ความสำเร็จในงานรณรงค์
กรีนพีซทำงานรณรงค์ขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลกของเรา
พ.ศ. 2567
- 14 กุมภาพันธ์ – กรีนพีซ ประเทศไทยร่วมกับภาคีเครือข่าย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ยื่นรายชื่อประชาชน 12,165 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (ร่างกฎหมาย PRTR) ให้กับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่สัปปายะสภาสถาน และขอให้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน พิจารณาผ่านร่างกฎหมาย เพื่อเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
กฎหมาย PRTR คือ สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน (Community Right-to-Know) จะทำให้ประชาชนรู้ทั้งชนิดและปริมาณสารเคมีที่ปล่อยออกมา และยังทำให้รัฐกำกับและควบคุมการปล่อยมลพิษตั้งแต่แหล่งกำเนิด ซึ่งรวมถึงการกำหนดประเภทสารมลพิษหรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูลโดยให้ฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดเหตุอุบัติภัยสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และประชาชนสามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบ ป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้
รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน ด้วยการจัดสรรงบประมาณดูแลสุขภาพของประชาชนทุกคน กฎหมาย PRTR คือ สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน (Community Right-to-Know) ที่กำหนดให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของสารเคมีหรือมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หากประเทศไทยมีกฎหมาย PRTR จะช่วยให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลมลพิษ ช่วยกันติดตามตรวจสอบ ไปจนถึงจัดการเบื้องต้นกับปัญหามลพิษที่อยู่ใกล้ตัวเองได้
การรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ต่อรัฐสภา เป็นหนึ่งในการรณรงค์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายระดับประเทศและถือเป็นก้าวสำคัญที่จะยกระดับสิทธิประชาชนเพื่อให้พวกเราได้มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี - 22 เมษายน – นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศผลักดัน ‘กรุงเทพมหานคร’ ให้เป็น ‘เมืองหลวงแห่งโซลาร์เซลล์’ จากการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2564-2573 ครั้งที่ 1/2567 โดยมีการนับถอยหลังถึงปี 2573 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตัน
ความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจาก กรีนพีซ เข้าพบผู้ว่าฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 เพื่อนำเสนอนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนให้อาคารสํานักงานในกรุงเทพฯ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ผลิตไฟฟ้าจากระบบโซลาร์รูฟท็อปใช้เอง จากการเล็งเห็นศักยภาพของกทม. และความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด
กรีนพีซ จะติดตามการดำเนินงานของแผนการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพราะความสำเร็จในโครงการนี้จะเป็นต้นแบบสำคัญของเมืองพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ให้เกิดขึ้นได้จริงในหลายพื้นที่ของไทย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีความมั่นคงทางพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เกิดการกระจายศูนย์พลังงานอย่างแท้จริงและเป็นธรรม ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าประสงค์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามลำดับ
พ.ศ. 2566
- หลัง มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจเชียงใหม่/ภาคเหนือ และนักกิจกรรมทางสังคม ร่วมเป็นผู้ฟ้องคดีฝุ่น PM2.5 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ที่ฟ้องต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีความล่าช้ากว่าแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ปี 2562 และไม่อาจลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยในวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) หรือเรียกว่า PRTR ภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุด กฎหมาย PRTR จะใช้ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ โดยตรงให้สามารถลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมได้ หัวใจสำคัญของกฎหมายนี้ที่ปฏิบัติกันทั่วโลกคือ การให้เผยแพร่ข้อมูลปริมาณและชนิดของมลพิษจากทุกแหล่งกำเนิดทางเว็บไซต์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าถึงได้ง่าย ตามหลักสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน กฎหมายนี้จะทำให้เกิดฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่รวมทุกประเภทแหล่งกำเนิดมลพิษ ชนิดและปริมาณของมลพิษไว้ที่เดียวกัน ที่ให้ทุกหน่วยงานและประชาชนได้ใช้ประโยชน์
- จากความทุ่มเทของนักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์ นักกิจกรรม และผู้คนทั่วโลกพยายามผลักดันให้นานาชาติร่วมลงนามใน สนธิสัญญาทะเลหลวง (Global Ocean Treaty) เพื่อปกป้องทรัพยากรมหาสมุทรโลกและควบคุมการทำกิจกรรมในมหาสมุทรของมนุษย์ ซึ่งกินพื้นที่เกินครึ่งของโลก ในที่สุด เมื่อ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา ตามเวลาประมาณ 10.00 น ของไทย ที่ประชุม มีการบรรลุข้อตกลงสนธิสัญญาทะเลหลวง ถือเป็นใบเบิกทางที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเขตคุ้มครองในทะเลหลวงจะช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศจากภัยคุกคามของมนุษย์ ทั้งจากประมงทำลายล้าง ไปจนถึงโครงการเหมืองทะเลลึกที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังผลักดันให้เกิด ทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทยเองจะต้องให้สัตยาบันกับสนธิสัญญาฉบับนี้เพื่อฟื้นคืนมหาสมุทรให้กลับไปอุดมสมบูรณ์ดังเดิม เพื่อชีวิตระบบนิเวศที่สำคัญต่อโลกและปกป้องชีวิตผู้คนนับล้านที่พึ่งพิงมหาสมุทร ทั้งนี้ ในการดำเนินงานต่อในอนาคตตามที่กรีนพีซได้รณรงค์และนำเสนอแผนการปกป้องมหาสมุทรโลก 30X30 เรียกร้องให้ปกป้องมหาสมุทรของโลกอย่างน้อยร้อยละ 30 ให้เป็นเขตปกป้องระบบนิเวศทางทะเลที่ปลอดภัยจากการตักตวงประโยชน์ของมนุษย์ เรายังจำเป็นจะต้องรณรงค์ในประเด็นนี้ต่อเพื่อให้เราไปถึงเป้าหมายปกป้องมหาสมุทรให้ได้ “อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด ภายในปี 2573” – อ่านเรื่องราวการรณรงค์ปกป้องมหาสมุทรของกรีนพีซ
พ.ศ. 2565
- กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนผลักดันกระบวนการทางกฎหมายให้หน่วยงานรัฐเร่งรัดการแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยเมื่อ 11 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เห็นชอบการปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศโดยทั่วไป จากค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ที่ค่ามาตรฐานเดิมไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีที่ค่ามาตรฐานเดิม 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปรับเป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2566 และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย และจะสามารถลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอันเนื่องมาจาก PM 2.5 ได้ถึงร้อยละ 31หรือ 9,000 คนต่อปี
- แรงงานประมงข้ามชาติอินโดฯ ประกาศชัยชนะหลังรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายประกันสิทธิและความปลอดภัย อินโดนีเซียประกาศบังคับใช้กฎหมายปกป้องสิทธิและการจ้างงานแรงงานข้ามชาติบนเรือประมง ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) และการละเมิดในอุตสาหกรรมประมง ตั้งแต่ปี 2556 – 2564 สหภาพแรงงานประมงอินโดนีเซียได้รับคำร้องถึงการละเมิดสิทธิมนุษชนต่อแรงงานประมงชาวอินโดนีเซียทั้งหมด 634 ฉบับ ในปี 2564 โดยรายงานที่ร่วมกันจัดทำโดยสหภาพแรงงานประมงอินโดนีเซียและกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าการบังคับใช้แรงงานประกอบด้วย การไม่จ่ายค่าแรง 87% สภาพการทำงานและเป็นอยู่ที่โหดร้าย 82% การหลอกลวง 80% การละเมิดผู้เปราะบาง 67%
- เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินแถลงประกาศชัยชนะ ปกป้องกระบี่จากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินสำเร็จ จากการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ที่ศึกษาโดยมหาวิทยาลัยนิด้า และกระทรวงพลังงานเป็นผู้จัดทำรายงานมีผลการศึกษาออกมาแล้วว่า “กระบี่รอดพ้นจากโครงการถ่านหิน 100 %” (อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากพลังงานหมุนเวียน โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลยังคงถูกเสนอให้เป็นทางเลือกของความมั่นคงทางพลังงานในภาคใต้) ในวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ทางเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จึงถือโอกาสประกาศชัยชนะต่อสาธารณะว่า ด้วยพลังประชาชนทำให้วันนี้ กระบี่และอันดามันปลอดภัยจากถ่านหินแล้ว และกำลังจะมุ่งหน้าเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน 100% ผ่านกิจกรรมที่ชื่อว่า “วันที่กระบี่ไม่มีถ่านหิน” โดยมีตัวแทนจากเครือข่าย นักวิชาการ นักรณรงค์ ร่วมพูดคุยถึงศักยภาพของกระบี่และอันดามันต่อการเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียน กรีนพีซ ประเทศไทย หนึ่งในภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน สรุปการขับเคลื่อนการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ – เทพา ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
พ.ศ. 2564
- หลังจากการรณรงค์ “ขออากาศดีคืนมา (Right to Clean Air)” ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตัวแทนภาคประชาชน 32 คนจากอาชีพต่างๆ ทั้งนักกิจกรรม วินมอเตอร์ไซค์ บุคคลสาธารณะและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในกรุงจาการ์ตาได้ยื่นฟ้องร้องรัฐบาลต่อศาลฐานปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้ประชาชนต้องทนอยู่กับมลพิษทางอากาศที่พุ่งสูงในปี พ.ศ.2562 ในเดือนกันยายน พ.ศ.2564 ศาลได้ตัดสินและสั่งให้ประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่อีก 6คน ต้องแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจังเพื่อการันตีสิทธิของประชาชนที่จะมีสุขภาพที่ดีโดยต้องบังคับใช้กฏหมายควบคุมคุณภาพอากาศอย่างเข้มงวดมากขึ้น การกำหนดค่ามาตรฐานดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศเพื่อคุ้มครองชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะผู้ว่ากรุงจาการ์ตา บันเตินและจาการ์ตาตะวันตกจะต้องแก้ไขให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมในเมืองนั้นให้ดีขึ้น ชัยชนะดังกล่าวนับเป็นชัยชนะก้าวสำคัญของประชาชนชาวอินโดนีเซียเพื่อทวงสิทธิการเข้าถึงอากาศดี
พ.ศ. 2562
- กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านผู้บริโภค ด้านการพัฒนาเด็ก ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน 14 องค์กร จัดตั้งกองทุนแสงอาทิตย์ (Thailand Solar Fund)เพื่อระดมทรัพยากรและรณรงค์ผลักดันให้เกิดการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปในระดับครัวเรือน หน่วยงาน และสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชนและภาคธุรกิจอันหลากหลายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปพลังงาน โดยดำเนินการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปกำลังการผลิตรวม 240.63 กิโลวัตต์ให้กับโรงพยาบาลภาครัฐที่เข้าร่วมโครงการเฟสแรก 7 แห่ง คือโรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก โรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลศรีอุดม จ.อุบลราชธานี โรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น โรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี โรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ได้เป็นผลสำเร็จ และสามารถลดค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลทั้ง 7 แห่งรวมกัน 1.4 ล้านบาทต่อปี
พ.ศ. 2561
- แรงกดดันเชิงนโยบายเพื่อยุติมลพิษพลาสติกในระดับโลกและงานรณรงค์ของกรีนพีซในประเทศไทยส่งผลให้ในวันที่ 26 ธันวาคม 2561 คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกของไทยกำหนดเป้าหมายในการลด เลิกใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกจำนวน 7 ประเภท ได้แก่ Cap seal ขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของของสารประเภท oxo Microbead จากพลาสติก ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วน้ำพลาสติก(ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง) และหลอดพลาสติก
- เป็นเวลาหลายปีที่กรีนพีซทำงานเคียงข้างกับเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เครือข่ายตือโละปาตานี และเครือข่ายนักวิจัยอิสระด้านพลังงาน ในที่สุด โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่และ อ.เทพา จังหวัดสงขลาถูกชะลอและยุติลงภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ (พ.ศ.2561-2580)หรือ PDP2018 ขณะเดียวกันกรีนพีซยังคงติดตามตรวจสอบการดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์(Strategic Environmental Assessment)สำหรับภาคใต้ต่อไป
- กรีนพีซทำงานรณรงค์ “ขออากาศดีคืนมา (Right to Clean Air)” ด้วยความเชื่อมั่นว่าทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาด โดยทำงานร่วมกับชุมชนและภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเพื่อขับเคลื่อนให้รัฐบาลลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังต่อปัญหาเร่งด่วนด้านสุขภาพและสร้างแผนปฏิบัติการที่หนักแน่นกว่าที่เป็นอยู่เพื่อทําให้อากาศดีขึ้น ลดมลพิษและปกป้องชีวิตคน จนในที่สุด เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 กรมควบคุมมลพิษปรับปรุงดัชนีคุณภาพอากาศโดยใช้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ประกอบการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เพื่อใช้ในการเตือนภัยด้านสุขภาพแก่ประชาชน อ่านเพิ่มเติม
พ.ศ. 2560
- ซัมซุงออกแผนการรีไซเคิลกาแลคซี่ โน้ต 7 หลังจากการทำงานรณรงค์ทั่วโลกของกรีนพีซ อ่านเพิ่มเติม
- อุตสาหกรรมอาหารยักษ์ใหญ่อย่างมาร์ส และเนสท์เล่ ประกาศให้คำมั่นต่อสาธารณชนว่าห่วงโซ่อุปทานอาหารสัตว์เลี้ยงของบริษัทจะปลอดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาหารทะเลที่มาจากการประมงที่ผิดกฎหมายหลังจากมีแรงกดดันจากทั่วโลก คำมั่นสัญญาครั้งนี้ยังครอบคลุมถึงการห้ามการขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเล อ่านเพิ่มเติม
- บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้คำมั่นต่อมาตรการที่จะขจัดการประมงผิดกฎหมาย (illegal fishing) และการประมงเกินขนาด (overfishing) และปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานนับแสนคนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลของบริษัท ข้อตกลงใหม่ของไทยยูเนี่ยนเป็นการดำเนินการต่อยอดจากกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® รวมถึงความพยายามในการสนับสนุนแนวปฏิบัติด้านการประมงที่ดีที่สุด (best practice fisheries) ปรับปรุงด้านการทำประมงอื่นๆ ลดการปฏิบัติที่ผิดกฏหมายและไร้จริยธรรมในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และนำผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าที่มาจากการทำประมงที่มีความรับผิดชอบออกสู่ตลาดหลักของโลก อ่านเพิ่มเติม
พ.ศ. 2559
- เวียดนามยกเลิกแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ 70 แห่ง หลังนายเหงียน ตัน ดุ่ง นายกรัฐมนตรีของเวียดนามประกาศว่าจะยุติโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ทั้งหมด โดยจะมุ่งสู่การลงทุนระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด อ่านเพิ่มเติม
- บนเวทีโลกเราเปิดโปงกองเรือประมงที่หลบหลีกการตรวจจับด้วยการขนถ่ายปลาที่จับได้ไปยังเรืออีกลำ กรีนพีซเป็นผู้นำเรียกร้องให้ยุติการกระทำนี้ และให้บริษัท ต่างๆ เช่น เนสท์เล่ เลิกใช้วิธีนี้ในห่วงโซ่อุปทาน
- ในฟิลิปปินส์ เราเป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์ “Sustainable Seafood Week” ซึ่งเป็นครั้งที่สอง ที่เราร่วมกับโรงแรม ภัตตาคาร ธุรกิจอาหารทะเล องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และผู้มีชื่อเสียงอีกหลายคน งานรณรงค์ได้รับความนิยม และได้คำมั่นสัญญาจากภาคธุรกิจหลายแห่งในการทำงานร่วมกัน เพื่อสามารถติดตามเส้นทางการได้มาของอาหารทะเล งานของเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดความริเริ่มนี้
พ.ศ. 2558
- กรีนพีซมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้บริษัทเอพริล (APRIL) ผู้ผลิตเยื่อและกระดาษรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกให้คำมั่นสัญญาที่จะยุติการทำลายป่าไม้อันเป็นส่วนหนึ่งของ “แผนการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน” ฉบับใหม่ บริษัทเอพริลยังตกลงดำเนินการมาตรการอนุรักษ์ตามที่เราร้องขอ ซึ่งหากมีการปฏิบัติอย่างเหมาะสม ปฏิญาณของบริษัทเอพริลจะพิสูจน์ถึงจังหวะก้าวสำคัญของภาคธุรกิจในการปกป้องป่าในเขตร้อนและระบบนิเวศป่าพรุในอินโดนีเซียและจะมีนัยสำคัญต่อนโยบายของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษอื่นๆ ในประเทศด้วย
- ในประเทศไทย รัฐบาลได้หยิบร่างกฏหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งยังมีข้อขัดแย้งมาทบทวน โดยข้อเท็จจริงนั้น ร่างกฏหมายฉบับนี้จะเปิดช่องให้อุตสาหกรรมสารเคมีเกษตรสามารถปลูกพืชจีเอ็มโอในไร่นาได้ กรีนพีซร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนและผู้บริโภค 125 เครือข่าย ยื่นจดหมายที่ทำเนียบรัฐบาลและศาลากลางจังหวัด 46 แห่งทั่วประเทศ หนึ่งสัปดาห์หลังจากการเคลื่อนไหว รัฐบาลได้ถอนร่างกฏหมายดังกล่าวหลังจากนั้น อ่านเพิ่มเติม
- ศาลสูงแห่งฟิลิปปินส์สั่งห้ามการทดลองภาคสนามมะเขือยาวสีม่วงจีเอ็มโออย่างถาวร และให้ยุติการอนุมัติแผนงานต่างๆ ในการใช้ นำเข้า จำหน่าย และ แพร่กระจายของพืชจีเอ็มโอ รวมทั้งนำเข้าผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอทุกชนิด เป็นการชั่วคราว อ่านเพิ่มเติม
พ.ศ. 2557
- กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถยับยั้งและชะลอแผนการโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซียและไทย ซึ่งเราได้มีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการลุกขึ้นมาต่อสู้กับโครงการถ่านหินที่ถูกนำเสนอในบาตังประเทศอินโดนีเซีย
- กรีนพีซในไทยได้ขับเคลื่อนร่วมกับ 22 องค์กรที่จัดตั้งเป็น “เครือข่ายปกป้องกระบี่” ซึ่งทำงานรณรงค์ขับเคลื่อนภาคประชาชนและภาคการท่องเที่ยวเพื่อให้สนับสนุนงานรณรงค์ปกป้องกระบี่ โดยมีนักกิจกรรมออนไลน์มากกว่า 50,000 ชื่อลงชื่อสนับสนุนการปกป้องความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพของกระบี่จากภัยคุกคามโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนส่งถ่านหิน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ประกาศต่ออายุพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล และในขณะเดียวกันคณะผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมได้ตีกลับรานงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอีกครั้ง เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของรายงาน โครงการถ่านหินกระบี่จึงต้องถูกเลื่อนออกไป
- ผลจากงานรณรงค์ยุติการทำลายป่าที่นานกว่าสามปี สามารถผลักดันให้บริษัทระดับโลกจำนวน 5 บริษัทยอมดำเนินนโยบายลดการตัดไม้ทำลายป่าให้เป็นศูนย์ โดยมีสามบริษัทให้คำมั่นต่อสาธารณะ และอีกสองบริษัทได้ให้คำมั่นที่จะปฏิบัตินโยบายปกป้องป่าไม้ จุดเริ่มต้นแรกเกิดขึ้นเมื่อบริษัทวิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นนัล ซึ่งเป็นผู้ค้าน้ำมันปาล์มใหญ่ที่สุดของโลกยอมให้คำมั่นที่จะดำเนินนโยบายไม่ตัดไม้ทำลายป่าในกิจการทั้งหมดรวมถึงบริษัทผู้จัดหาที่เกี่ยวข้อง บริษัทโกลเดนท์ อากรี-รีซอสส์ (GAR) ก็ได้ดำเนินนโยบายอนุรักษ์ป่าไม้ของตนที่ประกาศไว้โดยได้บังคับใช้แผนการนี้อย่างเคร่งครัดต่อบริษัทผู้จัดหาวัตถุดิบ บริษัทน้ำมันปาล์มยักษ์ใหญ่ทั้งห้าบริษัทในอินโดนีเซีย (โกลเดนท์ อากรี-รีซอสส์, วิลมาร์, คาร์กิวว์, เอเซียน อากรี, และมูซิม มาส) พร้อมด้วยหอการค้าอินโดนีเซีย (KADIN) ได้ร่วมกับลงนามในคำปฏิญาณน้ำมันปาล์มอินโดนีเซีย (IPOP) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียสนับสนุนการดำเนินปฏิบัตินโยบายยุติการตัดไม้ทำลายป่าตามกรอบนโยบายและกฏหมาย
- ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ประธานาธิบดี โจโก้ วิโดโด ตอบรับคำเชิญจากกรีนพีซ และองค์กรพัฒนาเอกชนท้องถิ่นในการไปเยือนเขตป่าพรุในจังหวัดเรียล ประธานาธิบดีได้ลงมือช่วยสร้างฝายกันน้ำ พร้อมกันนี้ได้มีความคิดทบทวนสัมปทานและปฎิญาณที่จะปกป้องป่าไม้อินโดนีเซียและระบบนิเวศพื้นที่ดินพรุ ซึ่งกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะบันทึกและติดตามคำสัญญาจากประธานาธิบดีต่อไป
- กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถที่จะกดดันให้มีการจัดการกับการใช้เครื่องมือจับปลาประเภทอวนล้อมจับที่มีซั้งที่เป็นโครงสร้างถาวร (FADs) ซึ่งอินโดนีเซียมีเจตจำนงค์ด้านนโยบายที่ชัดเจนในการที่จะบริหารจัดการการประมงผ่านการปฏิรูปนโยบายและบังคับใช้กฏหมาย โดยมุ่งที่จะลดการจับปลาโดยใช้อุปกรณ์อวนล้อมจับในทะเล งดการให้อาชญาบัตรใหม่แก่เรือต่างชาติ และบริหารจัดการการขนถ่ายปลากลางทะเลซึ่งเป็นช่องทางสู่ปัญหามากมาย เช่น การทำปลาผิดกฏหมายให้ถูกกฏหมาย การละเมิดสิทธิชุมชน และการเพิ่มขึ้นของการล่าหูฉลาม
- กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้จัดการประชุมว่าด้วยฉลามเป็นครั้งแรกในฟิลิปปินส์ โดยได้เชิญตัวแทนจากภาครัฐ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และนักดำน้ำ ซึ่งได้ส่งผลให้เกิดการผลักดันการครอบครอง จับ และค้าขายฉลาม รวมถึงการมีโรงแรมจำนวนมากในเกาะเซบูได้นำหูฉลามออกจากเมนูอาหารในโรงแรม ด้วยความร่วมมือกันกับพันธมิตรผ่านการรวบรวมรายชื่อสนับสนุนออนไลน์ เราสามารถผลักดันให้สายการบินแห่งชาติฟิลิปปินส์และเซบู แปซิฟิก ยอมที่จะปฏิเสธการขนส่งหูฉลามและสินค้าจากฉลามผ่านการบินของตน และเราก็ได้เรียกร้องเช่นกันผ่านไปยังสายการบินไทย และการูด้า ของอินโดนีเซีย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับตกลงเช่นกัน
- ลอรีอัล บริษัทเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่ของโลกประกาศให้คำมั่นยุติการใช้วัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า โดยจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปีพ.ศ. 2563 อ่านเพิ่มเติม
พ.ศ. 2556
- ด้วยแรงกดดันจากผู้บริโภคทั่วโลก ปัจจุบันมี 30 แบรนด์เสื้อผ้าได้ให้คำมั่นล้างสารพิษแล้ว ทั้งนี้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ มี 18 แบรนด์แฟชั่นซึ่งคลอบคลุมถึงร้อยละ 10 ของตลาดในอุตสาหกรรมค้าปลีกเสื้อผ้าได้ตกลงที่จะยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย ซึ่งหมายถึงเป็นความสำเร็จที่เป็นนัยสำคัญอย่างมากในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของโลก
- กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ร่วมเผยแพร่รายงาน “ปิศาจในตู้เสื้อผ้า” ที่มุ่งสร้างความตระหนักแก่กลุ่มผู้บริโภคและกลุ่มผู้เป็นแม่ โดยรายงานได้เปิดเผยถึงสารเคมีอันตรายที่พบในผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเด็กและรองเท้าของแบรนด์ดิสนี่ เบอร์เบอร์รี่ และอาดิดาส และแบรนด์เบอร์เบอร์รี่ก็ได้ยอมที่จะประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายในห่วงโซ่การผลิตภายให้ได้ภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563
- เราทำงานร่วมกับเครือข่ายคัดค้านถ่านหินที่มีชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ ทำให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินชะลอออกไปทั้งในจังหวัดกระบี่ และจังหวัดฉะเชิงเทรา ในกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ จังหวัดฉะเชิงเทรานั้น คณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมมีมติไม่รับรองรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)
- ในอินโดนีเซีย เรายุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลงได้โดยในเดือนตุลาคม ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน ลงนามในกฏหมายที่เลื่อนเวลาการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินออกไปอีกหกเดือน
- พลังงานหมุนเวียนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในแต่ละประเทศ รัฐบาลอินโดนีเซียออกนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์และลม Feed in Tariff (FiT) และประกาศใช้ในเดือนมีนาคม นโยบายดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอของกรีนพีซที่ระบุไว้ในรายงานการปฏิวัติพลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- บริษัทวิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศนโยบาย “เพื่อยุติในการทำลายป่าไม้” หรือ No Deforestation Policy หลังจากได้รับการกดดันอย่างหนักจากกรีนพีซ เอ็นจีโอ และผู้บริโภคทั่วโลก โดยนโยบายนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของผืนป่าทั่วโลกและผู้คนอีกจำนวนมากที่ต้องพึ่งพาอาศัยป่าในการดำรงชีวิต อ่านเพิ่มเติม
- บริษัทเอพีพี เป็นหนึ่งในผู้ผลิตภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ประกาศ “นโยบายการอนุรักษ์ป่าไม้” ซึ่งหากมีการดำเนินการอย่างจริงจัง ก็ถือได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของการประวัติศาสตร์อันยาวนานของความขัดแย้ง เรื่องการทำลายป่าฝนเขตร้อน อ่านเพิ่มเติม
พ.ศ. 2555
- ในฟิลิปปินส์ คณะกรรมาธิการด้านการออกกฏระเบียบพลังงานได้อนุมัติใช้มาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วยอัตราค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งเป็นผลจากการที่กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผลักดันอยู่หลายปี
- บริษัท KFC ในประเทศไทยยินยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของกรีนพีซภายใน 24 ชั่วโมง และในอินโดนีเซียก็ยินยอมทำตามภายในสองสัปดาห์นับจากเปิดตัวงานรณรงค์ปกป้องผืนป่า จากกรณีความเชื่อมโยงระหว่าง KFC กับการทำลายป่าไม้ในอินโดนีเซีย โดย KFC ได้ประกาศถึงการตัดสินใจว่าบริษัทจะยุติการซื้อกระดาษจาก Asia Pulp and Paper (APP) อ่านเพิ่มเติม
- “ลีวายส์” แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นยักษ์ใหญ่ของโลก ได้ประกาศอย่างเป็นทางการที่จะยุติการใช้สารเคมีอันตรายตลอดห่วงโซ่การผลิตผลิตภัณฑ์ของตนภายในปีพ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของผู้บริโภคจากโครงการรณรงค์ “ล้างสารพิษ (Detox)” ของกรีนพีซ อ่านเพิ่มเติม
พ.ศ. 2554
- ไนกี้ บริษิทยี่ห้อเสื้อผ้ากีฬาชื่อดังประกาศวางแผนยุติการใช้และปลดปล่อยสารเคมีอันตรายตลอดห่วงโซ่การผลิตและใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ให้สำเร็จภายในปี 2563 หลังการรณรงค์อย่างหนักโดยกรีนพีซและผู้บริโภคภายใต้โครงการ “Detox” หรือ“ล้างสารพิษ” อ่านเพิ่มเติม
- สืบเนื่องจากโครงการรณรงค์ Detox หรือ “ล้างสารพิษ” ของกรีนพีซ ล่าสุด H&M (เอช แอนด์ เอ็ม) ยี่ห้อสินค้าเสื้อผ้าดังได้ตกลงให้คำมั่นในการยุคิการใช้สารพิษในกระบวนการผลิตให้ได้อย่างช้าที่สุดภายในปี 2563 แล้ว อ่านเพิ่มเติม
พ.ศ. 2553
- ประธานาธิบดียูโดโยโนให้สัญญาที่จะปกป้องผืนป่าของอินโดนีเซียด้วยการประกาศยุติแผนการดำเนินงานใหม่ทั้งหมดในเขตป่าพรุและในพื้นที่กักเก็บคาร์บอน อ่านเพิ่มเติม
- บริษัทยูนิลีเวอร์ คราฟท์ เนสท์เล่ และเจ้าของทุนของบริษัทข้ามชาติได้ออกนโยบายยุติการซื้อน้ำมันปาล์มจากบริษัทที่ทำลายป่าไม้และป่าพรุในอินโดนีเซีย อ่านเพิ่มเติม
พ.ศ. 2552
- หลังจากกรีนพีซรณรงค์ต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน แห่งอินโดนีเซีย สั่งหยุดแผนการที่อยู่ในวาระมานานและเป็นที่โต้แย้งกันมาก ในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และกล่าวว่าจะพัฒนาแหล่งพลังงานที่มีอยู่แทน รวมถึงพิจารณาพลังงานหมุนเวียนก่อนเลือกพลังงานนิวเคลียร์
- พื้นที่ลาดเขาปลูกข้าวแห่งฟิลิปปินส์ อันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ในจังหวัดอิฟูเกา และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก ได้รับการประกาศให้เป็นเขตปลอดพืชตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) การประกาศครั้งประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับพันธะสัญญาของจังหวัดที่จะสงวนรักษาบูรณภาพของสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศที่คงอยู่มายาวนานที่สุด ถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยทีโอโดโร บากิลัท จูเนียร์ และลิโน แมดชิว นายกเทศมนตรีเมืองบานาเว ด้วยการสนับสนุนของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- กินเนส เวิร์ลด์ เรคคอร์ด ออกประกาศนียบัตรยกย่องให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก ประกาศนียบัตรนี้เป็นเครื่องมือที่กรีนพีซใช้เพื่อจุดประกายความภูมิใจในข้าวไทย และเรียกร้องให้ชาวไทยร่วมปกป้องข้าวไทยให้ปลอดจากการดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ)
พ.ศ. 2551
- หลังจากกรีนพีซเริ่มรณรงค์เพื่อการปฏิวัติพลังงาน เป็นเวลาน้อยกว่า 6 เดือน เราได้รับคำยืนยันจากกระทรวงพลังงานว่ากรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานจะริเริ่มโครงการที่มีเป้าหมายอันสูงส่ง โดยเพิ่มการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล และแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดอื่น ๆ อ่านเพิ่มเติม
- สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยแสดงพันธะที่จะส่งออกข้าวปลอดจีเอ็มโอเท่านั้น ในจดหมายที่สมาคมฯ ส่งมายังกรีนพีซ
- หลังจาก กรีนพีซรณรงค์ต่อเนื่องมานาน 2 ปี ในฟิลิปปินส์ เพื่อเรียกร้อง “การปฏิวัติพลังงาน”สมาชิกวุฒิสภาฟิลิปปินส์ ได้ผ่าน “ร่างกฎหมายพลังงานหมุนเวียน” ในวันที่ 29 กันยายน 2551 ร่างกฎหมายนี้จะนำไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลมและแสงอาทิตย์ ปริมาณมหาศาล เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- กรีนพีซทำงานสนับสนุนการต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทับสะแก เพื่อยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ซึ่งจะมีกำลังการผลิต 4,000 เมกะวัตต์ ในที่สุด รัฐบาลโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ชะลอโครงการออกไป ในระหว่างการรณรงค์ “หยุดถ่านหิน ก้าวสู่การปฏิวัติพลังงาน” ของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ในเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ซึ่งกรีนพีซร่วมกับชุมชนในทับสะแกเพื่อเรียงอักษรมนุษย์เป็นคำว่า “Quit Coal”
- หลังการรณรงค์แบบสันติวิธี การเผยแพร่โฆษณาเลียนแบบที่มีผู้ชมมหาศาล และ การลงชื่อเรียกร้องทางอินเตอร์เน็ตที่รวบรวมได้ 115,000 รายชื่อทั่วโลก ยูนิลีเวอร์ได้เปลี่ยนจุดยืนเพื่อสนับสนุนการระงับการตัดไม้ทำลายป่าในอินโดนีเซียเพื่อใช้ปลูกปาล์มน้ำมัน
พ.ศ. 2550
- แอปเปิ้ลประกาศกำหนดเวลาเลิกใช้สารเคมีอันตรายที่สุดในผลิตภัณฑ์ ด้วยแรงกดดันจากการรณรงค์ออนไลน์ที่ได้รับรางวัลเว็บไซต์ยอดเยี่ยม หรือ Webby Award ของกรีนพีซและแฟนของแอปเปิ้ลทั่วโลก การรณรงค์นี้ท้าทายให้แอปเปิ้ลเป็นผู้นำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเรื่องการจัดการกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์
พ.ศ. 2549
- ความสำเร็จอย่างเด็ดขาดเป็นเครื่องยืนยันถึงการคัดค้านการใช้ถ่านหินที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศฟิลิปปินส์ โดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติฟิลิปปินส์ (PNOC) ได้ยินยอมให้เพิกถอนแผนการสร้างเหมืองถ่านหินที่เกี่ยวข้องกับโครงการโรงไฟฟ้าปากเหมืองในเมืองอิซาเบลลาหลังมีการคัดค้านจากชุมชนอิซาเบลลาและกรีนพีซ
- เดลล์เป็นบริษัทล่าสุดที่ให้คำมั่นว่าจะเลิกใช้สารเคมีมีพิษในผลิตภัณฑ์ของตน สิ่งนี้เกิดขึ้นหลังจากคู่แข่ง คือ ฮิวเลท แพ็กการ์ด (HP) ได้เลิกใช้สารเคมีมีพิษ ทั้ง 2 บริษัทถูกกรีนพีซกดดันมาโดยตลอด โดยกรีนพีซเรียกร้องให้มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และให้ช่วยแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์กองพะเนินที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
- ฮิวเลท แพ็กการ์ด บริษัทสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ กำหนดระยะเวลาเลิกใช้สารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์
พ.ศ. 2548
- หลังจากผู้สนับสนุนกรีนพีซได้กดดันทางอินเตอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง บริษัทโซนี่ อิริคสันประกาศว่าจะค่อยๆ เลิกใช้สารเคมีมีพิษในผลิตภัณฑ์ของตน โดยก้าวตามซัมซุง โนเกีย และโซนี่ โดยบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์บริษัทแรกๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2547
- ความพยายามของกรีนพีซเพื่อให้อุตสาหกรรมทำลายเรืออันฉาวโฉ่มีการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นนำไปสู่ข้อตกลงนานาชาติเพื่อปฏิบัติกับเรือเก่าล้าสมัยเป็นของเสีย มีการคาดการณ์ว่าสนธิสัญญาของ 163 ประเทศฉบับนี้จะนำไปสู่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการขจัดสารเจือปนในเรือก่อนส่งออกไปยังประเทศที่ทำลายเรือหลักๆ (จีน อินเดีย บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ และ ตุรกี) นอกจากนี้สนธิสัญญาฉบับนี้จะเพิ่มความต้องการการรีไซเคิลเรือ “อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ในประเทศที่พัฒนาแล้ว
- กรีนพีซประสบความสำเร็จในการเจรจาเพื่อปกป้องวาฬมิ้งค์ ฉลามขาว และ โลมาอิระวดี ที่การประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ในกรุงเทพฯ
- ผู้บริโภคได้รับชัยชนะหลังซัมซุง บริษัทสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ ประกาศแผนการกำหนดเวลาเลิกใช้สารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์ การที่ซัมซุงเห็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ของตนได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับสีแดง นั่นคือ มีสารเคมีอันตราย ในข้อมูลของกรีนพีซ ทำให้ซัมซุงลงมือจัดการทันทีเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายร้ายแรง
- กรมที่ดินแห่งประเทศไทยเพิกถอนไม่ใช้ที่ดินมากกว่า 1,300 ไร่ที่กำหนดให้เป็นที่ตั้งโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ซึ่งบ่งบอกถึงชัยชนะในการต่อสู้อย่างถูกกฎหมายกับนายหน้าค้าที่ดิน คือ บริษัท Palm Beach Development และ บริษัทประมงคลองด่าน ที่บุกรุกแหล่งน้ำในที่ดินสาธารณะ
- รัฐบาลของ 180 ประเทศตกลงก่อตั้งเครือข่ายระดับโลกสำหรับพื้นที่สงวนทั้งในทะเลและผืนดินที่การประชุมอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย
พ.ศ. 2546
- ยุติข้อเสนอการสร้างโรงงานเผาขยะ (ขนาด 1,350 ตัวต่อวัน) ที่เขตอ่อนนุช กรุงเทพฯ
- เปิดตัวโครงการ GRIPP บนเกาะนีกรอส (ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งโครงการพลังงานหมุนเวียนในจังหวัด เช่น ฟาร์มกังหันลมในเทศบาลเมืองปูลูพันดัน รูปจี๊ปนีย์ไฟฟ้า)
- กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ กลุ่มสัมพันธมิตรขยะชีวภาพ ประกาศแผนการแปรรูปขยะ ในโครงการร่วมมือขยะเป็นศูนย์ ในการประชุมครอบครัวโลกที่กรุงมะนิลา
- หยุดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในเมืองบาเนท (ขนาด 200 เมกะวัตต์) ในจังหวัดอิโลอิโล ฟิลิปปินส์
- บุกเบิกการทำงานกับชุมชนที่ต่อต้านถ่านหินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สร้างเครือข่ายสัมพันธมิตร) ในฟิลิปปินส์และไทย
- ยุติโครงการบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ในสมุทรปราการ ที่โจษจันกันมาก (โดยการสร้างเครือข่ายสัมพันธมิตร)
- กรุงเทพมหานครตัดสินใจเลิกดำเนินการสร้างโรงงานเผาขยะเพื่อจัดการกับปัญหาขยะในกรุงเทพฯ หลังกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รณรงค์และล๊อบบี้
- งานรณรงค์ต่อต้านสารมลพิษตกค้างยาวนาน (POPs) ที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างมาก ทำให้รัฐบาลฟิลิปปิน์ให้สัตยาบันในพิธีสารสต๊อกโฮล์ม
- การปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเพื่อยับยั้งการทดลองมะละกอจีเอ็มโอภาคสนามในขอนแก่น ทำให้มีคำสั่งห้ามทดลองจีเอ็มโอในพื้นที่เปิดในประเทศ (ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่ทางกฎหมาย) นอกจากนี้ยังทำให้เป็นคดีฟ้องร้องอาสาสมัครกรีนพีซ
พ.ศ. 2545
- รัฐบาลฟิลิปปินส์ล้มเลิกแผนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินขนาด 50 เมกะวัตต์ในจังหวัดปูลูพันดัน บนเกาะนีโกรส ประเทศฟิลิปปินส์
- จังหวัดนีกรอส อ๊อกซิเดนทัล ฟิลิปปินส์ ประกาศแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100%
- การทำงานรณรงค์เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับชุมชนบ้านกรูด(อ.บางสะพาน)และบ่อนอก(อ.กุยบุรี) จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อยุติยุคถ่านหิน ในที่สุดรัฐบาลไทยตัดสินใจยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,400 เมกะวัตต์ที่บ้านกรูด และ 700 เมกะวัตต์ที่บ่อนอก
- คู่มือการจ่ายตลาดอาหารปลอดจีเอ็มโอประสบความก้าวหน้า บริษัทอาหารจำนวนหนึ่งในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ปฏิเสธอาหารปลอดการตัดต่อพันธุกรรม (และจำนวนบริษัทกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศไทย)
พ.ศ. 2544
- กระทรวงสาธารณสุขของไทยประกาศใช้แผนบังคับเริ่มการติดฉลากอาหารดัดแปลงพันธุกรรม
- สนธิสัญญาของสหประชาชาติที่ห้ามใช้สารเคมีมีพิษร้ายแรงต่อเนื่อง (POPs) ที่มนุษย์ผลิตขึ้น ถูกบังคับใช้หลังกรีนพีซได้เจรจาและกดดันเป็นเวลาหลายปี
- กรีนพีซร่วมกับกลุ่มและชุมชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประสบความสำเร็จในการผลักดันให้อนุมัติกฎหมายการจัดการของเสียทางชีวภาพแห่งฟิลิปปินส์ ซึ่งบังคับให้ใช้ยุทธวิธีเริ่มต้น คือ การลด การแยก และ การรีไซเคิลของเสีย เพื่อกู้วิกฤตของเสียในประเทศ
- กรีนพีซเปิดตัวเครือข่ายผู้บริโภคที่ต่อต้านการตัดต่อพันธุกรรม มีสมาชิก 14,000 คนในประเทศไทย
พ.ศ. 2543
- พิธีสารความปลอดภัยทางชีวภาพถูกบังคับใช้ในเมืองมอนทรีออล แคนาดา พิธีสารนี้ควบคุมการค้าอาหารดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ระหว่างประเทศ กรีนพีซได้รณรงค์ให้หยุดปล่อยจีเอ็มโอออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถกลับเป็นเหมือนเดิมได้ และรณรงค์เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพจากมลพิษการดัดแปลงพันธุกรรมมาตั้งแต่พ.ศ. 2538
- กรีนพีซเปิดโปงผลการทำลายเรือเพื่อนำชิ้นส่วนไปขาย ในการประท้วงเพื่อหยุดยั้งการทำลายเรือในเขตเทศบางเมืองบาลัมบัน จังหวัดเซบุ ฟิลิปปินส์
พ.ศ. 2542
- กรีนพีซประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำการรณรงค์เพื่อผลักดันข้อกฎหมายแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ข้อที่ 8749 หรือที่รู้จักกันในนาม “กฎหมายเพื่ออากาศสะอาดแห่งฟิลิปปินส์ พ.ศ. 2542” ซึ่งครอบคลุมการห้ามเผาของเสียที่ไม่มีการวางแผนล่วงหน้าในประเทศ
พ.ศ. 2540
- กรีนพีซได้รับรางวัลการปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซนแห่งสหประชาชาติ (UNEP) จากการพัฒนาเทคโนโลยี Greenfreeze ซึ่งเป็นตัวทำความเย็นที่ปราศจากสารเคมีที่ทำลายชั้นโอโซนและก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
พ.ศ. 2539
- สนธิสัญญาห้ามการทดลองนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์ถูกบังคับใช้ ณ สหประชาชาติ
พ.ศ. 2537
- สนธิสัญญาบาเซลถูกบังคับใช้ ซึ่งบ่งชี้ถึงการหยุดส่งออกของเสียมีพิษโดยประเทศที่พัฒนาแล้วไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา
พ.ศ. 2536
- มีกฎหมายสั่งห้ามทิ้งสารกัมมันตภาพรังสีและของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมลงในทะเล
พ.ศ. 2533
- ผู้ลงนามในสนธิสัญญาแอนตาร์กติกาเห็นพ้องกับการสั่งห้ามการใช้ประโยชน์จากแร่ธาตุในทวีปแอนตาร์กติกาอย่างต่ำเป็นเวลา 50 ปี
พ.ศ. 2532
- องค์การสหประชาชาติสั่งให้หยุดการทำประมงแบบใช้อวนลากขนาดใหญ่ในน่านน้ำสากล
- การสั่งห้ามใช้อวนลากขนาดใหญ่ในน่านน้ำสากลผ่านการพิจารณา ซึ่งถือเป็นการตอบรับเสียงคัดค้านของประชาชนที่ต่อต้านการทำประมงตามอำเภอใจที่กรีนพีซเป็นผู้เปิดโปง
พ.ศ. 2531
- มีการริเริ่มการห้ามเผาของเสียมีพิษในทะเลทั่วโลก
- การห้ามเผาของเสียประเภทสารกำจัดแมลงกลุ่มคลอรีนอินทรีย์ทั่วโลกได้รับความเห็นชอบโดยที่ประชุมอนุสัญญาการทิ้งของเสียแห่งลอนดอน หลังจากที่กรีนพีซได้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงกลางทะเล
พ.ศ. 2529
- การทดลองนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ได้กลายเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะหลังจากที่เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ของกรีนพีซได้ถูกจมโดยหน่วยสืบราชการลับฝรั่งเศส
พ.ศ. 2525
- คณะกรรมการควบคุมการล่าวาฬระหว่างประเทศ (IWC) บังคับใช้คำสั่งศาลที่ห้ามการล่าวาฬทั่วโลก
พ.ศ. 2521
- การปฏิบัติการไร้ความรุนแรงของกรีนพีซยุติการสังหารแมวน้ำในเกาะอ๊อกนีย์ สก๊อตแลนด์
พ.ศ. 2518
- ฝรั่งเศสหยุดการทดลองนิวเคลียร์ในชั้นบรรยากาศในมหาสมุทรแปซิฟิก
พ.ศ. 2515
- หลังการปฏิบัติการไร้ความรุนแรงของกรีนพีซในพ.ศ. 2514 สหรัฐได้ทิ้งร้างพื้นที่ทดลองนิวเคลียร์ในเกาะอัมชิตกา รัฐอลาสก้า
Hazibition : นิทรรศการใต้ฝุ่น เปิดต้นตอปัญหาฝุ่นควัน