ในช่วงเวลาการเฉลิมฉลอง ช่วงเวลาแห่งความสุขที่ผู้คนทั่วโลกจะมาร่วมกันเคาท์ดาวน์นับถอยหลังเพื่อก้าวสู่ปีใหม่ แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ในช่วงเวลาแห่งความสุข หลายประเทศในหลายภูมิภาคทั่วโลกต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวนเลวร้าย ตั้งแต่ปรากฎการณ์โพลาร์ วอร์เท็กซ์ (Polar Vortex) หรือกระแสลมวนขั้วโลกที่กระทบสหรัฐอเมริกา รวมทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเมื่อต้นปี 2021 ยังไม่นับรวมความแปรปรวนที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี เช่น พายุหมุนเขตร้อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พายุทรายในจีน คลื่นความร้อนผิดปกติในเอเชียตะวันออกและภัยแล้งจนทำให้เกิดไฟป่าตามภูมิภาคต่าง ๆ  เหตุการณ์ฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลันหลายพื้นที่ทั่วโลก และในปีนี้สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายที่อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนักนั่นคือ บอมบ์ ไซโคลน (Bomb Cyclone) รวมถึงล่าสุดที่แม้ว่าตอนนี้จะเป็นช่วงเวลาฤดูหนาวแต่ยุโรปกลับต้องเจอคลื่นความร้อน โดยเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก เบลารุส ลัทเวีย และลิธัวเนีย บันทึกว่าช่วงเวลาปีใหม่ที่ผ่านมามีอุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึก 

Climate Change Impact Austria - City heatwave.
Due to the climate crisis summers in Vienna get hotter each year. The city becomes an urban heat islands, where it doesn’t cool down in the nights as concrete keeps the heat trapped. A lot of citizens struggle with the heat – it causes each year severe health- and sleeping problems. 766 people in 2018 died in Austria due to heatwaves.

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ออกมาให้ข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น ข้อมูลที่ระบุว่าเหล่าสัตว์ป่ารับรู้ถึงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลจนทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก และยังมีข้อมูลศักยภาพของป่าแอมะซอนกับการกักเก็บคาร์บอนได้น้อยลงเนื่องจากการทำลายผืนป่าเป็นบริเวณกว้าง วิกฤตสภาพภูมิอากาศนำไปสู่เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วซึ่งทวีความรุนแรงและจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นในอนาคต 

บอมบ์ ไซโคลน (Bomb Cyclone) คืออะไร?

จากข้อมูลของสำนักข่าว ThaiPBS ระบุว่า จริง ๆ แล้ว บอมบ์ ไซโคลน เคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อปี 2018 ทางชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ส่วนชื่อ บอมบ์ ไซโคลน ก็เป็นชื่อที่สื่อมวลชนเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั่นเอง เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พลเมืองที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบต้องเจอกับความหนาวเหน็บและอันตรายต่อชีวิต อย่างไรก็ตามมันมีชื่ออย่างเป็นทางการโดยนักอุตุนิยมวิทยาว่า บอมโบเจเนซิส (Bombogenesis)

สำนักข่าววอชิงตัน โพสต์ อธิบายเหตุการณ์บอมบ์ ไซโคลน ว่าคือพายุหมุนนอกเขตร้อน หรือพายุหมุนละติจูดปานกลาง (mid-latitude storm) ที่ความกดอากาศลดลง 1 มิลลิบาร์ต่อ 1 ชั่วโมง อย่างน้อย 24 ชั่วโมง

เหตุการณ์ บอมบ์ไซโคลนในนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2018 เป็นภาพกลุ่มคนกำลังเข็นรถแท็กซี่ท่ามกลางพายุหิมะรุนแรง มีอากาศหนาวและมีลมแรงเนื่องจากทางตะวันออกของสหรัฐเกิดบอมบ์ไซโคลน / ภาพ lev radin

โดยปกติแล้วความกดอากาศจะคงอยู่ที่ 1010 มิลลิบาร์ แต่ในช่วงเกิดสภาพอากาศแบบพายุ ความกดอากาศจะลดลงต่ำกว่าปกติ ซึ่งยิ่งความกดอากาศลดลงต่ำมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้พายุรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น และสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงวันหยุดช่วงสิ้นปี 2022 ที่ผ่านมาคือ พายุเกรย์สันที่พัดผ่านกลับมีความกดอากาศลดลงอย่างรวดเร็วถึง 31 มิลลิบาร์ ภายในหนึ่งชั่วโมง (ลดลงจาก 994 มิลลิบาร์ ไปยัง 963 มิลลิบาร์ ใน 24 ชั่วโมง) จึงทำให้เป็นปัจจัยให้พายุลูกนี้รุนแรงจนกลายเป็นบอมบ์ ไซโคลน

ผลกระทบของ บอมบ์ ไซโคลน

บอมบ์ ไซโคลนมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูหนาว จะทำให้พื้นที่ที่พายุพัดผ่านมีอุณหภูมิลดต่ำลงกว่าปกติ เกิดฝนหรือหิมะตกหนัก น้ำท่วมชายฝั่ง หรือเกิดลมกระโชกแรงซึ่งเป็นผลกระทบจากพายุเฮอริเคน อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาตอนนี้ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันไปจนถึงผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิต บอมบ์ ไซโคลน สะท้อนให้เห็นถึงความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลกโดยส่งผลต่อมหาสมุทรจนจนทำให้หลายพื้นที่ต้องเผชิญพายุหมุนที่รุนแรงบ่อยขึ้น 

ยุโรปต้อนรับปี 2023 ด้วยคลื่นความร้อนในฤดูหนาว

เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา หลายประเทศในยุโรปกำลังเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว แต่ไม่ใช่ปรากฎการณ์บอมบ์ ไซโคลน ที่ทำให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบถูกปกคลุมไปด้วยหิมะและสภาพอากาศที่หนาวยะเยือก แต่เป็นคลื่นความร้อนกลางฤดูหนาวที่ทำให้อุณหภูมิสูงจนเป็นประวัติการณ์ ยุโรปที่จะต้องมีหิมะเป็นปกติทุกปี แต่ไม่ใช่กับปีนี้ที่ลานสกีสำหรับครอบครัวต้องประกาศปิดให้บริการเพราะไม่มีหิมะให้เล่นฉลองปีใหม่

ก่อนหน้านี้ สก๊อต ดันแคน นักอุตุนิยมวิทยาจากลอนดอน สหราชอาณาจักร โพสต์ข้อมูลที่น่าสนใจโดยระบุว่าในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา หลายประเทศในยุโรปเผชิญคลื่นความร้อนแม้ว่าจะยังอยู่ในฤดูหนาว หลายประเทศมีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ เช่น เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก เบลารุส ลัทเวีย และลิธัวเนีย สอดคล้องกับการนำเสนอข่าวหลายสำนักในยุโรปที่รายงานตรงกัน นอกจากนี้ ดันแคน ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอีกด้วยว่าเป็น ‘สัญญาณเตือนของสภาพภูมิอากาศ’ โดยในปี 2022 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ยุโรปร้อนที่สุด 

สก๊อต ดันแคน นักอุตุนิยมวิทยา โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ระบุอุณหภูมิของหลายประเทศในยุโรปที่เจอกับคลื่นความร้อน

จับตาทวีปเอเชียที่เสี่ยงเจอพายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าเดิม

จากสถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1979 – 2016 รวบรวมโดยสถาบัน Shenzhen Academy of Meteorological Innovation และมหาวิทยาลัย Chinese University of Hong Kong ระบุผลการวิเคราะห์ว่า ‘วิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจทำให้พายุหมุนเขตร้อนที่เกิดในเอเชียมีความรุนแรงเพิ่มจากเดิมเท่าตัว’

  • ในช่วงเวลาที่ผ่านมา พายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยแรงลมที่พัดขึ้นมายังแผ่นดินที่เร็ว รุนแรงขึ้น อีกทั้งยังอยู่บนแผ่นดินได้นานขึ้นอีกด้วย 
  • ภายในศตวรรษนี้ พายุที่เกิดขึ้นอาจมีความเร็วลมที่พัดเข้าฝั่งเร็วขึ้นเฉลี่ย 2 เมตรต่อวินาที ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายได้รุนแรงกว่าเดิมหลายเท่าตัว

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WORLD METEOROLOGICAL ORGANIZATION – WMO) เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งในปี 2021 ชื่อ The State of the Climate in Asia 2020 ระบุใจความสำคัญว่า เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วและวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วทวีปเอเชียในปี 2020 เป็นสาเหตุของการสูญเสียประชากรหลายหมื่นชีวิต อีกกว่าหลายล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น รวมทั้งยังเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศ ซึ่งคิดเป็นมูลค่า หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เรากำลังถูกคุกคามจากภัยความมั่นคงทางอาหาร การขาดแคลนน้ำสะอาด วิกฤตด้านสุขภาพ และต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง

Villager and Severely Damaged Home in Vanuatu.
สีอา โทกา หญิงวัย 40 ปียืนอยู่บริเวณหน้าบ้านของเธอซึ่งได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใน Teouma บนเกาะ Efate กรีนพีซกำลังสำรวจเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ประชาชนในวานัวตูได้รับ หลังพายุลูกใหญ่พัดเข้าถล่มถิ่นที่อยู่อาศัยและสร้างความเสียหายอย่างหนัก

หนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับภัยพิบัติจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศคือสถิติภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในเอเชียมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 1960 เป็นต้นมาและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน ภัยพิบัติที่ว่านี้ส่วนใหญ่มาจาก น้ำท่วมฉับพลัน พายุหมุนเขตร้อน และดินถล่ม และในปี 2023 นี้เราต้องจับตามองว่าเอเชียเสี่ยงจะต้องเผชิญเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วอย่างไร

ผู้นำโลกจะต้องแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

หลังการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศโลก COP ครั้งที่ 27 ในชาร์ม เอล-เชค สาธารณรัฐอียิปต์ ซึ่งก็ได้ข้อสรุปสำคัญอย่างเช่น การตกลงจัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage) จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้ยังคงขาดความมุ่งมั่นที่จะวางแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการลด ละ เลิก การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ซึ่งจะสอดคล้องกับความตกลงปารีสในการคงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

Climate Strike at COP27.
กลุ่มเยาวชนผู้ขับเคลื่อนประเด็นสภาพภูมิอากาศ ร่วมกันเรียกร้องกับชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ด้วยการชูป้ายข้อความเพื่อให้กลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลักชดเชยค่าเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในการประชุม COP27

การไม่พูดถึงประเด็นการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งประเด็นการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงเข้ามาพบปะกับกลุ่มผู้นำประเทศ ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายชุมชนและกลุ่มนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ออกมาแสดงความผิดหวังต่อการประชุมครั้งนี้ว่าเป็นการประชุมที่เต็มไปด้วยการฟอกเขียว

ผลกระทบที่พวกเราได้รับจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดนั้น เป็นเพราะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษหลัก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมปศุสัตว์ ที่พยายาม ‘ชะลอและบิดเบือน’ วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นโดยการผลักให้เป็นปัญหาปัจเจกบุคคล โดยใช้เม็ดเงินมหาศาลประชาสัมพันธ์อย่างหนักให้คนตื่นตัวและเริ่มลดผลกระทบจาก ‘ตัวเอง’ ในขณะเดียวกันก็ออกแคมเปญที่พยายามทำให้ตัวเอง ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เราเรียกว่า ‘การฟอกเขียว’ (Greenwash) 

DAY 2 COP27 Fridays For Future.
กลุ่มเยาวชนจากเยอรมนี ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้รัฐบาลเยอรมันียุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในการประชุม COP27 ขณะที่ผู้นำประเทศกำลังประชุมเจรจาใน COP27 เยอรมนีมีแผนดำเนินการขยายเหมืองถ่านหิน Garzweiler ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ซึ่งจะทำให้เยอรมนีไม่สามารถทำตามคำมั่นสัญญาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อคงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้

สิ่งที่เราทำได้คือการรวมพลังกันเพื่อบอกให้นักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายของประเทศเห็นความสำคัญของวิกฤตสภาพภูมิอากาศต่ออนาคตของเรา สนับสนุนการเคลื่อนไหวของเยาวชน เข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวในชุมชนท้องถิ่นเพื่อเรียกร้องถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง รัฐบาลทั่วโลกต้องเดินหน้าตามเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งวางแผนรับมือกับภัยพิบัติในขณะที่ดำเนินแผนการไปด้วย