เรนโบว์ วอร์ริเออร์เดิมมีชื่อว่า “เซอร์ วิลเลียม ฮาร์ดีย์” เรืออวนลากสำหรับงานวิจัยด้านการประมงของกระทรวงเกษตร ประมง และ อาหารของสหราชอาณาจักร สร้างขึ้นเมื่อปี 2498 เป็นเรือเครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้าลำแรกที่สร้างขึ้นในสหราชอาณาจักรด้วย

กรีนพีซใช้เวลาระดมทุนแปดเดือนเพื่อจ่ายเป็นค่ามัดจำร้อยละ 10 ให้เรือลำนี้เมื่อปี 2521 และต้องจ่ายที่เหลือสุทธิภายใน 60 วัน เวลาผ่านไปแต่ละวันพร้อมความหวังที่จะซื้อเรือก็เหมือนจะริบหรี่ แต่เมื่อกองทุนสัตว์ป่าโลกสำนักงานเนเธอร์แลนด์ตกลงให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อช่วยรณรงค์ปกป้องวาฬ กรีนพีซจึงได้กรรมสิทธิ์เรือลำแรกในยุโรป

พีท บูเกต์ ลูกเรือระบายสีเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เมื่อปี 2521 © Greenpeace / Jean Paul Ferrero

พีท บูเกต์ ลูกเรือระบายสีเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เมื่อปี 2521 © Greenpeace / Jean Paul Ferrero

กรีนพีซเปลี่ยนชื่อเรือเป็น “เรนโบว์ วอร์ริเออร์” ตามคำทำนายของนักรบอินเดียนแดงชนเผ่าครีในอเมริกาเหนือ ที่เชื่อว่า “เมื่อโลกป่วยและกำลังดับสูญ ผู้คนจะลุกขึ้นสู้ประหนึ่งนักรบแห่งสายรุ้ง…”

สีสดใสระบายเป็นสายรุ้งบนโครงสร้างของดาดฟ้าเรือ และ ตรงหัวเรือมีรูปนกพิราบแห่งสันติภาพคาบกิ่งโอลีฟเป็นสัญลักษณ์แห่งภารกิจของเรือ

บนปล่องไฟบนเรือ ลูกเรือระบายในธีมวาฬคู่ในรูปทรงของวงจรธรรมชาติที่ไม่สิ้นสุด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการสอดประสานกับโลกธรรมชาติกับชาวทะเลควาคิอุลท์ในอเมริกาเหนือ สัญลักษณ์นี้กรีนพีซนำมาใช้ระหว่างการรณรงค์ครั้งแรกในการหยุดยั้งกรทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในหมู่เกาะอลูเชียน

สัญลักษณ์ ควาคิอุทล์ แห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติ

การเดินทางแรก

วันที่ 29 เมษายน 2521 เรนโบว์วอร์ริเออร์ปล่อยไอน้ำในการเดินทางเที่ยวแรกจากท่าเรือในลอนดอน ธงกรีนพีซและธงสหประชาชาติพัดไสวเคียงคู่กัน มีลูกเรือ 24 คน จาก 10 ประเทศ ที่มีความกังวลร่วมกันต่อชะตากรรมของวาฬ ภารกิจแรกของเรนโบว์วอร์ริเออร์ในครั้งนั้นคือขัดขวางการล่าวาฬเพื่อการค้าที่ไอซ์แลนด์

ปฏิบัติการครั้งใหญ่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาที่แทบจะฝ่าฟันไปไม่ได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะขาดเงินซื้อน้ำมัน การโต้เถียงด้านกฎหมาย การขาดแคลนอุปกรณ์และความเหนื่อยล้าเต็มที่ แต่ภารกิจก็ต้องดำเนินต่อให้จงได้ เรนโบว์วอร์ริเออร์พิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นเรือที่ทรงคุณค่าในการเดินทะเลอย่างแท้จริง

ฤดูใบไม้ร่วงปี 2524 อาสาสมัครกรีนพีซเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้าขนาด 45 ตัน และติดตั้งเครื่องยนต์ดีทรอยท์ เข้าไปแทน ซึ่งน่าประหลาดที่พบระหว่างซ่อมบำรุงว่า ระบบไฮดรอลิกที่ใช้กับเครื่องยนต์นั้น ใช้น้ำมันวาฬหล่อลื่นมาตั้งแต่ปี 2498

Rainbow Warrior Crew with Whaling Banner. © Greenpeace / Jean Paul Ferrero

ลูกเรือกรีนพีซถือป้ายที่เขียนว่า “Save the Whales” ภาพนี้ถูกถ่ายในระหว่างการเดินเรือไปยังไอซ์แลนด์ © Greenpeace / Jean Paul Ferrero

ล่องเรือ

ปี 2528 มีการติดตั้งใบเรือเพื่อความพร้อมสำหรับการเดินทางไปมหาสมุทรแปซิฟิก ชาวเกาะรองเกลัป 320 คน ที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนรังสี เรียกร้องความช่วยเหลือจากเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์​ให้ช่วยอพยพผู้คน เพื่อไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เกาะเมจาโต ชาวเกาะในแปซิฟิกได้รับผลกระทบหลายด้านจากการทดลองนิวเคลียร์ของสหรัฐฯในช่วงทศวรรษที่ 1950 หลายคนเป็นมะเร็ง ลูคิเมียและพิการแต่กำเนิด

ในปีต่อมา เรือเรนโบว์วอร์ริเออร์เป็นแนวหน้ากองเรือเพื่อสันติภาพจากนิวซีแลนด์ไปมูรูรัวเพื่อประท้วงการทดลองนิวเคลียร์ เพียงสามวันหลังจากเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์มาถึงเมืองโอคแลนด์ หน่วยจารชนฝรั่งเศสวางระเบิดและจมเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ที่เทียบท่าอยู่ เป็นผลให้ เฟอร์นานโด เปเรรา ช่างภาพของกรีนพีซ เสียชีวิต

คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวางระเบิดและการเสียชีวิตของเฟอร์นานโด เปเรรา

หลังถูกวางระเบิดเรือเมื่อปี 2528 ที่นิวซีแลนด์ เรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ถูกลากไปทางเหนือจากโอคแลนด์ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2530

เพียงสิบวันหลังจากนั้น ฝูงชนผู้ปรารถนาดีจำนวนมากต่างแสดงความเสียใจไม่ต่างจากการจัดงานศพตามประเพณีของชนเผ่าเมารี

สถานที่พักแห่งสุดท้ายของเรนโบว์วอร์ริเออร์อยู่ที่อ่าวมาเทารี ในหมู่เกาะคาวัลลิของนิวซีแลนด์ มันได้กลายเป็นที่ขยายพันธุ์ปะการัง และ สัตว์ทะเลอื่นๆ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักดำน้ำ

ความคิดนี้มาจากสมาคมใต้น้ำของนิวซีแลนด์ เพื่อให้เรือได้ทำหน้าที่สุดท้ายในการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล

เรนโบว์วอร์ริเออร์ได้กลายเป็นบ้านหลังใหม่ให้กับระบบนิเวศที่ซับซ้อนใต้ทะเล และ ได้เป็นปลายทางยอดนิยมของนักดำน้ำ

ปี 2532 เรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ลำที่สอง กางใบออกล่องทะเล