Air Pollution in Beijing. © Greenpeace / Wu Di

เด็กผู้หญิงและคุณแม่ของเธอสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 เธอถือแบนเนอร์ที่มีข้อความว่า “ไม่เอา PM2.5” ปักกิ่งถือเป็นเมืองที่เผชิญกับมลพิษทางอากาศอย่างหนัก ในปี 2555 มีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศถึง 2,589 คน

มลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในยุคมนุษย์ครองโลก ถูกจัดให้เป็นวาระหลักภายใต้หัวข้อ Beat Air Pollution ของวันสิ่งแวดล้อมโลกในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2562 นี้ ส่วนเจ้าภาพใหญ่คือ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก 1.39 พันล้านคน มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกและขยายตัวรวดเร็วเป็นอันดับต้นๆของโลก ในขณะที่มลพิษทางอากาศในกรุงปักกิ่งกลับมาอีกครั้งหลังจากอัตราการใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 มีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2593 อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในมหานครที่มีประชากรเกิน 10 ล้านคน (megacities) และพึ่งพาระบบเชื้อเพลิงฟอสซิลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แผนที่แสดงปริมาณละอองลอย(aerosol)ในบรรยากาศโลกระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ.2543-เมษายน 2562 จากการเก็บข้อมูลโดยเครื่องมือวัด Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer (MODIS) บนดาวเทียม Terra ขององค์การนาซา เป็นการวัดความทึบแสงของละอองลอย(aerosol optical thickness) ค่าความทึบแสงที่น้อยกว่า 0.1 (สีเหลืองจางในแผนที่)แสดงถึงท้องฟ้าแจ่มใสและทัศนวิสัยดี)  ส่วนค่าความทึบแสงเป็น 1 (สีน้ำตาลเข้มในแผนที่) แสดงถึงสภาพท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยหมอกควัน) ที่มา : earthobservatory.nasa.gov

วาระ Beat Air Pollution เน้นถึงเรื่องที่เราทุกคนสามารถทำได้ในชีวิตประจำวันเพื่อลดมลพิษทางอากาศ และผลกระทบต่อสุขภาพของตัวเราเอง ปฏิบัติการลดมลพิษทางอากาศยังช่วยชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เป็นอีกด้านของเหรียญเดียวกัน มลพิษทางอากาศกลางแจ้งเป็นสาเหตุอันดับ 4 ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรโลก และคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในระดับโลกถึง 2.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

Daily Average of Ultrafine Dust in Seoul to Reach Second Highest on Record. © Soojung Do / Greenpeace

กรุงโซล เกาหลีใต้ ในวันที่ถูกปกคลุมไปด้วยมลพิษทางอากาศ

ชุดข้อมูลมลพิษ PM2.5 ในรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศโลก พ.ศ.2561 ระบุว่าร้อยละ 64 ของเมืองกว่า 3,000 แห่งทั่วโลก มีความเข้มข้น PM2.5 สูงเกินกว่าข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก ส่วนการจัดอันดับเมืองมลพิษ PM2.5 โดยกรีนพีซ ช่วงปี พ.ศ.2561 ในประเทศไทย 39 เมืองจากทั้งหมด 53 เมืองใน 29 จังหวัดมีความเข้มข้น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินมาตรฐานของประเทศไทย(50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) โดยมีวันที่เกินมาตรฐานตั้งแต่ 1 วันไปจนถึง 68 วัน ร้อยละ 98 ของเมืองในประเทศไทยมีความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยรายปีสูงเกินกว่าข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก

ไม่ต้องกล่าวเลยว่าผู้คนต้องเผชิญกับผลที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากการรับสัมผัสมลพิษ ทางอากาศที่เกินมาตรฐานเป็นระยะเวลานาน และหากไร้ซึ่งมาตรการจัดการที่ก้าวหน้า ผลที่ตามมา คือวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ขยายวงกว้างมากขึ้น

PM2.5 Petition Delivery at Pollution Control Department in Thailand. © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ตัวแทนประชาชนร่วมกันยื่น 20,660 รายชื่อและข้อเรียกร้องให้แก่นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอกาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ เพื่อผลักดันให้มีการแก้ปัญหาปัญหาฝุ่นละออง pm2.5

การพลิกวิกฤตมลพิษทางอากาศต้องมีการขับเคลื่อนหลายระดับ ดังนี้

เริ่มจากตนเองและครอบครัว

  • ตรวจสอบรายงานและการพยากรณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่โดยใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ เช่น Air4Thai แต่เนื่องจากยังไม่มีการรายงานตามเวลาจริง(real time) และโครงข่ายสถานีตรวจวัดยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ ทางเลือกคือ Dustboy โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเขตภาคเหนือตอนบน หรือ AirVisual, AQICN, Plume ซึ่งใช้กันแพร่หลายทั่วโลกโดยรายงานข้อมูลและคาดการณ์โดยใช้เกณฑ์ดัชนีคุณภาพของ USEPA ที่ยึดโยงกับผลกระทบสุขภาพตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก การเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศตามเวลาจริงนั้นมีความสำคัญไม่เพียงสร้างความเข้มแข็งของประชาชนให้รับมือกับมลพิษทางอากาศและปกป้องสุขภาพ แต่ยังเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความ ตระหนักและขับเคลื่อนแนวทางต่างๆเพื่อต่อกรกับมลพิษทางอากาศในระยะยาวอีกด้วย
  • ร่วมขยายเครือข่ายการตรวจวัดคุณภาพอากาศ รวมข้อมูลการตรวจวัดโดยภาคประชาชน โดยใช้นวัตกรรม
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมและการออกกำลังกายกลางแจ้งในวันที่คุณภาพอากาศไม่ดี หากจะต้องออกนอกบ้าน ใช้หน้ากากปิดจมูกเพื่อลดการสัมผัสกับมลพิษ แม้ว่าจะไม่ใช่การป้องกันที่ดีที่สุด รวมถึงปลูกต้นไม้ที่มีคุณสมบัติช่วยฟอกอากาศ และเพิ่มความชุ่มชื่นของอากาศภายในบ้าน
Citizens Wear Masks against Air Pollution in Bangkok. © Arnaud Vittet / Greenpeace

ประชาชนปกป้องสุขภาพของตัวเองจากปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 ด้วยหน้ากากกันฝุ่น ในช่วงที่กรุงเทพฯเผชิญกับวิกฤตมลพิษทางอากาศ

ตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

  • มีการศึกษาผลกระทบของมลพิษอากาศต่อสุขภาพประชาชนอันเป็นรากฐานท่ีสำคัญของยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศหรือไม่อย่างไร?
  • มีการทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทุก 5 ปี และกำหนดเป้าหมายและกรอบเวลาในการปรับปรุงมาตรฐานมลพิษ PM2.5 ให้เข้าสู่เป้าหมายขององค์การอนามัยโลกซึ่งกำหนดค่าเฉลี่ยรายปีไว้ที่ 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หรือไม่อย่างไร?
  • มีการบูรณาการมาตรการควบคุมมลพิษจากรถยนต์และมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกชึ่งให้ผลประโยชน์เพิ่มข้ึนเป็นทวีคูณ เช่น การใช้ระบบขนส่งมวลชนซึ่งลดปริมาณการจราจร ลดปริมาณการระบายมลพิษ ลดการจราจรติดขัด ลดการใช้เชื้อเพลิง เป็นต้น หรือไม่อย่างไร?
  • มีการกำหนดค่ามาตรฐานการปลดปล่อยมลพิษ PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก (Emission Standard) ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงแหล่งกำเนิดเคลื่อนที่ เช่น รถยนต์ เป็นต้น ตลอดจนหรือไม่อย่างไร?
  • มีกรอบเวลาในการผ่าน(ร่าง)กฎหมายว่าด้วยทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ(PRTR) หรือไม่อย่างไร?
  • มีการนำ Emission Standard มาใช้เป็นฐานข้อมูลการปล่อยมลพิษทางอากาศของรถยนต์ในถนน หรือตำแหน่งการเผาในที่โล่ง หรือไม่อย่างไร? ทั้งนี้เพื่อทำให้เห็นภาพรวมการพัฒนาและศักยภาพการรองรับมลพิษทั้งหมด และพิจารณาได้ว่าควรอนุมัติโครงการใดให้เข้ามาตั้งในพื้นที่เพิ่มเติมได้อีกหรือไม่ รวมทั้ง หากเกิดวิกฤติมลพิษขึ้นอย่างในปัจจุบัน จะเข้าไปควบคุมแหล่งกำเนิดในพื้นที่ใดเป็นพิเศษ
PM2.5 Petition Delivery at Pollution Control Department in Thailand. © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ตัวแทนประชาชนร่วมกันยื่น 20,660 รายชื่อและข้อเรียกร้องให้แก่นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอกาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ เพื่อผลักดันให้มีการแก้ปัญหาปัญหาฝุ่นละออง pm2.5

  • มีระบบการจัดเก็บภาษีจากการปล่อยมลพิษหรือระบบการประกันความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเงินที่เก็บได้มาใช้ป้องกันเยียวยาชีวิตผู้คนจากมลพิษทางอากาศรวมถึง PM2.5 หรือ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการจัดการมลพิษที่แหล่งกำเนิด (Mitigation) (เช่น การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ หรือสร้างสถานีเติมไฟให้รถยนต์ไฟฟ้า) หรือไม่อย่างไร?
  • มีการติดตามตรวจสอบและรายงานความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศอื่น ๆ ที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพอนามัยของประชาชน เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) โดยให้เป็นรายชื่อมลพิษเป้าหมาย (targeted substances/pollutants) ที่ถูกกำหนดขึ้นภายใต้ระบบทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers: PRTR) หรือไม่อย่างไร?
  • มีมาตรการทางเศรษฐศาสตร์และการปรับแก้กฏระเบียบในการเบิกจ่ายเงินในกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร กลุ่มชุมชน หรือนักวิจัย ศึกษาวิธีการนำวัสดุที่มักจะถูกเผาจนก่อมลพิษมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งของใหม่ ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมและอาชีพใหม่ในชุมชนหรือไม่อย่างไร?
  • มีมาตรการและกฎหมายบังคับให้บริษัทและภาคเอกชนในการจัดตั้งกองทุนความเสี่ยง ป้องกัน และเยียวยาต่อประชาชนที่ได้รับหรืออาจจะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศและข้ามพรมแดนหรือไม่อย่างไร?
  • มีความจริงจังในการสร้างความร่วมมือและประสานประเทศเพื่อนบ้านให้ลดการเผาและหมอกควัน ผ่านการผลักดันการดาเนินงานตาม Roadmap on ASEAN Cooperation towards Transboundary Haze Pollution Control with Means of Implementation เพื่อเปลี่ยนให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคปลอดหมอกควันข้ามแดนภายในปี 2563 มากน้อยเพียงใด?
  • จะเป็นผู้นำขับเคลื่อนในระดับอาเซียนให้ริเริ่มระบบติดตามสถานการณ์หมอกควันของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Mekong Sub-Regional Haze Monitoring System) เพื่อเฝ้าระวังและระบุตำแหน่งที่เกิดไฟและ/หรือพื้นที่เผาไหม้(burnt scar) และระบุภาระรับผิดในกรณีท่ีเกิดการเผาและก่อให้เกิดมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนจากพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในลักษณะต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมพันธสัญญา หรือไม่อย่างไร?

จับตาบรรษัท (บริษัทและภาคธุรกิจเอกชน)

ในโลกปัจจุบันที่ถูกครอบงำด้วยระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้เล่นหลัก (Keystone Actors) ทั้งในประเทศและ ข้ามพรมแดน ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศที่เกิดจากภาคธุรกิจหรือเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายตลอดห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain)

เราจำเป็นต้องมีเครื่องมือเพื่อรับรองว่าบรรษัทจะไม่บิดพริ้วต่อภาระรับผิดในทางสาธารณะ(Corporate Accountability) มีการการติดตามผลการรายงานและตรวจสอบพฤติกรรมความรับผิดชอบของบรรษัท ในกรณีที่เกิดมลพิษทางอากาศที่สร้างความเสียหายต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนขึ้น เครื่องมือดังกล่าวประกอบด้วยสิทธิการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การชดเชยความเสียหาย และการฟื้นฟู รวมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อพลิกวิกฤตมลพิษทางอากาศ(Beat Air Pollution)เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกและการขับเคลื่อนเพื่อ “ขออากาศดีคืนมา” ได้ที่นี่

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม