พลาสติก
มลพิษพลาสติกส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมนักวิทยาศาสตร์พบไมโครพลาสติกในอาหารและเครื่องดื่ม ในดิน ในอากาศที่เราหายใจ และในเลือดของมนุษย์ ซึ่งในปัจจุบัน การแก้ปัญหาพลาสติกมักเน้นไปที่การจัดการขยะปลายทาง และการรณรงค์สร้างจิตสำนึกแก่ผู้บริโภคเท่านั้น
การแก้ปัญหานี้จึงต้องการทั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากรัฐบาล บริษัทและธุรกิจต่างๆ รวมถึงการขยายความรับผิดชอบไปยังผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility หรือ EPR) ที่ครอบคลุมถึงช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์
90%
คือปริมาณพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
100,000 ชีวิต
คือจำนวนสัตว์ทะเลแต่ละปีที่ตายจากการกินพลาสติกเข้าไปและไปรบกวนระบบย่อยอาหารและติดค้างในกระเพาะอาหารและลำไส้
75%
คือเป้าหมายการลดการผลิตพลาสติกทั่วโลกที่กรีนพีซเรียกร้องให้เกิดขึ้นภายในปี 2583
มลพิษพลาสติกกระจายอยู่ทั่วทุกแห่ง
พลาสติกส่วนใหญ่ใช้เวลานานในการย่อยสลาย เราไม่สามารถรู้แน่ชัดว่าใช้ระยะเวลานานแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ คือ ถ้าหากพลาสติกปนเปื้อนเข้าสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะเก็บกวาดให้หมดไป พลาสติกที่เราใช้ หลังจากกลายเป็นขยะแล้ว ก็จะมีปลายทางอยู่ที่หลุมฝังกลบ หรือปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น แม่น้ำ ทะเล เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าก็จะแตกตัวออกมาเป็นพลาสติกขนาดเล็ก หรือไมโครพลาสติก ที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
งานรณรงค์ของกรีนพีซเพื่อยุติมลพิษพลาสติก
กรีนพีซ ประเทศไทย รณรงค์เพื่อยุติมลพิษพลาสติก
กรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องและผลักดันกฎหมายการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนบนหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)
เราต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนสนธิสัญญาพลาสติกระดับโลก (Global Plastic Treaty) ที่มุ่งไปสู่การลดการผลิตและใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมทั้งไม่ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจพลังงานจากเชื้อเพลิงขยะพลาสติก และการอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า รวมถึงการรีไซเคิลพลาสติกเชิงเคมี
นอกจากนี้ รัฐต้องรับรองว่าชุมชนท้องถิ่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มแรงงาน กลุ่มคนเก็บขยะ ซึ่งได้รับผลกระทบจากขั้นตอนใด ๆ ก็ตามในกระบวนการผลิตพลาสติกจะมีส่วนร่วมในการออกแบบและได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจที่สามารถฟื้นฟูได้