เราเกี่ยวข้องอย่างไรกับการทำลายป่าฝนเขตร้อน

ช็อกโกแลตที่เรากิน ยาสีฟันที่เราใช้ ต่างก็มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนผสม หากวันนี้มีโอกาสได้ซื้อขนมหรือสินค้าอุปโภคตามห้างร้าน ลองอ่านฉลากข้างถุงแล้วเราจะพบว่าสินค้าอุปโภคบริโภคหลายๆชนิดนั้นมีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนผสมอยู่ ซึ่งแบรนด์สินค้าต่างๆ ซื้อน้ำมันปาล์มมาจากบริษัทวิลมาร์ และกลุ่มผู้ค้าอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มที่มีส่วนทำลายพื้นที่ป่าพรุซึ่งเป็นหัวใจของระบบนิเวศป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซีย

นักกิจกรรมกรีนพีซกางแบนเนอร์ผืนยักษ์ที่มีข้อความว่า “การทำลายป่า”บริเวณป่าที่ถูกบริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม PT Multi Persada Gatramegah (PT MPG) และส่งออกน้ำมันปาล์มให้กับบริษัท เช่น P&G กรีนพีซเรียกร้องให้ P&G หยุดการทำลายป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซียและให้คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับการรับซื้อน้ำมันปาล์มโดยไม่ทำลายป่า

แม้ว่าวิลมาร์และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มได้ประกาศนโยบายยุติการทำลายป่าไม้และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอีก แต่รายงานการวิเคราะห์ของกรีนพีซในเดือนกันยายน 2561 ระบุว่า วิลมาร์ยังคงใช้น้ำมันปาล์มจากกลุ่มที่ทำลายป่าฝนเขตร้อนและเข้ายึดครองที่ดินของชาวบ้านอยู่

แม้ว่า แบรนด์สินค้ายอดนิยม อาทิ ยูนิลีเวอร์ เนสท์เล่ คอลเกต-ปาล์มโอลีฟและมอนเดลีซ ให้คำมั่นสัญญากับลูกค้าว่าจะไม่มีการใช้น้ำมันปาล์มที่มาจากการทำลายป่าเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ของตนนั้น แต่ยังคงมีการปนเปื้อนน้ำมันปาล์มที่ได้จากกลุ่มบริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์มที่มีส่วนในการทำลายป่าฝนเขตร้อนและลักลอบใช้แรงงานเด็กและคนในชุมชนอยู่ในผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นปัญหาที่แบรนด์ต้องแก้ไขโดยด่วนโดยหยุดรับซื้อน้ำมันปาล์มจากบริษัทเหล่านี้

อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในป่าฝนเขตร้อนอินโดนีเซียนี้ส่งผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชนและก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศมาตั้งแต่ต้นทาง แต่ผู้บริโภคที่อยู่ปลายทางแบบเราสามารถใช้เสียงเพื่อเรียกร้องการผลิตที่ยั่งยืนและเป็นธรรมจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มได้

มาร่วมกันส่ง “เสียง” ไปยังแบรนด์สินค้าให้ยุติการใช้น้ำมันปาล์มที่มาจากการทำลายป่าฝนเขตร้อน