นับแต่โลกก้าวล่วงเข้าสู่ปี 2563 เราก็ไม่อาจกลับไปสู่โลกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ได้อีกเลย 

และวันพุธที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นวันธรรมดาของใครหลายคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่เป็นวันที่เปลี่ยนชีวิตของทุกคนไปตลอดกาล เมื่อนายกรัฐมนตรีฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรและล็อกดาวน์ทั่วประเทศตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับที่ 1 

โจทย์ที่ว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมารับมือโรคอุบัติใหม่นี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงมลพิษทางอากาศอย่างไร กรีนพีซจึงใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมวิเคราะห์ถึงแหล่งกำเนิดมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ในประเทศไทย 

เป็นที่รู้กันว่าก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์เป็นสารตั้งต้นของฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และเป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศหลักที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ 

จากรายงานวิเคราะห์ของกรีนพีซ มีข้อชวนคิด ดังนี้

ส่องกระจก

เมื่อดูกราฟเปรียบเทียบปี 2561-2562 กับ ปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกที่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อรับมือกับโควิด-19 ในกรุงเทพฯ สระบุรี อยุธยา เชียงใหม่ ลำปาง แม่เมาะ มาบตาพุดและกระบี่ ซึ่งเป็น 8 พื้นที่ที่มีการวิเคราะห์ พบว่า  มาตราการล็อกดาวน์ไม่สัมพันธ์กับการกระจายตัวของปริมาณมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ กล่าวคือ บางพื้นที่ มลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลงในช่วงล็อกดาวน์ ขณะที่ บางพื้นที่มีมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบปี 2563 กับ 2564(โดยใช้ปี 2561-2562 เป็นปีฐาน) จะพบประเด็นที่น่าสนใจคือ มลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์หวนกลับมาเพิ่มขึ้นในมาบตาพุด (+24%) สระบุรี(+22%) กรุงเทพฯ (+17%) ลำปาง (+13%) และโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะ (+8%) ในขณะที่เชียงใหม่และกระบี่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า 5%

โดยต้องไม่ลืมว่าบางพื้นที่อย่างสระบุรีที่เพิ่มขึ้นมาถึงร้อยละ 22 นั้นเป็นการเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีการเพิ่มขึ้นอยู่แล้วร้อยละ 11 จากค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2561-2562 ก่อนโควิด-19 จะระบาดในไทย 

Air Pollution Protest in Bangkok. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
© Wason Wanichakorn / Greenpeace

ภาพสะท้อน 

ภาพสะท้อนที่ 1 : ผู้ก่อมลพิษทางอากาศช่วงโควิด-19

ในหลายพื้นที่ที่มลพิษเพิ่มขึ้นช่วงมาตรการล็อกดาวน์ครั้งแรกในปี 2563 เป็นเขตอุตสาหกรรม ขณะที่เขตเมืองมลพิษลดลงอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น มาบตาพุด จังหวัดระยอง มลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ช่วงครึ่งปีแรกระหว่างปี 2561 2562 2563 และ 2564 นั้นเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดแม้จะมีมาตรการล็อกดาวน์ออกมาถึงสองครั้งและเพิ่มขึ้นมากที่สุดในบรรดาพื้นที่ที่เราวิเคราะห์ ลดหลั่นลงมาเป็นสระบุรีซึ่งมีสถานการณ์มลพิษเช่นเดียวกับมาบตาพุด กรุงเทพฯ ลำปาง อยุธยาและกระบี่

ข้อมูลที่เที่ยงตรงและมีรายละเอียดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนของระดับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในบรรยากาศนี้จากเครื่องมือวัด TROPOMI บนดาวเทียม Sentinel 5P ทำให้เราสามารถระบุจุดที่มีการปล่อยมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ได้ นั่นหมายถึง การบ่งชี้ตัวการสำคัญที่ทำให้คุณภาพอากาศเลวร้ายและทำลายสุขภาพประชาชน 

ภาพเก่าที่เราคุ้นเคย

ภาพนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้เห็น หากได้ติดตามเรื่องมลพิษทางอากาศจะพบว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง  แล้วลองเสิร์ชหาคีย์เวิร์ดดูจะพบว่า 

พูดถึง ‘ประชาชน’ ทั้งหมด 29 ครั้ง 

พูดถึง ‘อุตสาหกรรม’ ทั้งหมด 27 ครั้งโดยเป็นคำว่า ‘โรงงานอุตสากรรม’ ทั้งหมด 10 ครั้งและ ‘กระทรวงอุตสาหกรรม’ ทั้งหมด 7 ครั้ง

โดยมาตรการระยะต่างๆ เพื่อควบคุมและลดมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมนั้นมีทั้งหมด 2 ย่อหน้า 

ส่วนภาคครัวเรือนนั้นมีทั้งสิ้น 8 หน้ากระดาษ

นี่อาจเป็นเหตุผลว่า ทำไมการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไปของไทย และการผลักดันกฏหมายที่บรรษัทใหญ่ต้องขยายความรับผิดรวมถึงการออกกฏหมาย PRTR ที่คำนึงถึงสิทธิชุมชนจึงเป็นไปได้ยากแม้จะมีเหตุผลร้อยแปดประการมาสนับสนุนว่าควรผลักดันให้ปรับยกระดับหรือออกกฏหมายมาก็ตาม 

แอปพลิเคชัน NRCT AQIC จะแสดงคุณภาพอากาศที่วัดได้จากเครื่องวัดคุณภาพอากาศ (Dustboy) ในแต่ละพื้นที่ ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกันติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศ (Dustboy) ในกิจกรรม “ขออากาศดีคืนมา on tour” ซึ่งจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนและบุคลากรของโรงเรียนทราบค่าคุณภาพอากาศในบริเวณโรงเรียน และปกป้องสุขภาพของนักเรียนได้ทันท่วงที

ภาพสะท้อนที่ 2 : 2 มัจจุราชใต้จมูก 

มีสำนวนอังกฤษที่ว่า ‘the problem is right under your nose’ หรือหากเป็นของไทยก็น่าจะประมาณว่า ‘ปัญหาอยู่ที่ปลายจมูก’ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มีความหมายเชิงนัยว่า ปัญหาอยู่ใกล้มากแต่กลับมองไม่เห็น 

โควิด-19 และมลพิษทางอากาศนั้นน่าจะเป็นปัญหา ‘ใต้จมูก’ ทั้งในเชิงสัญญะและกายยะ กล่าวคืออยู่เพียงปลายจมูก ใกล้ตัวทำให้เกิดภัยต่อสุขภาพเราได้จริงแต่กลับไม่สามารถมองเห็นได้และในบางบริบทของภาครัฐก็อาจเลือกที่จะไม่มอง 

ในฐานะบุคคลหนึ่งที่ติดตามประเด็นมลพิษทางอากาศ หนึ่งในหัวข้อที่เกิดการถกเถียงกันมากนับตั้งแต่ต้นปีที่โลกได้รู้จักโควิด-19 คือ ไวรัสดังกล่าวข้อเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศอย่างไร เนื่องจากทั้งสองสิ่งนี้ต่างเป็นภัยต่อระบบทางเดินหายใจของคนเราทั้งสิ้น 

มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตคนทั่วโลก 7 ล้านคนทุกปีและโควิด-19 ก็เป็นโรคอุบัติใหม่ที่คร่าชีวิตคนไปไม่น้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตามเราไม่อาจนำสองสิ่งนี้มาเปรียบเทียบว่าอะไรรุนแรงน้อยกว่าอะไรเพราะ ทั้งสองสิ่งนี้ต่างเป็น ‘มัจจุราชใต้จมูก’ คนไทยและตัวเลขต่างๆ ที่ปรากฏในหน้าจอหมายถึงชีวิตของผู้คนที่สูญเสียและครอบครัวญาติมิตรอีกมากมายที่ต้องใจสลาย 

Air Pollution Protest in Bangkok. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
ในปี 2563 นักศึกษา บุคคลทั่วไปและเครือข่ายร่วมกับกรีนพีซ จัดกิจกรรม “พอกันที ขออากาศดีคืนมา” เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย © Wason Wanichakorn / Greenpeace

คนไทยต้องอยู่กับมัจจุราชใต้จมูกมาตลอดทั้งรู้ตัวก็ดีไม่รู้ตัวก็ดีที่ชื่อ ‘มลพิษทางอากาศ’ มาตลอดหลายสิบปี และมัจจุราชใต้จมูกตัวที่สองที่ชื่อ ‘โควิด-19’ เพิ่มมาอีก 2 ปี จากคำพูดขององค์การอนามัยโลกเล่าถึงความเชื่อมโยงระหว่างมัจจุราชทั้งสองตนว่า

“หากรู้ว่าการสัมผัสอากาศที่เป็นพิษเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคระบบทางเดินหายใจและเมื่อโควิด-19 เป็นโรคระบบทางเดินหายใจก็จะรู้ว่าเราเพิ่มความไวต่อการรับเชื้อและความเปราะบางของเราเอง”

อาจพูดได้ว่า ในประเทศที่จัดการปัญหามลพิษทางอากาศแย่ๆ  เมื่อเจอกับวิกฤตการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจ ความแข็งแรงของประชากรในประเทศนั้นๆ ไม่ได้เริ่มจาก 0 แต่จริงๆ แล้วอาจเริ่มจากติดลบเพราะในระหว่างทางก่อนหน้านั้นได้จ่ายสุขภาพของตัวเองเป็นต้นทุนมลพิษไปแล้วนั่นเอง 

จะไม่มีใครปลอดภัยหากทุกคนไม่ปลอดภัย  จะไม่มีสังคมใดที่แข็งแรงหากไม่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี 

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม