“เพียงการเดินทางเพียงหนึ่งสัปดาห์

หนึ่งเดือน หนึ่งปี มันมีความหมาย

ทำให้เติบโตเรียนรู้เข้าใจได้มากกว่า..”

 

กรีนพีซจัดกิจกรรม มือปลูกเชียงดาว ณ ค่ายเยาวชนอนุรักษ์ดอยหลวงเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อร่วมฟื้นฟูผืนป่าเชียงดาว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากไฟป่าทางภาคเหนือเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยกิจกรรมได้ดำเนินขึ้นในวันที่ 3 – 4 สิงหาคม 2562 

ดอยหลวงเชียงดาว สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงต้องเคยไปกางเต็นท์นอนบนดอย หรือไปเดินพิชิตยอดเขาเชียงดาวมาแล้ว ที่ดอยเชียงดาวแห่งนี้ นอกจากจะเต็มไปด้วยผืนป่าและแมกไม้นานาพันธุ์แล้ว ยังมียอดเขาเล็กใหญ่ปกคลุมไปด้วยทะเลหมอกจาง ๆ ในตอนเช้าตรู่ เป็นทิวทัศน์ที่งดงามชวนฝันอย่างแท้จริง และในยามราตรีก็จะพบกับความสวยงามของดวงดาวที่ระยิบระยับพร่างพราวเต็มท้องฟ้า แต่อย่างไรก็ตาม บนดอยหลวงเชียงดาวไม่ได้มีดีเพียงแค่ธรรมชาติที่สวยสดงดงาม เบื้องหลังของธรรมชาติที่สวยงามนี้ ยังมีอะไรมากกว่านั้น.. 

ค่ายเยาวชนอนุรักษ์ดอยหลวงเชียงดาว ค่ายเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่บนดอยหลวงเชียงดาว โดยมีคุณนิคม พุทธา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่ปิง และผู้ก่อตั้งค่ายเยาวชนเชียงดาว ผู้ที่มีใจรักในธรรมะและธรรมชาติเป็นผู้ดูแล ที่นี่จึงเป็นเหมือนจุดรวมผู้คนที่รักษ์สิ่งแวดล้อม และเป็นจุดที่ทำให้เหล่าน้องพี่หัวใจสีเขียวได้มาพบปะกัน

“การเดินทางของฉันและเธอคือการเรียนรู้”

ในช่วงวันแรกของกิจกรรม พี่ ๆ จากชุมชนบ้านป่าบง อาสาสมัคร พร้อมด้วยสมาชิกกรีนพีซร่วมกันขนกล้าไม้ และเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปปลูกในบริเวณป่าชุมชน บ้านป่าบง และพื้นที่บริเวณดอยหน้าถ้ำ โดยการเลือกพืชพรรณที่นำมาปลูกนั้น ส่วนใหญ่คือไม้ถิ่น ได้แก่ ต้นมะขาม ต้นมะค่า ต้นสัก มะม่วงป่า มะกอกป่า และสมอภิเพก ซึ่งทุกคนได้ลงมือทำตั้งแต่กระบวนการขุดจนถึงการปลูก และการหว่านเมล็ดพันธุ์ไปในพื้นที่โล่ง

การเดินทางของเมล็ดพันธุ์และต้นกล้า ตั้งแต่ถูกบรรจุลงในลัง ไปจนถึงขนขึ้นรถกระบะ และถูกนำไปเพาะปลูกโดยชุมชนและเหล่าผู้พิทักษ์หัวใจสีเขียว ต้นไม้ที่ปลูกไปอาจไม่ได้โตทุกต้น แต่จิตใจของทุกคนจะเติบโต และเห็นความสำคัญของธรรมชาติมากขึ้นจากกิจกรรมนี้อย่างแน่นอน 

จะเห็นได้ว่า กว่าที่ป่าที่เราพยายามปลูกจะมาเป็นต้นไม้ที่เติบใหญ่เต็มผืนป่านั้น ต้องผ่านกระบวนการและระยะเวลาที่ยาวนาน ดังนั้น การรักษาผืนป่าธรรมชาติย่อมดีกว่าการปลูกป่าใหม่ เพราะกว่าที่ป่าปลูกจะกลายมาเป็นป่าธรรมชาตินั้น ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 – 30 ปี เราควรจะรักษาป่าธรรมชาติไว้ให้ได้มากที่สุด และให้การปลูกป่าเป็นทางเลือกสุดท้าย

ปัญหาหมอกควันและมลพิษทางอากาศ

“ไม่ใช่แค่มนุษย์เท่านั้น ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ”

ผืนป่าเชียงดาว เป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากไฟป่า หนึ่งในสาเหตุของหมอกควันจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ในปัจจุบันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ PM2.5 เท่านั้นที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ยังเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ใช้อากาศหายใจร่วมกับเราอีกด้วย หนึ่งในสี่สาเหตุที่แท้จริงของมลพิษทางอากาศนอกเหนือจากภาคอุตสาหกรรม การคมนาคมและภาคการผลิตไฟฟ้านั้น คือการเผาในที่โล่ง และไฟป่าก็เป็นหนึ่งตัวอย่างในนั้น ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับอากาศบริสุทธิ์และเราต้องช่วยกันเรียกร้องให้มีอากาศดีคืนมา ก่อนมันจะกลายเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้นประจำปี

ทุกๆปีมีการสูญเสียพื้นที่ป่า ทำไมเราจึงรักษาป่าไว้ไม่ได้?

ป่าคือสังคมของพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ร่วมกันมาเป็นเวลานาน สัตว์อาศัยพืชเป็นอาหาร และพืชก็อาศัยสัตว์ในการกระจายเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ ต้นไม้ยังเป็นผู้ให้ โดยบทบาทหน้าที่ของต้นไม้คือช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และคายออกซิเจนให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ การปลูกต้นไม้ต้นหนึ่งจึงมีประโยชน์มาก ต้นไม้ช่วยปลูกจิตใจ บ่มเพาะให้เราระลึกนึกถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ นอกจากตัวเรา และแน่นอนว่าพวกเขาเหล่านั้นมีสิทธิ์ที่จะมีพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งในตอนนี้พื้นที่ของธรรมชาติได้ถูกคุกคามโดยมนุษย์ ในแต่ละปีมีการสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก โดย 99% ของปัญหาหมอกควันและไฟป่านั้นเกิดจากฝีมือมนุษย์ 

ไฟป่าที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเป็นส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่เกิดจากการ “เผาป่า” ทั้งเพื่อหาของป่า ล่าสัตว์ ทำไร่เลื่อนลอย เกษตรเชิงอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเผาป่า หรือภัยธรรมชาติ จึงต้องมีการทำ แนวกันไฟ เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟป่า

แนวกันไฟจะทำในช่วงเดือนมกราคมเป็นต้นไปจนถึงต้นเดือนมีนาคมซึ่งจะเป็นช่วงที่มีการเผาในที่โล่งเกิดขึ้นมาก และต้องเฝ้าระวังจุดที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดไฟ โดยที่ต้องรู้ว่าไฟเริ่มจากตรงไหนและจะลุกลามไปในทิศทางใด โดยชนิดของไฟมีทั้ง

  1. ไฟไหม้ใบไม้บนพื้นผิวดิน 
  2. ไฟมุดดิน คือ ไฟที่ไหม้ตามรากไม้
  3. ไฟสะพานลอย คือ ไฟที่ไหม้ตามกิ่งไม้
  4. ไฟลอย คือ ไฟที่ลอยไปตามลม

แนวป้องกันไฟเพื่อลมหายใจของเชียงดาวและเราทุกคน

โอ้เมื่อมีไฟ ไฟ ไฟ ลุกขึ้นแจ่มจ้า

แนวกันไฟตามปกติจะทำตามวัดและหมู่บ้าน แต่ยังมีแนวกันไฟอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แนวกันไฟฉุกเฉิน คือ การเอามีดตัดเป็นทางและใช้เครื่องเป่าใบไม้ให้แยกออกจากกัน ซึ่งจะทำในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนที่มีไฟไหม้อย่างรุนแรง

แนวกันไฟเป็นกิจกรรมที่ต้องเฝ้าระวังและต้องเกิดจากความร่วมมือ ทั้งเจ้าหน้าที่และที่สำคัญก็คือชุมชน เนื่องจากชุมชนท้องถิ่นนั้นจะมีความชำนาญในพื้นที่ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงอาสาสมัครทั่วไป ดังนั้น ค่ายเยาวชนเชียงดาวแห่งนี้ จึงเปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางที่จะประสานความร่วมมือระหว่างอาสาสมัครที่รับรู้ข่าวสารผ่านทางเฟสบุ๊กกับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่

ไม่เพียงแต่พืชและสัตว์เท่านั้นที่ถูกคุกคามจากไฟป่า มนุษย์ก็ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติและไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้หากขาดซึ่งธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านอาหาร ยารักษาโรค รวมถึงตัวแปรสำคัญในการผลิตออกซิเจน ดูดซับก๊าซเรือนกระจก ส่งผลกระทบให้เกิดภัยแล้งตามมา

ทุกวันนี้ป่าไม้และแหล่งน้ำตามธรรมชาติเริ่มร่อยหรอลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะป่าเชียงดาวซึ่งก็เป็นป่าต้นน้ำ ต้นไม้ในป่านั้นกักเก็บน้ำได้ดี ถ้ามีมากก็เก็บน้ำได้มาก เราต้องช่วยทำให้ป่าให้หนาแน่น เพิ่มต้นไม้ เพิ่มศักยภาพในการเก็บน้ำ ยิ่งต้นไม้เยอะ ยิ่งเก็บน้ำได้มากขึ้น ดังนั้น การสูญเสียผืนป่าจึงเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลต่อไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และกลายเป็นภัยร้ายแรงสำหรับมนุษยชาติในที่สุด

ฝนสร้างป่า

เมื่อยามที่ฝนตกลงมา คงเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับคนในเมืองกรุง แต่สำหรับระบบนิเวศในป่าไม้นั้น หยาดฝนเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ต้นไม้ พืชพรรณเจริญเติบโตและงอกงามได้ดี

ถึงแม้ว่าฟ้าฝนจะไม่เป็นใจนัก แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคแก่เหล่าผู้พิทักษ์หัวใจสีเขียวแม้แต่น้อย กลุ่มอาสาสมัครและสมาชิกกรีนพีซ นำโดยคุณนิคม ได้เดินสำรวจเส้นทางที่ได้รับผลกระทบของไฟป่า และได้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และความอัศจรรย์ของเชียงดาวที่เต็มไปด้วยพืชพรรณหลากหลายชนิด

จุดประสงค์ของการเดินป่าในครั้งนี้ คือเพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างป่าที่ถูกไฟไหม้และป่าที่ไม่ถูกไฟไหม้ และการทำแนวกันไฟซึ่งเป็นวิธีการในการรับมือกับปัญหาไฟป่า เพื่อป้องกันให้ป่าเจริญเติบโต อีกทั้งยังได้เห็นองค์ประกอบของป่า ซึ่งประกอบไปด้วยต้นใหม่ใหญ่ ต้นไม้เล็ก ไม้พุ่ม ไม้ชั้นล่าง และไม้ชั้นบน นอกจากนี้ยังได้เห็นบทบาทหน้าที่ของต้นไม้ ซึ่งต้นไม้ที่อยู่ด้านล่างจะเป็นดินรักษาความชื้น ส่วนต้นไม้ที่อยู่ด้านบนก็จะช่วยรองรับเม็ดฝน และสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้ก็คือ การเชื่อมโยงทั้งระบบของป่าที่มีความสัมพันธ์กันระกว่างพืชกับฟ้าฝน ดิน แสงแดด และน้ำ ที่เรียกว่า “ความสัมพันธ์เชิงระบบนิเวศ”

ต้นไม้อยู่ร่วมกับมนุษย์อย่างปกติสุข

จากกิจกรรมที่จัดขึ้น ทำให้ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา อาสาสมัครที่เข้ามาร่วมกิจกรรมนั้น มีทั้งเด็กเล็ก วัยรุ่น ไปจนถึงผู้ใหญ่ และวัยกลางคน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่มีคนหลากหลาย Generation ได้มาร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูและรักษาระบบนิเวศของป่าเชียงดาว เนื่องจากมนุษย์เป็นฝ่ายทำลายธรรมชาติมาแสนนาน มือปลูกเล็ก ๆ ของเรา สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้กับผืนป่าได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าหากเราตายลง แต่ต้นไม้และป่าไม้ที่เราร่วมกันปลูกนั้นก็ยังจะคงอยู่ตลอดไป

นอกจากปลูกต้นไม้ในป่าแล้ว การปลูกต้นไม้ในใจก็สำคัญเช่นกัน เราต้องปลูกจิตสำนึกของเราและคนทั่วไป ให้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลกใบนี้นอกจากตัวเรา เพราะเราไม่สามารดำรงชีวิตอยู่ได้หากขาดซึ่งระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์

“ขอให้ต้นไม้ในจิตใจของเราทุกคนเติบโตและเจริญงอกงามต่อไป”

คุณนิคม พุทธา กล่าวทิ้งทาย

 

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม