ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด Covid – 19 ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยเอง  เราได้เห็นข่าวผลกระทบต่อเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านธุรกิจการบิน ธุรกิจด้านแฟชั่น หรือธุรกิจเล็ก ๆ ของประชาชนเองก็ต้องเผชิญวิกฤตไปด้วย แต่นอกจากจะต้องติดตามสถานการณ์โรคระบาดแล้ว สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกในปีนี้เรียกได้ว่าหนักหนาพอ ๆ กับ Covid-19 เลยทีเดียว เราได้เห็น 5 สถานการณ์แรกจากบทความ 10 สถานการณ์สิ่งแวดล้อมรอบโลกท่ามกลางไวรัส Covid-19 (ตอนที่ 1) ไปแล้ว มาดูอีก 5 สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมรอบโลกที่เหลือกันดีกว่าว่าในครึ่งแรกของปี 2563 นี้ ยังมีสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมอะไรบ้างที่น่าสนใจเกิดขึ้นทั้งในไทยและทั่วโลก

6.สัมปทานเหมืองถ่านหินใน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

ระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพึ่งพาถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงทั้งในภาคการผลิตไฟฟ้าและขยายตัวมากขึ้นในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ปิโตรเคมี อาหารและเยื่อกระดาษ และจากความต้องการถ่านหินในภาคอุตสาหกรรมนี้เองทำให้ อมก๋อยกลายเป็นหนึ่งเป้าหมายของบริษัทสัมปทานเหมืองแร่ที่พยายามจัดหาถ่านหินจากแหล่งสำรองถ่านหินเพื่อไปใช้ป้อนโรงงานปูนซีเมนต์ จ.ลำปาง เช่นเดียวกับหลาย ๆ โครงการขนาดใหญ่ที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม การทำมติประชาคมในปี พ.ศ.2552 เพื่อใช้ประกอบรายงาน EIA โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ไม่มีการชี้แจงถึงผลกระทบจากการทำเหมืองถ่านหินทั้งต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบ หากเป็นการประชาสัมพันธ์ว่าชาวบ้านจะมีไฟฟ้าและถนนเข้ามาในหมู่บ้าน

ในเดือนพฤษภาคม 2562 ชุมชนในพื้นที่อมก๋อยรวมตัวยื่นจดหมายและข้อเรียกร้องให้ยุติโครงการเหมืองถ่านหินถึงนายอำเภออมก๋อย โดยหยิบยกผลกระทบผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ผลกระทบด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศ การปนเปื้อนมลพิษในแหล่งน้ำ ตลอดจนการทำลายระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ 

ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้นำศาสนา และชุมชนในอำเภออมก๋อยกว่า 500 คน ร่วมประกอบพิธีบวชป่า กิจกรรมทำแนวกันไฟ ฝังหมุดประกาศเขตพื้นที่ทางจิตวิญญาณบริเวณพื้นที่ป่าหมู่บ้านกะเบอะดิน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า “ชาวอมก๋อยไม่ต้องการให้วิถีชีวิตและอัตลักษณ์จากสิ่งชั่วร้ายมาเอาไปซึ่งผืนดินและทรัพยากรชุมชน และยืนยันว่าจะปกป้องทรัพยากรของประเทศต่อไป” และล่าสุดในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) สั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทบทวน EIA โครงการเหมืองแร่ถ่านหิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพราะเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

การต่อสู้ของชุมชนที่อมก๋อยคือหัวใจสำคัญของการยุติยุคถ่านหิน ต้นทุนผลกระทบภายนอกจากการนำถ่านหินมาผลิตไฟฟ้าและการผลิตทางอุตสาหกรรมทำความเสียหายให้กับสภาพภูมิอากาศโลกและชุมชนนั้นสูงเกินกว่าที่จะแบกรับ 

7.เกาหลีใต้สนับสนุนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโรคระบาดโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

หลังการระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด – 19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยหนัก รวมถึงการเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่บ่อยและรุนแรงขึ้น จากนี้ไปคือการวางแผนเพื่อฟื้นฟูประเทศให้กลับมาดีดังเดิมอีกครั้ง ซึ่งหลายประเทศก็ได้มองเห็นถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ออกมาประกาศว่า รัฐบาลจะสนับสนุนในอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

Global Climate Strike and Climate March in Seoul, South Korea. © K. Chae / Greenpeace
เยาวชนในเกาหลีใต้กว่า 4,000 คนออกมาร่วมกิจกรรม Global Climate Strike เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมาเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง © K. Chae / Greenpeace

โดยเกาหลีใต้มีแผนที่จะนำงบกว่า 114 ล้านล้านล้านวอน (ตีเป็นเงิน 94.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจ้างงาน ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่ภาคพลังงาน การจัดการสมาร์ทกริดเพื่อจัดการระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะลงทุนเพื่อยุติการใช้รถยนต์ที่ใช้ระบบการเผาไหม้ เปลี่ยนรถโดยสารประจำทางเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า จัดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2573 โดยโครงการดังกล่าวมีชื่อว่า กรีนนิวดีล (Green New Deal) 

8.ผู้เชี่ยวชาญพูดถึงความปลอดภัยในการใช้ภาชนะใช้ซ้ำ

แม้ว่าพลาสติกเป็นวัสดุที่จำเป็นสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสำหรับการป้องกันส่วนบุคคล (personal protective equipment: PPE) เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่สำหรับพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งในชีวิตประจำวันอย่างเช่น ถุงพลาสติก แก้วน้ำพลาสติก ยังเป็นวัสดุที่เราสามารถใช้ภาชนะใช้ซ้ำแทนได้ และอุตสาหกรรมพลาสติกก็ยังคงพยายามสร้างความเชื่อผิด ๆ ผ่านการประชาสัมพันธ์เพื่อทำให้พลาสติกที่ไม่จำเป็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยอมรับได้

Greenplugged Festival and Bye Plastic Campaign in Seoul. © Soojung Do / Greenpeace
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพลงนามให้ความมั่นใจว่าการใช้ภาชนะใช้ซ้ำปลอดภัยแม้จะอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 © Soojung Do / Greenpeace

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกว่าร้อยคนจาก 19 ประเทศลงนามในแถลงการณ์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับร้านค้าปลีกและผู้บริโภคว่าการใช้ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำนั้นปลอดภัยแม้จะอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกันกับกรีนพีซ สหรัฐอเมริกา ผู้บริหารของ UPSTREAM และกลุ่ม Break Free From Plastic ที่ระบุว่า สารฆ่าเชื้อที่ใช้ในครัวเรือนได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอในการฆ่าเชื้อบนพื้นผิวหนา ๆ ได้ เท่ากับว่าการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำนั้นสามารถใช้ได้  ส่วนใหญ่แล้วการติดเชื้อไวรัสโคโรน่านั้นเป็นการติดต่อจากคนสู่คน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคในสหรัฐอเมริกาออกมาบอกว่าเป็นไปได้ยากมากที่เราติดเชื้อไวรัสโคโรน่าจากการสัมผัสอาหารและบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ

ขณะนี้อุตสาหกรรมพลาสติกและปิโตรเคมีกำลังพยายามที่จะใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยมองว่าการให้บริการของพวกเขา “เป็นสิ่งจำเป็น” และขอความช่วยเหลือทางการเงินกับภาครัฐเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการทำให้กฎหมายทางสิ่งแวดล้อมมีความเข้มงวดลงด้วย ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นผู้คนทั่วโลกรวมตัวกันถอยห่างจากการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ด้วยการเลิกใช้ถุงพลาสติก หลอด ช้อนส้อม และอีกมากมาย แต่น่าเสียดายที่มลพิษพลาสติกยังคงเป็นวิกฤตทั่วโลกและมีผลกระทบอย่างมากต่อโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่มีรายได้ต่ำ วงจรชีวิตของพลาสติกส่งผลกระทบทั้งสิ้น ตั้งแต่การสกัดจากน้ำมัน ไปจนการทิ้งเป็นขยะ

9.การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการประมงผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์

อุตสาหกรรมประมงพาณิชย์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องจับตามองมาก เพราะรูปแบบด้วยการทำประมงแบบกวาดล้อมสัตว์ทุกชนิด ทุกวัย หลากสายพันธุ์ในปริมาณมาก ส่งผลกระทบหลายด้านต่อระบบนิเวศในมหาสมุทร รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนของลูกเรือชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่บนเรือประมง และล่าสุดกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบนี้เกิดขึ้นบนเรือประมงของไต้หวัน 

Longline Fishing Vessel in the Pacific Ocean. © Mark Smith / Greenpeace
ภาพการใช้ชีวิตของลูกเรือในเรือประมงทูน่า Dong Yu 1518 เรือดังกล่าวจับปลาทูน่าในมหาสมุทรแปซิฟิค © Mark Smith / Greenpeace

รายงานการสืบสวนล่าสุดของกรีนพีซเอเชียตะวันออกพบการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษชน ในกองเรือประมงของไต้หวัน โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะมีบริษัทผู้ค้าอาหารทะเลอันดับต้นของโลกเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การล่าหูฉลาม การบังคับใช้แรงงาน และการใช้เรือขนถ่ายสินค้าที่ผิดกฎหมาย  จากข้อมูลลูกเรือประมงซึ่งเป็นเหยื่อของการใช้แรงงานบังคับพบว่า มีความเชื่อมโยงกับมีเรืออย่างน้อยสองลำที่หาปลาส่งให้กับบริษัท ฟงชุนฟอร์โมซ่า หรือเอฟซีเอฟ (FCF)  โดยล่าสุด บริษัทดังกล่าวเพิ่งซื้อกิจการบัมเบิลบี (Bumble Bee) บริษัทอาหารทะเลอันดับต้นในสหรัฐอเมริกา

Shark Tail Fins in Freezer on Longliner in Pacific Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ครีบฉลามสีน้ำเงินที่เรือประมงไต้หวัน Sing Man Yi 6 ล่าได้ในมหาสมุทรแปซิฟิค ถูกแช่แข็งเก็บไว้

ในรายงานเรื่อง “ทะเลนอกน่านน้ำ: แรงงานบังคับและการประมงที่ผิดกฎหมายในไต้หวัน” เจ้าหน้าที่ของกรีนพีซเอเชียตะวันออกได้สัมภาษณ์ลูกเรือประมงต่างชาติ ซึ่ง ทั้งหมดเป็นชาวอินโดนีเซีย ที่ทำงานอยู่บนเรือประมงซึ่งชักธงประเทศไต้หวัน  รวมถึงได้รวบรวมเอกสารสัญญาจ้างงานและค่าตอบแทนของลูกเรือประมงมาประกอบการวิเคราะห์ร่วมกับการใช้ระบบการระบุตัวตนแบบอัตโนมัติ (Automatic Identification System -AIS) เพื่อระบุเรือประมง เพื่อสร้างแผนที่ความเชื่อมโยงถึงท่าเทียบเรือและจุดที่มีแนวโน้มว่าจะมีการขนถ่ายสินค้ากลางทะเล (Transshipment) ขึ้น

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กรีนพีซเอเชียตะวันออก เรียกร้องให้บริษัทเอฟซีเอฟ ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินทำธุรกิจให้เป็นในเชิงรุกและสร้างสรรค์มากขึ้น โดยเน้นที่การสร้างกลไกลด้านการตรวจสอบย้อนกลับห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลที่โปร่งใส ปราศจากวัตถุดิบที่มาจากการขนถ่ายสินค้ากลางทะเล และยึดถือมาตรฐานสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน อย่างเคร่งครัด

10.ไฟป่าในภาคเหนือของไทย ออสเตรเลียและบราซิล

ในปีนี้เรียกได้ว่าเกิดไฟป่าเกือบทั่วทุกมุมโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วย ช่วงมีนาคมที่ผ่านมาถือเป็นช่วงวิกฤตของไฟป่าในเชียงใหม่และเชียงราย สถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 ในปริมาณที่สูงทำให้ เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลก 

ส่วนไฟป่าครั้งใหญ่ในออสเตรเลียกลายเป็นประเด็นใหญ่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งมันสร้างความเสียหายให้กับออสเตรเลียรุนแรง มหาวิทยาลัยซิดนีย์ประเมินโดยรวมว่ามีสัตว์ป่า 480 ล้านตัวได้รับผลกระทบนับตั้งแต่เกิดไฟป่านับในรัฐนิวเซาท์เวลล์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 จนถึงเดือนธันวาคม 2562 ไฟป่าในรัฐนิวเซาท์เวลส์กินบริเวณ 27,000 ตารางกิโลเมตร (10,000 ตารางไมล์) ขนาดราว 26 เท่าของเนื้อที่กรุงมหานคร รัฐบาลออสเตรเลียประกาศภาวะฉุกเฉินในเดือนพฤศจิกายน 2562 เมื่อไฟป่าขยายลุกลามออกไป มีผู้เสียชีวิต 23 คน สูญหาย 6 คน นับตั้งแต่เกิดฤดูไฟป่าขึ้นในรัฐนิวเซาท์เวลส์และวิกตอเรีย เฉพาะในรัฐวิกตอเรีย บ้านเรือน 1,500 หลังหายไปในเปลวไฟ 

Bushfire Aftermath Near Ulladulla, NSW. © Cybele Malinoski / Greenpeace
ออสเตรเลียหลังเหตุการณ์ไฟป่าที่กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง © Cybele Malinoski / Greenpeace

ควันไฟป่าและมลพิษทางอากาศเข้าปกคลุมพื้นที่ตามบริเวณชายฝั่งและเมืองต่าง ๆ เป็นบริเวณกว้างนานหลายสัปดาห์ จากการรายงานข่าว หลายส่วนของซิดนีย์ เมืองใหญ่ที่มีประชากร 5 ล้านคนต้องผจญกับมลพิษทางอากาศที่สูงกว่าระดับปลอดภัยหลายเท่า ดัชนีคุณภาพอากาศในออสเตรเลียตะวันตกเฉียงใต้และไปไกลจนถึงนิวซีแลนด์ 

หน่วยงานด้านภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ (Australia’s emergency services) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครอยู่ในแนวหน้าของการรับมือกับวิกฤตนี้ต่างทำงานอย่างกล้าหาญ อดทน และอุทิศตน ขณะที่สภาว่าด้วยการประกันภัยแห่งออสเตรเลีย(the Insurance Council of Australia) ประกาศชัดเจนว่า “รัฐบาล (ออสเตรเลีย) ต้องลงทุนในมาตรการที่ยั่งยืนถาวรเพื่อลดผลกระทบและสร้างศักยภาพในการฟื้นคืนจากวิกฤตเพื่อปกป้องชุมชนที่ได้รับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นพายุไซโคลน พายุฝน อุทกภัยหรือไฟป่า”

นอกจากนี้สถานการณ์ไฟป่าในแอมะซอนยังคงน่าเป็นห่วง เมื่อเร็วๆนี้ กรีนพีซบราซิลระบุว่าเกิดไฟป่าในแอมะซอนขึ้นอีกครั้งโดยผืนป่าฝนเขตร้อนแห่งนี้ถูกคุกคามจากอุตสาหกรรมอาหารอย่างต่อเนื่อง ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาการเกิดไฟป่าในแอมะซอนเพิ่มมากขึ้นถึง 11% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ไฟป่ากินพื้นที่เป็นวงกว้างกว่า 1,034 ตารางกิโลเมตร

Deforestation and Fire Monitoring in the Amazon in July, 2020. © Christian Braga / Greenpeace
ภาพมุมสูงของไฟป่าในป่าแอมะซอนในเดือนกรกฎาคม 2563 © Christian Braga / Greenpeace

การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกและความเสี่ยงของเหตุการณ์ไฟป่าที่มากขึ้นเป็นความเชื่อมโยงที่ซับซ้อน แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้ทำให้เกิดไฟป่าแต่สามารถทำให้ไฟป่าสร้างความหายนะมากขึ้น เงื่อนไขของความเสี่ยงการเกิดไฟป่าคืออุณหภูมิ เชื้อเพลิง(เศษชีวมวลในป่า) ความแห้ง ความเร็วลมและความชื้น

ปัจจัยสำคัญของการเกิดวิกฤตสภาพภูมิอาการศหรือแม้กระทั่งโรคอุบัติใหม่คือการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน  เช่น การทำลายป่า การแผ้วถางพื้นที่เพื่อการเกษตร การขุดเจาะน้ำมันและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงการขยายการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เราจำเป็นต้องชะลอการทำลายทรัพยากรแบบนี้เพื่อไม่ให้โลกของเราอยู่ยากขึ้น