สารเคมีอันตรายปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้กลายมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้งหลังเหตุการณ์อุบัติภัยโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล แต่หลายคนได้ยินข่าวแล้วว่างบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมของในปี 2565 นั้นถูกหั่นลงเกือบครึ่ง โดยคิดเป็นประมาณร้อยละ 0.3 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด จึงอาจเกิดคำถามว่างบประมาณที่มีจะเพียงพอและสมเหตุสมผลสำหรับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่กลายเป็นวิกฤตเพิ่มขึ้นทุกวันหรือเปล่า?

วันนี้เราจะลองนำงบการสิ่งแวดล้อมประจำปี 2565 ที่ได้ผ่านมติของสภามากางดูกันชัด ๆ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราเอางบสิ่งแวดล้อมมาเปรียบเทียบกับสถิติมลพิษทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และเมื่อนำงบสิ่งแวดล้อมไปเทียบกับงบด้านอื่นแล้วจะออกมาเป็นยังไงนะ

อ่านแล้วมาลองแชร์กันค่ะ คุณคิดว่างบประมาณรายจ่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่ลดลง สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงของประเทศไทยทุกวันนี้หรือเปล่า?

เริ่มที่ลองพล็อตกราฟง่าย ๆ โดยการนำงบประมาณรายจ่ายจำแนกตามลักษณะงานและลักษณะเศรษฐกิจ

ในหมวดการสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยเป็นเวลาย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 จะพบว่างบประมาณมีการขึ้นลงอย่างไม่คงที่ โดยจะเห็นว่างบสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นทีละเล็กน้อยตั้งแต่ปี 2561 โดยในปี 2564 ได้รับงบ 16,143 ล้านบาท แต่พอถึงปี 2565 กลับได้รับงบ 8,533.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงค่อนข้างมาก และน้อยที่สุดในรอบ 5 ปี ซึ่งน่าจะสวนทางกับสิ่งที่เราต้องประสบพบเจออยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษในประเทศ และประเด็นระดับโลกอย่างวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

งบการสิ่งแวดล้อมร้อยละ 0.3 ของงบประมาณรายจ่าย จะต้องใช้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ การแปรสภาพ และการกำจัด การจัดการสิ่งปฏิกูล และน้ำโสโครกในท่อระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย การจัดการและการก่อสร้างระบบท่อ ระบายน้ำ รางน้ำ การป้องกันสิ่งแวดล้อมทางอากาศและภูมิอากาศ การป้องกันพื้นดินและน้ำ บริเวณผิวดิน การลดมลภาวะทางเสียง การป้องกันกัมมันตภาพรังสี การก่อสร้างเขื่อนหรือรั้วกั้นเสียง มาตรการลดมลภาวะทางน้ำ การรักษาระบบนิเวศและภูมิทัศน์ ตลอดจนการการวิจัยและการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

จากการรวบรวมปริมาณการเกิดขยะพลาสติกย้อนหลัง จะเห็นได้ชัดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี โดยเฉพาะในปี 2563 ที่กราฟสูงขึ้นกว่าปีก่อน ๆ อย่างเห็นได้ชัด ข้อสังเกตคือพบว่ามีปริมาณขยะพลาสติกเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ประมาณ 63,000 ตัน/วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 15 ซึ่งมากกว่าขยะประเภทอื่น ๆ โดยกรมควบคุมมลพิษระบุว่ามาตรการกำหนดให้ปฏิบัติงาน Work From Home ทำให้ปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single use plastic) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีการใช้บริการสั่งซื้อสินค้าและอาหารผ่านระบบออนไลน์  

ในสถานการณ์เช่นนี้ แม้จะกล่าวกันว่า พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย แต่เราต้องไม่ลืมว่า ขยะพลาสติกคือปัญหามลพิษ(plastic pollution) ไม่ใช่ปัญหาขยะ และเราต้องเน้นการแก้ปัญหาตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์พลาสติกตั้งแต่การผลิตไปจนถึงเมื่อพลาสติกหมดอายุการใช้งาน กรีนพีซจึงเสนอหลักการ “การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต” (EPR) ว่าจะต้องเป็นหลักการสำคัญที่มีผลบังคับใช้ทางกฏหมายในการจัดการและป้องกันมลพิษพลาสติกของประเทศไทย

เราเชื่อว่าหลายคนคงได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และนี่คือข้อมูลดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIRS รายวัน ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 พฤษภาคม ถ้าลองมาติดตามดูจุดความร้อนซึ่งบ่งบอกถึงสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันของประเทศไทย ก็จะพบว่ากราฟพุ่งขึ้นในอัตราที่สูงอย่างเห็นได้ชัด โดยเพิ่มเป็นเกือบเท่าตัวในปี 2562 

ในปี 2563 ที่ผ่านมาก็พบจุดความร้อนสะสม จํานวนทั้งสิ้น 205,288 จุด โดย 10 จังหวัดที่มีจํานวนจุดความร้อนสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ลําปาง น่าน เชียงราย อุทัยธานี เพชรบูรณ์ และกําแพงเพชร ซึ่งนั่นหมายความว่าสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควันก็ยังคงเป็นเรื่องที่เราต้องจับตามองและต้องได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

เราไปหาสถิติเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับปัญหามลพิษรวมทั้งประเทศจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยข้อมูลที่หาได้ล่าสุดคือปี 2562 จะเห็นได้ว่ามีจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องราวที่ถูกร้องเรียนมีตั้งแต่ เสียงดังและความสั่นสะเทือน กลิ่นเหม็น มลพิษทางอากาศ มูลฝอย สิ่งปฏิกูล/ของเสียอันตราย และน้ำเสีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายังมีเรื่องร้องเรียนของประชาชนเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี และเกี่ยวข้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน

ในปีนี้ซึ่งผ่านมาเพียงครึ่งปี เราก็ได้ยินข่าวอุบัติภัยอีกมากมาย เช่น เหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งใหญ่ของโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล ดังนั้นก็อาจประเมินคร่าว ๆ ได้ว่าปีนี้ความเดือดร้อนของประชาชนก็คงยังไม่ลดลง

ชวนมาดูหมวดคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งกันบ้าง กรมควบคุมมลพิษได้แบ่งเกณฑ์ออกเป็นเกณฑ์ดีมาก ดี พอใช้ เสื่อมโทรม และเสื่อมโทรมมาก เราลองนำเกณฑ์เสื่อมโทรมและเสื่อมโทรมมากมาบวกกันแล้วพล็อตในกราฟนี้ ก็จะเห็นว่าคุณภาพน้ำในเกณฑ์เสื่อมโทรมมีร้อยละที่เพิ่มขึ้น แม้ตามรายงานจะระบุว่าคุณภาพน้ำทะเลในภาพรวมมีคุณภาพน้ำดีขึ้นก็ตาม

ยังมีอีกประเด็นที่น่าจับตามองจากรายงานฉบับใหม่ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออก ซึ่งระบุว่า ภายในปี พ.ศ.2573 มากกว่า 96% ของพื้นที่กรุงเทพฯ อาจถูกน้ำท่วมหากเกิดอุทกภัยคาบ 10 ปี รวมถึงพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีความหนาแน่นสูงใจกลางเมือง และหากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง เราจะมีงบประมาณและการบริหารที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับวิกฤตนี้หรือไม่?

เอาล่ะ พอดูสถิติด้านสิ่งแวดล้อมกันไปแล้ว เราชวนมาลองนำงบประมาณด้านอื่นของประเทศไทยมาเปรียบเทียบกันดูดีกว่า เห็นสีเขียวจิ๋ว ๆ ด้านล่างนั่นหรือเปล่า? สีเขียวคืองบประมาณรายจ่ายในหมวดการสิ่งแวดล้อมย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 2560 ส่วนสีแดงคืองบการป้องกันประเทศ สีเหลืองคืองบการสาธารณสุข สีม่วงคืองบการศึกษา ซึ่งเห็นได้ชัดตัวเลขของงบการสิ่งแวดล้อมต่างกับงบอื่นอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว โดยในปี 2565 ยังลดลงอีกและคิดเป็นประมาณเพียงร้อยละ 0.3 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด 

อ่านแล้วมาลองแชร์กันค่ะ คุณคิดว่างบประมาณรายจ่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่ลดลง สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงของประเทศไทยทุกวันนี้หรือเปล่า?

#งบประมาณ65

ที่มา

https://bbstore.bb.go.th/cms/1620963779_8188.pdf

https://www.pcd.go.th/pcd_news/11873/

http://fire.gistda.or.th/fire_report/Fire_2563.pdf

http://www.tei.or.th/th/highlight_detail.php?event_id=783