จะทำยังไงให้กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัวไม่ใช่เรื่องขายฝัน มาฟังคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาทำงานเล่าเบื้องหลังมิติปัญหาของกรุงเทพฯ เมืองที่ชีวิตไม่ดี และไม่มีความลงตัวกัน

สรุป Twitter Space ย้อนหลังก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เราชวนภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเมืองด้วยทักษะและเครื่องมือใหม่ๆที่มีอยู่ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกทม.ให้ดียิ่งขึ้น ทั้ง คุณตั้ม สันติชัย อาภรณ์ศรี บรรณาธิการ Rocket Media Lab  คุณวิช กรวิช ขวัญอารีย์ จาก STRN Citizen Lab (สาธารณะ : SATARANA)  คุณที ธีระพงศ์ แสงลาภเจริญกิจ ผู้ประสานงานการปฏิวัติเมืองยั่งยืน และ คุณโบนัส อัลลิยา เหมือนอบ จาก กรีนพีซ ประเทศไทย มาพูดคุยถึงงานที่กลุ่มทำและสิ่งที่อยากจะฝากถึงผู้ว่าฯกทม.คนใหม่จากการเลือกตั้ง ในฐานะตัวแทนของคนกทม.ที่จะเข้ามาพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพชีวิตเราให้ดียิ่งขึ้น 

Twitter Space ครั้งนี้เราพูดคุยกันใน 3 ประเด็นหลักที่เป็นปัญหาที่คนกรุงกำลังเจออยู่ ได้แก่ ปัญหาน้ำท่วม การขนส่งสาธารณะ และ ฝุ่นPM2.5 

ฝนถล่มกทม. เมืองกลายเป็นอัมพาตก่อนการเลือกตั้ง

ฝนตกในกทม.ทีไร ทำเอาคนเมืองเซ็งกันไปตาม ๆ กัน เพราะถ้าเลือกเดินทางโดยใช้ขนส่งสาธารณะก็จะเจอสิ่งที่ (ไม่ได้) อำนวยความสะดวกต่อการเดินทางในช่วงฝนตกเลย เช่น ป้ายรถเมล์ที่ยืนหลบฝนไม่ได้ มีรถเมล์หลายสายวิ่งบนถนนไม่ได้โดยเฉพาะรถรุ่นใหม่ที่เป็นรถเมล์ชานต่ำ ถึงแม้ว่ารถเมล์ชานต่ำจะนำเข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้โดยสารทุกกลุ่มแต่กลายเป็นว่าพอเกิดน้ำท่วมจากฝนตกแบบนี้ น้ำก็จะไหลเข้ารถและเครื่องยนต์

กรุงเทพฯ เมืองเสี่ยงจมจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

รายงานของ กรีนพีซ เอเชียตะวันออก คาดการณ์ถึง 7 เมืองเศรษฐกิจชายฝั่งทั่วเอเชียที่อาจเสี่ยงได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยหนึ่งในนั้นคือกรุงเทพมหานคร ระบุว่าเมืองชายฝั่งทั่วเอเชียกำลังเจอกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมมากขึ้น เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นและพายุโซนร้อนที่เข้มข้นมากขึ้น

โดยคาดการณ์ว่าพื้นที่กว่า 96% ของกทม. อาจเสี่ยงต่อน้ำท่วมจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ จาก 10 ปีที่ผ่านมาในฤดูฝนเมื่อฝนตกหนักเกิน 70 – 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง น้ำฝนจะท่วมขังในบางพื้นที่ หากกทม.ไม่สามารถระบายน้ำออกได้ทันเวลา และถ้าในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดปรากฎการณ์น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นพร้อมกันอีก การระบายน้ำออกสู่ทะเลจะทำได้ยากลำบากมากขึ้น

กทม. มีโอกาสจะโดนน้ำท่วมมากขึ้น รวดเร็วขึ้นและบ่อยขึ้น กรีนพีช ประเทศไทย เห็นว่าแนวคิดที่สำคัญของการรับมือกับปัญหา การป้องกันปัญหา การแก้ไขปัญหา และการอยู่กับปัญหา กรุงเทพมหานครจำเป็นที่ต้องปรับวิธีการการบริหารจัดการและการดำเนินการทางสิ่งแวดล้อมระดับพื้นที่เมืองอย่างเร่งด่วน

Global Climate Strike in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ภาพกิจกรรม Climate Strike ที่สวนลุมพินี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง © Chanklang Kanthong / Greenpeace

กรุงเทพฯ กับการแก้ไขน้ำรอระบาย

“สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องน้ำท่วมสำหรับเราคือ สิ่งที่คุณอัศวินพูดเรื่องจำนวนจุดเสี่ยงที่ลดจริงไหม ซึ่งจริง แต่เราต้องดูด้วยว่าข้อมูลนั้น 100% หรือยัง? จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังที่คุณอัศวินบอกนั้นอยู่ที่ถนนสายหลักเท่านั้นไม่ใช่ทั้งกทม. ซึ่งจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังไม่ได้มีแค่ที่ถนนสายหลัก แต่มีจุดเฝ้าระวังรายเขตที่บางเขตปล่อยข้อมูล แต่บางเขตไม่ปล่อย รวม ๆ แล้ว 300 กว่าจุด มากกว่าที่คุณอัศวินรายงานแน่นอน” – สันติชัย อาภรณ์ศรี บรรณาธิการ Rocket Media Lab

หากพูดถึง จุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวัง น้ำท่วมในกทม. มีการรายงานถึงจุดเสี่ยงของน้ำท่วมเพียงแค่บริเวณถนนสายหลักเท่านั้น แต่ยังมีจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังในรายเขต ซึ่งเพียงบางเขตเท่านั้นที่เผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ จึงไม่สามารถรายงานข้อมูลได้ทั้งหมด ในบางพื้นที่ก็ไม่ถูกนับรวมกับจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังเนื่องจากเป็นพื้นที่ของเอกชน

กรีนพีซเองมีข้อเสนอต่อประเด็นปัญหาน้ำท่วมว่า ​​กทม.ควรมี ‘การปรับและรื้อฟื้นระบบนิเวศเมือง’ มาเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาการจัดการน้ำ ไม่ใช่แค่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการระบายน้ำลงสู่ทะเลเท่านั้น เพราะเมื่อน้ำทะเลหนุนสูง การระบายน้ำในพื้นที่กทม.ออกสู่ทะเลจะทำไม่ได้ และจะถูกน้ำทะเลผลักดันเข้าสู่พื้นที่มากขึ้น

แก้ปัญหารถติดด้วยการเอา ‘คน’ เป็นตัวตั้ง

“เวลาเราพูดว่ารถติดเราก็จะรีบไปแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องรถติด แต่อยากให้มองอีกมุมหนึ่งคือให้มองว่ามันคือการเดินทาง การทำอย่างไรให้คนสามารถเดินทางได้มากขึ้น” – วิช กรวิช ขวัญอารีย์ STRN Citizen Lab

เพราะผังเมืองของกรุงเทพฯ เป็นซูเปอร์บล็อกหรือบล็อกขนาดใหญ่ ถนนหลักค่อนข้างห่างกัน มีตรอกซอกซอยเยอะมากซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นซอยตัน ดังนั้นเวลาที่เราเดินทาง ตัวเราก็จะอยู่ห่างไกลจากขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า เพราะเหตุผลนี้หลายคนจึงต้องเสียเงินค่าเดินทางหลายต่อ (เช่น ต้องขึ้นรถมอเตอร์ไซค์ก่อนต่อด้วยรถไฟฟ้าและต่อด้วยรถเมล์) ทำให้การเดินทางแต่ละครั้งเราถึงรู้สึกเหนื่อยล้าและไม่คุ้มค่า นำไปสู่การตัดสินใจซื้อรถส่วนบุคคล และเลือกที่จะขับรถไปทำงาน ซึ่งซ้ำเติมปัญหารถติดให้หนักขึ้นอีกนอกจากนี้ยังมีประเด็นโครงสร้างของถนนที่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเส้นทางการจราจรอีกด้วย 

ส่วนแผนพัฒนากทม.ก็พัฒนาด้วยการตัดถนนไปเรื่อยๆ แต่ไม่มีการวางแผน ผังเมืองที่มีก็ไม่ได้เป็นกฎหมายผังเมืองที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม จราจร เป็นต้น ปกติแผนพัฒนาขนส่งมวลชนหลักของกทม.จะอยู่ที่รถเมล์เรื่อยมา จนกระทั่งสมัยผู้ว่าอภิรักษ์มีการปรับเปลี่ยนไปโฟกัสที่รถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักแทน สิ่งที่ถูกทิ้งไปจึงเป็นรถเมล์ ทั้งๆ ที่รถเมล์ สามารถเข้าถึงและมีผู้ใช้งานที่มากกว่าหลายเท่าตัว

ฝุ่น
ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาขณะนั่งรถเมย์ บริเวณสวนจตุจักร ในวันที่กรุงเทพมหานครมีฝุ่นละอองคล้ายหมอกควันปกคลุมในหลายพื้นที่ ในวันนี้กรมควบคุมมลพิษได้รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลว่าบริเวณพื้นที่ริมถนน 20 พื้นที่ มีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

คุณตั้ม สันติชัย แชร์ว่าข้อมูลที่ได้มาจากการสำรวจสายรถเมล์พบว่า คลองสามวา เขตนอกสุดของกรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนประชากรรองเป็นอันดับสองของจังหวัด แต่มีรถเมล์มีเพียง 2 สาย ส่วนเขตทุ่งครุ ลาดกระบัง ลาดพร้าว หนองจอก ในพื้นดังกล่าวมีประชากรเกิน 100,000 คน แต่เข้าถึงขนส่งสาธารณะส่วนกลางอย่างรถเมล์ได้เพียงแค่ไม่กี่สาย

นอกจากนี้ปัญหาการทำงานแบบแยกส่วนของราชการ ยังทำให้กทม.ไม่สามารถแก้ปัญหารถติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


“ยังมีปัญหาการแยกส่วนกันทำงาน แยกส่วนกันถือข้อมูลทำให้การขับเคลื่อนอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหาขนส่งมวลชนเป็นเรื่องยาก เราไม่มี Big Data ที่รวมข้อมูลทุกอย่างเอาไว้ที่เดียว ซึ่งผู้ว่าฯกทม.และทีมทำงานที่จะเข้ามาทำงานในอนาคตจะต้องเจอปัญหานี้แน่ๆ” –  วิช กรวิช ขวัญอารีย์

ทางเท้าสุดพัง เพราะกทม. ไม่เคยมีแผนการปฏิรูปทางเท้า

ข้อมูลจาก Rocket Media Lab ที่น่าสนใจและสะท้อนให้เห็นว่าทำไมทางเท้าในพื้นที่กทม. จึงมีปัญหาและไม่ตอบโจทย์ต่อคนใช้เลย นั่นก็เพราะกรุงเทพฯไม่เคยมีแผนการปฏิรูปทางเท้าเลย เพิ่งมามีแผนเล็ก ๆ สมัยอดีตผู้ว่าฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ซึ่งคุณตั้มให้ความเห็นว่า ทั้ง ๆ ที่ทางเท้าเกิดขึ้นมาพร้อมกับถนนแต่กทม.ไม่เคยมีแผนดูแลพัฒนาทางเท้า สังเกตได้จากงบประมาณการพัฒนาทางเท้าที่มีน้อยมาก ๆ

“วิธีการซ่อมทางเท้าหรือสะพานลอย มันเป็นการทำงานภายใต้สำนักงานเขตนั้น ๆ และทั้งปีสำนักงานเขตมีเงินซ่อมให้อยู่แค่ 2 ล้านบาท และด้วยระบบราชการจะไปซ่อมเลยก็ไม่ได้ เพราะไม่มีพนักงาน ต้องยื่นเสนอโครงการการซ่อมแซมให้บริษัทรับประมูลไป มันถึงซ่อมช้า ถ้าคุณไม่รู้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน เช่น กระบวนการที่ซับซ้อน แล้วไม่แก้ปัญหาตรงนั้น กทม. ก็ไม่มีทางเป็นเมืองในฝันได้”  – สันติชัย อาภรณ์ศรี 

เมื่อรัฐงง ประชาชนจึงลงมือทำเอง

ทั้ง Rocket Media Lab และ สาธารณะ เป็นกลุ่มคนธรรมดาที่อยากแก้ปัญหาเรื่องขนส่งสาธารณะในกทม. ทั้งคู่ อย่าง Rocket Media Lab จะโฟกัสไปที่รถเมล์ ในกรุงเทพมีรถเมล์ทั้งหมดกี่สายแต่ละสายวิ่งเส้นไหนบ้าง แต่ละเส้นทางอยู่ในเขตใดบ้าง เพื่อสำรวจการเข้าถึงและปัญหาการเข้าไม่ถึงว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ส่วนกลุ่มสาธารณะก็จะมีเพื่อน ๆ กลุ่มย่อยชื่อ MAYDAY! เป็นกลุ่มที่สนใจแก้ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะด้วยการเอาข้อมูล (Data) และความคิดสร้างสรรค์มาช่วย การรวมกลุ่มของคนเหล่านี้เกิดจากความตั้งใจที่อยากเห็นคนเลือกใช้ขนส่งสาธารณะเป็นตัวเลือกแรกในการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ โดยไม่ต้องกังวลใจ

แนวทางที่อยากเห็นรัฐแก้ไขเรื่องขนส่งสาธารณะ

จากเดิมที่รัฐแก้ปัญหาโดยให้ความสำคัญกับรถส่วนบุคคล เพิ่มช่องจราจรบนถนน สร้างทางยกระดับ แก้ปัญหาไฟจราจร ก็อยากเห็นการแก้ปัญหาการเดินทางในมุมมองใหม่ คือ

  1. ทำอย่างไรให้คนใช้พื้นที่บนถนนและขนส่งสาธารณะได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น
  2. ออกแบบและวางแผนการพัฒนาผังเมืองคมนาคม โดยคิดจากหลากหลายวิธีการเดินทางของคนจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่วิธีการเดินทางเพียงวิธีเดียว
  3. รณรงค์ให้มีการใช้ขนส่งทางเลือก เช่น จักรยาน ให้เป็นเส้นทางหลักมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การใช้รถบนท้องถนนลดลง
  4. ปัจจุบันหลายประเทศมีการแก้ปัญหาโดยลดพื้นที่ของรถส่วนบุคคลลงและเพิ่มช่องทางการจราจรของรถขนส่งสาธารณะ เช่น bus lanes หรือ brt บางประเทศเพิ่มช่องทางการจราจรของจักรยาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งาน

“อยากให้กทม. มี Open Data ของตัวเองในแพลตฟอร์มเดียว หมายถึงการที่กทม. จะมีข้อมูลทุกอย่างที่ประชาชนเข้าถึงได้และประชาชนจะนำเอาข้อมูลนั้นมาสร้างเส้นทางการเดินทางของตัวเองได้” – วิช กรวิช ขวัญอารีย์ 

ยืนงงในดงฝุ่น (PM2.5) กทม. แก้ปัญหามลพิษทางอากาศไม่ตรงจุด

ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับปริมาณฝุ่น PM2.5 ในแต่ละเขตของกทม. ที่ Rocket Media Lab ตั้งข้อสังเกตไว้คือ เขตวังทองหลางเป็นเขตที่มีฝุ่น PM2.5 สูงสุดแต่วังทองหลางไม่ใช่เขตรถติด และเป็นเขตที่ไม่ได้มีประชากรหนาแน่นขนาดนั้น แสดงว่ามันต้องมีแหล่งกำเนิดของฝุ่นที่ไม่ใช่แค่จากการจราจร มีการชวนนักวิชาการผังเมืองมาช่วยวิเคราะห์หาคำตอบ เพราะเราสงสัยว่าผังเมืองด้านบนและลมมันมีส่วนกับ PM2.5 หรือไม่? อย่างไรก็ตามเราเห็นตรงกันว่ากทม. ไม่ได้มีความจริงจังที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ แม้ว่าการทุ่มงบไปซ่อมบำรุงเครื่องวัดฝุ่นก็เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ยังไม่มีนโยบายที่จะไปแก้ปัญหาที่ต้นทาง มีแค่การรายงานผลว่าวันนี้มีฝุ่น PM2.5 เท่าไร

Traffic causing Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
© Chanklang Kanthong / Greenpeace

ปัญหาตรงนี้ คุณวิช กรวิช จากสาธารณะ ให้ความเห็นว่า รัฐไม่มีข้อมูลอะไรเลย ถ้ารัฐมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าแหล่งกำเนิดมาจากไหนบ้างเราก็สามารถกำหนดนโยบายการจัดการที่มันตรงเป้าได้ ส่วนคุณตั้ม สันติชัย เสริมว่า กทม. ควรมีมาตรการ เช่น ตั้งเป้าหมายของตัวเองว่าจะลดฝุ่นได้เท่าไรในแต่ละปี แล้วถ้าทำไม่ได้ กทม. จะต้องแก้ยังไง ต้องมีภาระรับผิด (accountability) อย่างไร

“รัฐไม่มีข้อมูลอะไรเลย ถ้ารัฐมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าแหล่งกำเนิดมาจากไหนบ้างเราก็สามารถกำหนดนโยบายการจัดการที่มันตรงเป้าได้”-  วิช กรวิช ขวัญอารีย์

‘เมืองปลอดฝุ่น’ จะเป็นจริงได้ไหม?

แม้ปัญหา PM 2.5 อาจจะเป็นปัญหาที่ใหญ่เกินกรอบอำนาจของผู้ว่าฯกทม.​ แต่กรีนพีซมองเห็นโอกาสที่ว่า ปัญหานี้แก้ได้โดยเริ่มต้นที่กทม.

กรีนพีซ เสนอข้อเสนอเรื่องการจัดการฝุ่นในกรุงเทพฯ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. สามารถนำไปใช้เป็นแนวนโยบาย เพื่ออากาศที่ดีกว่าเดิมได้ คือ

  • ร่วมกับเครือข่ายและประชาชนจัดทำแผนติดตามการทำงานของกทม.
  • นำร่องเขตพื้นที่ปลอดฝุ่น (Sandbox) พัฒนาโครงข่ายการเดินทางปลอดมลพิษ พัฒนาพื้นที่สีเขียว ห้ามไม่ให้พื้นที่ดังกล่าวมีแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและรถยนต์ดีเซล
  • ใช้ค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก(WHO) เพื่อกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
  • ทำ Open Data เชื่อมข้อมูลภูมิอากาศแหล่งต่างๆให้แสดงผลแบบ real time และเปิดเป็นข้อมูลสาธารณะ
  • บังคับใช้ผังเมือง (urban planning) อย่างจริงจังสําหรับอาคารที่กําลังจะสร้างใหม่ เพื่อลดปัญหาการสะสมมลพิษทางอากาศในระยะยาว 
Air Pollution Protest in Bangkok. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
ในปี 2563 นักศึกษา บุคคลทั่วไปและเครือข่ายร่วมกับกรีนพีซ จัดกิจกรรม “พอกันที ขออากาศดีคืนมา” เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย © Wason Wanichakorn / Greenpeace

อยากบอกอะไรกับผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

  • อยากให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อที่เราจะได้นำมาปรับใช้ เช่นข้อมูลเรื่องการเดินทาง รวมถึงการอัพเดทแบบเรียลไทม์ ให้ประชาชนได้รู้และแสดงความคิดเห็น เป็นการสื่อสารสองทางเพื่อให้รัฐเอากลับไปพัฒนางานของตัวเอง
  • อยากให้กทม. แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ตรงจุดมากขึ้น หยุดการทุ่มงบประมาณไปในส่วนที่ไม่จำเป็น เช่น การจัดการขยะในกทม. ซึ่งควรจะต้องจัดการให้ดีกว่าเดิม ไม่ใช่การนำขยะออกจากพื้นที่แล้วไปทิ้งที่จังหวัดอื่น

หลังจาก 22 พฤษภาคม แม้ว่าเราจะได้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่านี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่มันคือจุดเริ่มต้นที่พวกเราจะต้องช่วยกันจับตาดูต่อไปว่า ผู้ว่าฯ กทม. จะทำงานตามนโยบายที่เคยให้ไว้กับประชาชนหรือไม่ โดยเฉพาะมาตรการการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในกรุงเทพมหานคร