ปี 2022 เป็นอีกหนึ่งปีที่ไทยและหลายประเทศในเอเชียต้องเจอกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วจากปรากฎการณ์ลานีญาที่รุนแรงทั้งฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงพายุฤดูร้อนและไต้ฝุ่นที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิม ภัยพิบัติในรูปแบบนี้ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งด้านเศรษฐกิจ ชีวิต และสังคม อย่างเช่น ไต้ฝุ่นโนรู ที่พัดเข้าถล่มเวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมถึงทางภาคอีสานของไทยเป็นพายุอีกหนึ่งลูกที่สร้างผลกระทบรุนแรงในเส้นทางที่พายุพัดผ่าน 

แน่นอนว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีภายในปีสองปี แต่ค่อย ๆ สะสมและรุนแรงขึ้น จะเห็นได้จากพายุหมุนเขตร้อนที่เราเห็นตามการรายงานข่าวว่าเร็วขึ้น แรงขึ้น และเกิดบ่อยขึ้นทุก ๆ ปี โดยข้อมูลจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) ที่เปิดเผยสถิติการเกิดพายุในแถบแปซิฟิกตะวันตกในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา (ปี 1970 – 2020) แสดงให้เห็นว่ามีพายุและซูเปอร์ไต้ฝุ่นเกิดขึ้นในเอเชียบ่อยครั้งกว่าภูมิภาคอื่น ๆ 

สถิติการเกิดพายุในฝั่งแปซิฟิกตะวันตกตั้งแต่ ค.ศ.1970 – 2020 ซึ่งรวมภูมิภาคเอเชียอยู่ด้วย
ที่มา : เว็บไซต์ National Oceanic and Atmospheric Administration

และจากสถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1979 – 2016 รวบรวมโดยสถาบัน Shenzhen Academy of Meteorological Innovation และมหาวิทยาลัย Chinese University of Hong Kong ระบุผลการวิเคราะห์ว่า ‘วิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจทำให้พายุหมุนเขตร้อนที่เกิดในเอเชียมีความรุนแรงเพิ่มจากเดิมเท่าตัว’

  • ในช่วงเวลาที่ผ่านมา พายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยแรงลมที่พัดขึ้นมายังแผ่นดินที่เร็ว รุนแรงขึ้น อีกทั้งยังอยู่บนแผ่นดินได้นานขึ้นอีกด้วย 
  • ภายในศตวรรษนี้ พายุที่เกิดขึ้นอาจมีความเร็วลมที่พัดเข้าฝั่งเร็วขึ้นเฉลี่ย 2 เมตรต่อวินาที ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายได้รุนแรงกว่าเดิมหลายเท่าตัว

ย้อนไทม์ไลน์ : เอเชียต้องเจอความรุนแรงของพายุที่อันตรายขึ้นเรื่อย ๆ

1. ปี 2003 ไต้ฝุ่นมาเอมี : ไต้ฝุ่นที่สร้างความเสียหายรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลี

ด้วยความเร็วลมกว่า 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุมาเอมีพัดถล่มเกาหลีเมื่อวันที่ 10 กันยายน ปี 2003 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 117 คน บ้านเรือนเสียหาย 5,000 หลัง และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ความรุนแรงของพายุเมอามีแรงเสียจนทำให้ชั้นตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือขนส่งปลิว รวมถึงทำให้รถยกตู้คอนเทนเนอร์หักล้มระเนระนาด

2. ปี 2009 ไต้ฝุ่นมรกต : พายุไต้ฝุ่นสุดอันตรายในรอบ 10 ปี สร้างผลกระทบต่อชีวิตผู้คนในไต้หวัน

ปี 2009 ไต้ฝุ่นมรกตที่พัดผ่านไต้หวันส่งผลให้เกิดฝนตกหนักที่สุดทำลายสถิติที่ไต้หวันเคยบันทึกไว้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 677 คนจากเหตุการณ์ดินถล่ม ประชากรในครัวเรือนอีกหลายหมื่นไม่มีทั้งน้ำและไฟฟ้าใช้ นอกจากนี้พายุไต้ฝุ่นยังทำให้พืชผลจากเกษตรกรรมเสียหายโดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้เวลาจะผ่านมากว่า 10 ปีแต่ร่องรอยความเสียหายจากพายุในครั้งนั้นยังคงอยู่และชุมชนที่ได้รับผลกระทบยังคงต้องดิ้นรนพลิกฟื้นวิถีชีวิตของตัวเองกลับมา

3. 2013 ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน : คร่า 10,000 ชีวิต ในฟิลิปปินส์

พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนถือเป็นพายุอีกลูกหนึ่งที่สร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับฟิลิปปินส์ โดยพัดขึ้นชายฝั่งฟิลิปปินส์ในเดือนพฤศจิกายน 2013 ด้วยความเร็วลม 315 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำลายบ้านเรือน โรงเรียน ซึ่งสำนักข่าว BBC รายงานว่าความรุนแรงของไห่เยี่ยนทำให้มีผู้เสียชีวิตในฟิลิปปินส์มากถึง 10,000 คน และในช่วงที่เกิดภัยพิบัตินี้ประชาชนหลายพื้นที่ไม่มีทั้งน้ำสะอาดและไฟฟ้า รวมถึงเหลืออาหารประทังชีวิตเพียงน้อยนิด

หลังจากพัดผ่านฟิลิปปินส์ ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนลดระดับความรุนแรงลงกลายเป็นพายุหมุนเขตร้อนพัดผ่านเวียดนาม และถึงแม้ความเร็วจะลดลงแล้ว แต่ทางการเวียดนามยังจำเป็นต้องอพยพประชาชนราว 600,000 คนออกจากพื้นที่เสี่ยงอยู่ดี

ภาพชายคนหนึ่งกำลังยืนอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังจากความเสียหายจากพายุไห่เยี่ยนที่พัดเข้าถล่มเมือง Tacloban ฟิลิปปินส์ © Matimtiman / Greenpeace

4. 2018 ไต้ฝุ่นมังคุด : พายุที่รุนแรงกระทบฮ่องกงและอาเซียนจนอ่วม

ซูเปอร์ไต้ฝุ่นมังคุดพัดผ่านฮ่องกงและสร้างความเสียหายรุนแรงในวันที่ 16 กันยายน 2018 ความรุนแรงของพายุทำลายทุกสถิติของไต้ฝุ่นที่เคยเกิดขึ้นในฮ่องกง โดยทำให้ประชากรกว่า 500 คนได้รับบาดเจ็บ ต้นไม้กว่า 60,000 ต้นถูกแรงลมพัดจนโค่น และผู้คน 40,000 ครัวเรือนต้องใช้ชีวิตโดยไม่มีไฟฟ้าใช้ นอกจากนี้ด้วยความเร็วลมที่รุนแรงยังทำให้ตึกสูงหลายแห่งทรุดตัวหรือเสียหายในระดับวิกฤต รวมถึงหน้าต่างบนตึกที่โดนลมพัดจนแตก นอกจากนี้บริเวณเมืองยังถูกน้ำท่วมเนื่องจากฝนตกหนักที่พายุพัดขึ้นมาจากชายฝั่ง จนบางพื้นที่ทางการต้องอพยพผู้คนออกจากที่อยู่อาศัยอีกกว่าหลายร้อย พายุยังพัดผ่านบางมณฑลของจีนซึ่งทำให้ชุมชนต้องอพยพอย่างเช่นในมณฑลกวางตุ้งและเกาะไห่หนาน

Typhoon Mangkhut impacts in Hong Kong. © Greenpeace
ซูเปอร์ไต้ฝุ่นมังคุด พัดถล่มเข้าฮ่องกง เมื่อวันที่ 16 กันยายน ส่งผลทำให้ฮ่องกงเจอกับฝนตกหนักและน้ำท่วม เหลือเพียงซากปรักหักพังและความเสียหายภายในพื้นที่ นี่เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดขึ้นจะวิกฤตขึ้นเรื่อย ๆ © Greenpeace

นอกจากจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง พายุยังสร้างความเสียหายให้กับฟิลิปปินส์และบางส่วนของเวียดนาม โดยในฟิลิปปินส์มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากซึ่งเกิดจากเหตุดินถล่มหลังฝนตกหนักเป็นเวลานาน อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่อผลผลิตการเกษตรเป็นวงกว้าง แม้ว่าจะมีบทเรียนจากความเสียหายอย่างรุนแรงของไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนทำให้ครั้งนี้ทางการฟิลิปปินส์รับมือกับเหตุการณ์ได้ดีกว่าเดิม แต่หลังจากพายุที่พัดผ่าน เกษตรกรในฟิลิปปินส์ต้องเจอกับอุปสรรคในการเพาะปลูกพืชเนื่องจากการเกษตรกรรมนั้นต้องการน้ำสะอาดเพื่อเพาะปลูก รวมทั้งสูญเสียรายได้เพราะผลผลิตที่เสียหายไปเป็นจำนวนมาก นั่นทำให้ปัญหาความยากจนในหมู่เกษตรกรฟิลิปปินส์ที่ยากจนอยู่แล้วต้องยากจนลงไปอีก

5.2022 พายุมู่หลาน : กระทบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในเดือนสิงหาคม 2022 พายุหมุนเขตร้อน ‘มู่หลาน’ พัดขึ้นชายฝั่งที่กวางตุ้ง และพัดผ่านมายังหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ชายแดนเมียนมา และทางตอนเหนือของลาว ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและมีดินถล่มในบางพื้นที่ เช่นในไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากพายุไปกว่า 11 จังหวัดและทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ส่วน ลาว ก็ได้รับผลกระทบสาหัสไม่แพ้กันเพราะประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำตกอยู่ในสภาพยากลำบากเพราะน้ำเอ่อล้นจนท่วมเนื่องจากฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวัน 

และในปีเดียวกันนี้เองที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังต้องเผชิญกับ ไต้ฝุ่นโนรู ที่สร้างความเสียหายในฟิลิปปินส์ เวียดนาม และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสังเกตคือ ไต้ฝุ่นโนรู กลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นในระยะเวลาเพียงแค่ 6 ชั่วโมงเท่านั้น

ชาวบ้านกำลังเก็บซากสิ่งของที่ถูกพัดมากับน้ำท่วมรุนแรงจากไต้ฝุ่นโนรู ภาพนี้ถูกถ่ายเมื่อ 26 กันยายน 2022 ที่ Marikina City ในกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ภาพ : Basilio Sepe/Greenpeace

นักวิทยาศาสตร์ต่างให้ความเห็นว่าปรากฎการณ์เช่นนี้จะทำให้เราคาดเดาสภาพอากาศได้ยากขึ้น และการที่พายุไต้ฝุ่นรุนแรงจนกลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วนี้กำลังจะกลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เป็นตัวการสำคัญทำให้สภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงจนกลายเป็น เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Event) ในขณะเดียวกันก็จะทำให้เราคาดการณ์สภาพอากาศได้ยากขึ้นเช่นกันเพราะเกิดการแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา

ทวีปเอเชียกำลังวิกฤตจากสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WORLD METEOROLOGICAL ORGANIZATION – WMO) เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งในปี 2021 ชื่อ The State of the Climate in Asia 2020 ระบุใจความสำคัญว่า เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วและวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วทวีปเอเชียในปี 2020 เป็นสาเหตุของการสูญเสียประชากรหลายหมื่นชีวิต อีกกว่าหลายล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น รวมทั้งยังเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศ ซึ่งคิดเป็นมูลค่า หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เรากำลังถูกคุกคามจากภัยความมั่นคงทางอาหาร การขาดแคลนน้ำสะอาด วิกฤตด้านสุขภาพ และต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง

ในปี 2020 ที่ผ่านมา เหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันและพายุกระทบต่อชีวิตผู้คนอย่างน้อย 50 ล้านคนในเอเชีย โดยเกิดพายุหมุนเขตร้อน น้ำท่วมรุนแรง รวมทั้งภัยแล้ง ถูกคาดการณ์ว่าจะสร้างความเสียหายโดยเฉลี่ยหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ สิ่งที่น่ากังวลคือ พายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงกว่าเดิม ฝนที่ตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน เกิดขึ้นบ่อยครั้งในพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่นอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ทำให้ผู้คนหลายล้านคนใน จีน บังคลาเทศ อินเดีย ญี่ปุ่น ปากีสถาน เนปาล และเวียดนาม ต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่น 

หนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับภัยพิบัติจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศคือสถิติภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในเอเชียมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 1960 เป็นต้นมาและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน ภัยพิบัติที่ว่านี้ส่วนใหญ่มาจาก น้ำท่วมฉับพลัน พายุหมุนเขตร้อน และดินถล่ม

สถิติจำนวนครั้งของการเกิดภัยพิบัติที่มีสาเหตุมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในทวีปเอเชีย ช่วงปี 1900 – 2020
ที่มา : สำนักข่าว Nikkei Asia

ดังนั้น ไม่มีใครปฏิเสธได้แล้วว่าเราอาศัยอยู่ในโลกที่มีสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย หรือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่มีจริง เพราะเรากำลังเผชิญกับมันอยู่และยังไม่มีวิธีรับมือหรือวิธีแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพเลย

กรุงเทพฯ เป็นอีกหนึ่งเมืองที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

เมืองชายฝั่งทั่วเอเชียรวมถึง กรุงเทพมหานคร กำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมที่มากขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและพายุโซนร้อนที่เข้มข้นมากขึ้น คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เตือนว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ระหว่าง 0.43-0.84 เมตรภายในปี พ.ศ.2643 (IPCC, 2019) ขณะเดียวกัน ตลอดศตวรรษที่ 21 พายุมีความเร็วลมรุนแรงซึ่งสร้างความเสียหายมากขึ้น คลื่นพายุซัดฝั่งที่สูงขึ้น และปริมาณน้ำฝนที่มีสภาวะสุดขีดมากกว่าในอดีต (Knutson et al., 2020) 

ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ กรุงเทพฯ กลายเป็นหนึ่งในเมืองเศรษฐกิจที่เสี่ยงจมน้ำภายในระยะเวลาอันใกล้ เช่น การขยายตัวของเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูง และการทรุดตัวของแผ่นดินเนื่องจากดินอ่อน รวมถึงอิทธิพลของน้ำเหนือ น้ำฝนและน้ำทะเล นอกจากนี้ มากกว่า 96% ของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ประชากร 10.45 ล้านคนในกรุงเทพฯ อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่งในปี 2030 

แต่ความจริงแล้วเราไม่ต้องรอให้ถึงปี 2030 ก็ได้เพราะเพียงแค่ในปีนี้ (2022) ที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากปรากฎการณ์ลานีญา ก็ทำให้ปริมาณน้ำฝนที่ตกในกรุงเทพฯสูงเป็นประวัติการณ์ ยิ่งไปกว่านั้นหากต้องเจอพายุหรือมรสุมพัดผ่าน เมืองทั้งเมืองก็กลายเป็นอัมพาตและประชาชนทั่วไปนี่เองที่จะกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง นี่ยังไม่รวมผลกระทบต่อประชาชนในต่างจังหวัดหากต้องเจอพายุหรือมรสุมด้วยเช่นกัน

อุตสาหกรรมและรัฐบาลทั่วโลก ต้องหยุด ‘การฟอกเขียว’ และแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม

ผลกระทบที่พวกเราได้รับจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดนั้น เป็นเพราะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษหลัก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมปศุสัตว์ ที่พยายาม ‘ชะลอและบิดเบือน’ วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นโดยการผลักให้เป็นปัญหาปัจเจกบุคคล โดยใช้เม็ดเงินมหาศาลประชาสัมพันธ์อย่างหนักให้คนตื่นตัวและเริ่มลดผลกระทบจาก ‘ตัวเอง’ ในขณะเดียวกันก็ออกแคมเปญที่พยายามทำให้ตัวเอง ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เราเรียกว่า ‘การฟอกเขียว’ (Greenwash) 

Climate Action at Eni Headquarter in Rome. © Greenpeace / Francesco Alesi
© Greenpeace / Francesco Alesi

แล้วเราทำอะไรได้บ้างเพื่อหยุดการฟอกเขียวนี้  สิ่งที่เราทำได้คือการรวมพลังกันเพื่อบอกให้นักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายของประเทศเห็นความสำคัญของวิกฤตสภาพภูมิอากาศต่ออนาคตของเรา สนับสนุนการเคลื่อนไหวของเยาวชน เข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวในชุมชนท้องถิ่นเพื่อเรียกร้องถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง รัฐบาลทั่วโลกต้องเดินหน้าตามเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งวางแผนรับมือกับภัยพิบัติในขณะที่ดำเนินแผนการไปด้วย เช่น

  • ยกเลิกแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ให้เร็วขึ้น และเน้นพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด
  • ยุติการทำลายผืนป่าและการเปลี่ยนพื้นที่ป่าพรุเพื่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์
  • ทำให้เมืองและชุมชนมีความเข้มแข็งและมีแผนสำรองในภาวะวิกฤต ปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน
  • การตั้งระบบเตือนภัย กระจายศูนย์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤต และเตรียมการเพื่อลดความเสี่ยงของภัยพิบัติในระดับชุมชน

สำหรับประเทศไทยที่เป็นประเทศอันดับต้นๆของโลกที่มีความเสี่ยงสูงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น รัฐไทยเองไม่ควรละเลยปัญหานี้หรือออกมาตรการในระดับผิวเผิน กรีนพีซ ประเทศไทยเรียกร้องให้รัฐสภาไทยประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อออกกฎหมายหรือวางมาตรการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างจริงจังมากกว่าแค่การฟอกเขียวอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน