โดยสรุป

เมืองชายฝั่งทั่วเอเชียกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมที่มากขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและพายุโซนร้อนที่เข้มข้นมากขึ้น คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(IPCC) เตือนว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ระหว่าง 0.43-0.84 เมตรภายในปี พ.ศ.2643 (IPCC, 2019) ขณะเดียวกัน ตลอดศตวรรษที่ 21 พายุมีความเร็วลมรุนแรงซึ่งสร้างความเสียหายมากขึ้น คลื่นพายุซัดฝั่งที่สูงขึ้น และปริมาณน้ำฝนที่มีสภาวะสุดขีดมากกว่าในอดีต (Knutson et al., 2020)

เราเลือกเมือง 7 แห่งในเอเชียที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและตั้งอยู่บนชายฝั่งหรือใกล้ชายฝั่งเพื่อวิเคราะห์ถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากน้ำท่วมชายฝั่ง(coastal flooding) ในปี พ.ศ.2573 ตามภาพฉายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นไปตามปกติ (business as usual) การวิเคราะห์ของเราชี้ให้เห็นว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมืองต่างๆ ที่อยู่ในรายงานนี้ ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ เว้นแต่เราจะลงมือทำในทันทีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างรวดเร็ว

ปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงเป้าหมายภายใต้แผนที่นำทางก๊าซเรือนกระจกของประเทศ(nationally determined contribution targets) นั้นไม่เพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากน้ำท่วมชายฝั่งแบบสภาวะสุดขีด รัฐบาลและบรรษัทต่างๆ ต้องลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมให้เร็วขึ้น เช่น ยุติการสนับสนุนทางการเงินให้กับอุตสาหกรรมถ่านหินและเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เพื่อป้องกันมิให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มมากไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

ระเบียบวิธีการวิเคราะห์

การวิเคราะห์นี้ใช้ข้อมูลการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในสภาวะสุดขีด ข้อมูลประชากร และ GDP เพื่อคำนวณผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลของเมือง 7 แห่งในเอเชีย โดยถือเป็นหนึ่งในการวิเคราะห์ครั้งแรกที่ใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความละเอียดสูงในการระบุถึงพื้นที่ของเมืองที่อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และขอบเขตของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

แหล่งข้อมูล:

  • การคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเชิงพื้นที่และข้อมูลน้ำท่วมชายฝั่งมาจาก Climate Central (Kulp and Strauss, 2019)
  • ชุดข้อมูลความหนาแน่นของประชากรทั่วโลกเชิงพื้นที่มาจากศูนย์ข้อมูลและการประยุกต์ใช้งานทางเศรษฐกิจและสังคมของสำนักงานการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา(NASA) ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์นี้เป็นข้อมูลล่าสุดในปี พ.ศ.2563
  • ชุดข้อมูลระดับโลกเชิงพื้นที่ของ GDP (คิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อคิดตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ(purchasing power parity หรือ PPP) จัดทำโดย Dr. Matti Kummu ซึ่งเคยตีพิมพ์บทความซึ่งใช้ระเบียบวิธีวิเคราะห์แบบเดียวกัน(Kummu et al., 2018) โดยเป็นฐานข้อมูลในปี พ.ศ.2562

ข้อค้นพบหลัก

  • ภายในปี พ.ศ.2573 มากกว่า 96% ของพื้นที่กรุงเทพฯ อาจถูกน้ำท่วมหากเกิดอุทกภัยคาบ 10 ปี รวมถึงพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีความหนาแน่นสูงใจกลางเมือง
  • กรุงจาการ์ตาเผชิญกับภัยคุกคามสองประการ ทั้งจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและแผ่นดินทรุด ราว 17% ของพื้นที่ทั้งหมดของจาการ์ตาซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ในปี 2573 อาจถูกน้ำท่วมภายใต้สถานการณ์อุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี  ซึ่งจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 6.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
  • พื้นที่ลุ่มต่ำทางตะวันออกของกรุงโตเกียว รวมถึงเขตโคโตะ 5 (สุมิดะ โคโตะ อาดาจิ คัตสึชิกะ และเอโดงาวะ) มีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 68,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อาจจะเกิดขี้นจากน้ำท่วมชายฝั่งภายในปี 2573 หรือคิดเป็น 10% ของ GDP รวมของกรุงโตเกียว
  • ในกรุงไทเป สถานีกลางไทเปซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญที่สุดทางตอนเหนือของไต้หวัน มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเช่นเดียวกับเขตต้าถงอันเก่าแก่ คิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 24% ของ GDP รวมของกรุงไทเป
  • เกือบ 87% ของพื้นที่กรุงมะนิลาเป็นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมซึ่งหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยในคาบ 10 ปี ที่จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ.2573 ผู้คนมากกว่า 1.54 ล้านคนอาจได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ารวม 3.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
เมืองพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ
 (ตารางกิโลเมตร)
ความเสียหายทางเศรษฐกิจวัดจาก GDP(PPP)* (หน่วย: พันล้านเหรียญสหรัฐ พ.ศ.2562)จำนวนประชากรที่จะได้รับผลกระทบ(ล้านคน)
กรุงเทพมหานคร1512.94512.2810.45
ฮ่องกง27.362.240.09
กรุงโตเกียว79.2868.190.83
กรุงจาการ์ตา109.3868.201.80
กรุงโซล16.524.690.13
กรุงไทเป46.9329.640.43
กรุงมะนิลา37.2939.241.54
ตารางแสดงการคาดการณ์ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมต่อเศรษฐกิจ(วัดจาก GDP-PPP) ประชากรและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบของเมือง 7 แห่งในเอเชีย เรียงลำดับตามขนาดพื้นที่เมือง (หน่วย : ตารางกิโลเมตร) *GDP(PPP) คือ GDP ที่แปลงเป็นดอลลาร์สหรัฐโดยสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อคิดตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (purchasing power parity หรือ PPP)

กรุงเทพฯ

  • ความเปราะบางของเมืองจากการเกิดน้ำท่วมรุนแรงขึ้น และเสี่ยงจมน้ำอันเนื่องมาจากดินอ่อน การขยายตัวของความเป็นเมือง และการทรุดตัวของแผ่นดิน รวมถึงอิทธิพลของน้ำเหนือ น้ำฝนและน้ำทะเล
  • มากกว่า 96% ของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี ที่จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ.2573 ตามการวิเคราะห์โดยใช้ภาพฉายอนาคต RCP8.5
  • สัปปายะสภาสถาน รัฐสภาแห่งใหม่ของไทยเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม
  • ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม 512,280 ล้านเหรียญสหรัฐและประชากร 10.45 ล้านคนในกรุงเทพฯ อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่งในปี พ.ศ.2573
  • ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็น 96% ของ GDP(PPP) รวมของกรุงเทพฯ 

ฮ่องกง

  • จำนวนเฉลี่ยของพายุหมุนเขตร้อนที่ส่งผลกระทบต่อฮ่องกงอยู่ระหว่าง 5-7 ลูกต่อปี พายุหมุนเขตร้อนทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง และเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดในอดีตทำให้ระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำขึ้นน้ำลงมากกว่า 3 เมตร (Lee et al., 2010)
  • ประมาณ 2% ของพื้นที่แผ่นดินของฮ่องกงเป็นพื้นที่ต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี ที่จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ.2573 ตามการวิเคราะห์โดยใช้ภาพฉายอนาคต RCP8.5
  • พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฮ่องกง รวมถึงเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ Mai Po ส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลนและพื้นที่ชุ่มน้ำ มีระดับต่ำและเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ตามเส้นทางของนกอพยพเอเชีย-ออสเตรเลียตะวันออก เขตอนุรักษ์ธรรมชาติ Mai Po เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกน้ำในฤดูหนาวและนกน้ำกว่า 80,000 ตัว (Wikramanayake et al., 2020)
  • ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม 2,240 ล้านเหรียญสหรัฐและผู้คนมากถึง 90,000 คนในฮ่องกงอาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่งในปี 2573
  • ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็น 0.4% ของ GDP(PPP) รวมของฮ่องกง 

กรุงโตเกียว

  • ประมาณ 13% ของพื้นที่กรุงโตเกียว เป็นพื้นที่ต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี ที่จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ.2573 ตามการวิเคราะห์โดยใช้ภาพฉายอนาคต RCP8.5
  • พื้นที่ทางตะวันออกของโตเกียว โดยเฉพาะพื้นที่ระหว่างแม่น้ำอาราคาวะและแม่น้ำเอโดงาวะ อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่งในปี 2573 ภายใต้ภาพฉายอนาคต RCP8.5 ในเมืองเอโดงาวะ (เอโดงาวะ-คุ) พื้นที่ 70% ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล
  • พื้นที่อื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม ได้แก่ สวนสาธารณะ Kasai Rinkai (รวมถึง Tokyo Sea Life Park) ซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นที่ถมทะเล และสวนสาธารณะริมแม่น้ำตามแม่น้ำ Arakawa ซึ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมในการชมดอกซากุระบานในฤดูใบไม้ผลิ
  • ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม 68,190 ล้านเหรียญสหรัฐและมากถึง 0.83 ล้านคนอาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่งในปี 2573
  • ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็น 10% ของ GDP(PPP) รวมของกรุงโตเกียว

กรุงจาการ์ต้า

  • ในแต่ละปี กรุงจาการ์ตาประสบภัยพิบัติจากอุทกภัยหลังฝนตกหนัก แม่น้ำไหลเชี่ยว และกระแสน้ำขึ้นสูง (Surya et al., 2019) นอกจากนี้ การระบายน้ำใต้ดินที่มากเกินไปมีส่วนทำให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดิน ซึ่งโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ถึง 15 เซนติเมตรในแต่ละปี (Abidin et al., 2011) บางพื้นที่ของจาการ์ตาจมลงไประหว่าง 3 ถึง 4.1 เมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายฝั่งทะเล (Rahman et al., 2018)
  • เกือบ 17% ของกรุงจาการ์ตาเป็นพื้นที่ต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี ที่จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ.2573 ตามการวิเคราะห์โดยใช้ภาพฉายอนาคต RCP8.5
  • ทางเหนือของกรุงจาการ์ตามีความเสี่ยงจากน้ำท่วมมากที่สุดจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำ
  • พื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้แก่ อาคารที่พักอาศัยและอาคารพาณิชย์ อนุสาวรีย์แห่งชาติ และศาลาว่าการกรุงจาการ์ตา และห้างสรรพสินค้าตามแนวชายฝั่ง
  • ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม 68,200 ล้านเหรียญสหรัฐและมากกว่า 1.80 ล้านคนอาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่งในปี 2573
  • ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็น 18% ของ GDP(PPP) รวมของกรุงจาการ์ตา

กรุงโซล

  • ประมาณ 3% ของกรุงโซลเป็นพื้นที่ต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี ที่จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ.2573 ตามการวิเคราะห์โดยใช้ภาพฉายอนาคต RCP8.5
  • พื้นที่ส่วนใหญ่ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอยู่ในส่วนตะวันตกของกรุงโซล ส่วนใหญ่เป็นเขต Gangseo-gu บนฝั่งทางใต้ของแม่น้ำ Han และสองฝั่งแม่น้ำ Anyangcheon
  • ขอบด้านตะวันตกเฉียงเหนือของสนามบินนานาชาติกิมโปอาจถูกน้ำท่วมเล็กน้อย อุทยานนิเวศวิทยาพื้นที่ชุ่มน้ำคังซออาจเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม อุทยานแห่งนี้มีพื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งเก็บน้ำ อุดมไปด้วยพืชน้ำและสัตว์ป่าและเป็นสถานที่ดูนกยอดนิยมโดยเฉพาะนกอพยพหลายชนิด(Visitseoul, 2021)
  • ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม 4,690 ล้านเหรียญสหรัฐและประชากร 0.13 ล้านคนอาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่งในปี พ.ศ.2573
  • ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็น 1% ของ GDP(PPP) รวมของกรุงโซล

กรุงไทเป

  • ตามบันทึกพายุไต้ฝุ่นในศตวรรษที่ผ่านมาจาก Central Weather Bureau (CWB)ในไต้หวัน โดยเฉลี่ย มีไต้ฝุ่น 4 ลูกจะขึ้นฝั่งที่ไต้หวันในแต่ละปี ความแรงและขนาดของพายุไต้ฝุ่นเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา (Hsu et al., 2017 ). ไต้ฝุ่นมักก่อให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงตามพื้นที่ชายฝั่งของไต้หวัน (Hsu et al., 2014)
  • ประมาณ 17% ของกรุงไทเปเป็นพื้นที่ต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี ที่จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ.2573 ตามการวิเคราะห์โดยใช้ภาพฉายอนาคต RCP8.5
  • ทางตะวันตกของกรุงไทเป โดยเฉพาะบริเวณริมแม่น้ำตั้นสุ่ย จะได้รับผลกระทบมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ของเมือง หากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น
  • เขตประวัติศาสตร์ต้าถงและสถานีกลางไทเปอาจถูกน้ำท่วม
  • ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม 29,640 ล้านเหรียญสหรัฐ และประชาชนมากถึง 430,000 คนในกรุงไทเป อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่งในปี 2573
  • ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็น 24% ของ GDP(PPP) รวมของกรุงไทเป

กรุงมะนิลา

  • ชายฝั่งทะเลบางแห่งของกรุงมะนิลาเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีความสูงน้อยกว่าสองถึงสามเมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (Morin et al., 2016)
  • ในอ่าวมะนิลา ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 13.24 มม. ต่อปี (Tseng, 2014)
  • กรุงมะนิลาทรุดตัวลง 10 ซม.ต่อปี (Kramer, 2018) อันเนื่องมาจากการใช้น้ำบาดาลมากเกินไป (Clemente et al., 2001)
  • เกือบ 87% ของกรุงมะนิลาเป็นพื้นที่ต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี ที่จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ.2573 ตามการวิเคราะห์โดยใช้ภาพฉายอนาคต RCP8.5
  • สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น Binondo, Intramuros, Malacanang Palace และ Rizal Monument ใน Luneta Park อาจถูกน้ำท่วม Luneta ถือเป็นสวนสาธารณะในกรุงมะนิลาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่านานาชนิด รวมถึงนกนานาชนิดและพรรณไม้กว่า 3,424 ต้น (Gonzales & Magnaye, 2017)
  • ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม 39,240 ล้านเหรียญสหรัฐและประชากร 1.54 ล้านคนอาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่งในปี 2573
  • ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็น 87% ของ GDP(PPP) รวมของกรุงมะนิลา

*RCP8.5 เป็นหนึ่งใน 4 ของภาพฉายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบใหม่(Representative Concentration Pathway) หมายถึง สถานการณ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูงโดยที่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกช่วงปลายศตวรรษที่ 21 จะอยู่ระหว่าง 2.6-4.8 องศาเซลเซียส