม่รับรู้และไม่สามารถปกป้องตัวเองได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องกล่าวถึงข้อมูลคาดการณ์มลพิษทางอากาศในพื้นที่ของตัวเอง

และไม่ว่าการรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศจะสามารถคาดการณ์ได้ดีเพียงใดก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นเพียงมาตรการที่แก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ โดยภาครัฐและภาคเอกชนยังคงผลักภาระให้ประชาชนเป็นผู้จ่ายต้นทุนทางด้านสุขภาพต่อไป ตราบใดที่ค่ามาตรฐานเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ไม่ถูกปรับลดระดับให้ใกล้เคียงกับองค์การอนามัยโลกและมลพิษทางอากาศไม่ถูกควบคุม ณ ​แหล่งกำเนิดให้อยู่ภายใต้เพดานที่ปรับลดลงมา  

ปัญหาที่เกิดจากมลพิษทางอากาศนั้นไม่เพียงส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพของประชาชน แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค นอกจากนี้ยังทำให้ช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยนั้นใหญ่ขึ้นเนื่องจากไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงข้อมูลได้และไม่ใช่ทุกคนที่มีต้นทุนเพียงพอที่จะซื้อเครื่องป้องกันตัวเอง ทั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศ หน้ากากและเครื่องฟอกอากาศ

แต่อากาศเป็นของทุกคน

นี่ไม่ใช่ปัญหาฝุ่นธรรมดา แต่เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณะสุข” ที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วนที่สุดตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2565) ซึ่งได้ระบุให้ การลดความเหลื่อมล้ำเป็นหนึ่งในปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข

Air Pollution in Bangkok.

ประชาชนอาศัยท่ามกลางมลพิษทางอากาศปกคลุมกรุงเทพฯ

ปัจจุบันค่ามาตรฐานเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของประเทศไทยอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ย 1 ปี คิดเป็นสองเท่าของค่าเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลก ซึ่งได้แนะนำไว้อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ย 1 ปี 

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียกร้องให้ภาครัฐปรับลดค่ามาตรฐานเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ลงมาที่อย่างน้อยที่สุด 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ย 1 ปีภายในปี พ.ศ.​ 2562 และดำเนินมาตรการจำกัดการปล่อยมลพิษทางอากาศ ณ แหล่งกำเนิดต่างๆ เพื่อให้อากาศดีคืนมา 

อ้างอิง 

http://www.pcd.go.th/Public/News/GetNewsThai.cfm?task=lt2019&id=18973

https://www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=6422

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม