สายลับฝรั่งเศสและเหตุการณ์จมเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์
ไม่มีเรื่องไรเป็นข้อเท็จจริงจนกว่าจะมีการปฏิเสธเรื่องนั้นอย่างเป็นทางการ คำกล่าวนี้ใช้ได้จริงเสมอ และเรื่องราวการสั่งลอบวางระเบิดเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ของกรีนพีซโดยรัฐบาลฝรั่งเศส เป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน


เรนโบว์ วอร์ริเออร์ สายลับของรัฐบาลฝรั่งเศสลอบวางระเบิดสองลูกเพื่อจมเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ขณะทอดสมอที่ท่าเรือมารสเดนในนิวซีแลนด์
ปฏิบัติการของสายลับฝรั่งเศสครั้งนั้นได้สังหารเฟอร์นานโด เปเรรา ช่างภาพของกรีนพีซ และยังทำให้บุคคลอย่างสารวัตรคลูโซกลายเป็นคนพูดคล่องแคล่วอย่างมีเลศนัย แม้ว่าหลักฐานต่างๆจำนวนมากจะขัดแย้งกัน แต่ก็ได้มาจากการรวบรวมในช่วงไม่กี่วันหลังจากระเบิด และรัฐบาลฝรั่งเศสก็ยังคงปฏิเสธความรับผิดชอบตลอดสองเดือนนั้น เราเลยตามรอยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้รัฐบาลฝรั่งเศสจำนนต่อความผิดที่พยายามปัดออกไปและความรับผิดชอบที่ไม่เคยปรากฎ
วันที่ 10 กรกฎาคม 2528 ลูกเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ยืนตัวแข็งด้วยความตกใจอย่างที่สุด ขณะจ้องไปที่ผืนน้ำดำทะมึนบริเวณท่าเทียบเรือมารสเดน ซึ่งเป็นท่าเรือพานิชย์ขนาดเล็กที่สุดหนึ่งในสามแห่งของท่าเรือเวเตมาตาของโอคแลนด์ เบื้องหน้าของพวกเขานั้น เป็นซากเรือที่พังและเอียงกระเท่เร่จมอยู่ในน้ำครึ่งลำ มันคือ วอร์ริเออร์ หรือ นักรบของพวกเขา มันคือ บ้าน และสัญลักษณ์สากลของสันติภาพ
หลายชั่วโมงในขณะนั้นนานเหมือนทั้งชีวิต ก่อนหน้านี้เพิ่งเกิดระเบิด ลูกเรือบางคนสะดุ้งตื่นและงัวเงีย มีเสียงวัตถุหล่นดังตุ้บ และมีบางอย่างที่มีน้ำหนักมากหล่นอยู่บนดาดฟ้าด้านบน ส่วนลูกเรือที่ยังไม่หลับและยังสาละวนอยู่ที่โต๊ะในโถงใต้ท้องเรือ และจู่ๆทุกอย่างก็ตกอยู่ในความมืดมิด
ทุกอย่างเกิดขึ้นฉับพลันทันที เสียงหึ่งๆที่ดังสม่ำเสมอของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีผลต่อทุกชีวิตบนเรือ จู่ๆก็หยุดทำงาน ไฟฉุกเฉินสว่างวาบขึ้นอย่างน่าสะพรึง ท่ามกลางความมืดมิดที่ปกคลุม วินาทีแห่งความเงียบงันถูกจู่โจมด้วยเสียงกระจกแตกดังกึกก้องและน้ำมหาศาลทะลักเข้ามาอย่างรวดเร็ว เรือโยงคงพุ่งชน นั่นคือวาบแรกของความคิด
เพียงสองนาทีหลังระเบิดลูกที่สอง มีลำแสงสีฟ้าพุ่งเป็นริ้วบนผืนน้ำรอบตัวเรือ ลูกเรือที่อยู่บนดาดฟ้ากระโดดตัวลอยขึ้นบันได หรือ หลบหากำบังบนท่าเรือ ในห้วงนาทีชีวิตลูกเรือได้เห็นเสากระโดงเรือเหล็กคู่ได้โค้งงอพับไปต่อหน้าพวกเขา
ฮานน์ ซอเรนเซน และ เฟอร์นานโด เปเรรา ทั้งคู่เป็นเพื่อนลูกเรือร่วมทีม และ หายไปทั้งคู่

ลูกเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ในวันแห่งความสุขก่อนเรือถูกวางระเบิด จากซ้ายไปขวา: เฟอร์นานโด เปเรรา ช่างภาพ ฮันส์ กายท์ เจ้าหน้าที่รณรงค์ และ มาร์ตินิ โกตเย ผู้ช่วยผู้บังคับการเรือ
สามชั่วโมงก่อนหน้านั้น ประมาณสองทุ่มมีปาร์ตี้บนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ และสะสางงานของเรือ เพื่อนร่วมงานจากกรีนพีซสำนักงานต่างๆที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก บินมายังโอคแลนด์ เพื่อประชุมงานการรณรงค์ “เส้นทางสายสันติภาพแห่งแปซิฟิก” ที่กำลังจะมีขึ้น สตีฟ ซอว์เยอร์ เจ้าหน้าที่รณรงค์จากกรีนพีซสหรัฐฯ อิเลียน ชอว์ ผู้อำนวยการกรีนพีซนิวซีแลนด์ และ แครอล สจ๊วต เข้าร่วมด้วย ในช่วงเวลาสามวันที่เรนโบว์ วอร์ริเออร์เทียบท่าในโอคแลนด์ ลูกเรือและอาสาสมัครกรีนพีซในนิวซีแลนด์ช่วยกันซ่อมประสานความสึกกร่อนของเรือจากการเดินทางทั่วหมู่เกาะในแปซิฟิกตลอดสองสามเดือนนั้น พวกลูกเรือช่วยอพยพชาวรองเกลัปไปยังเกาะมาเจโต รองเกลัปเป็นเกาะขนาดเล็กที่ปนเปื้อนรังสีจากการทดลองนิวเคลียร์ของสหรัฐฯบนเกาะบิกินี ซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน ชาวบ้านไม่อยากอพยพจนกรีนพีซเข้ามาช่วยเหลือ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมเป็นวันเกิดของสตีฟ ซอว์เยอร์ และ มาร์กาเรต มิลส์ได้อบขนมเค้ก ใช้ถั่วเยลลีตกแต่งเป็นสายรุ้ง ในโอกาสพิเศษนั้น
เมื่อภารกิจยังต้องดำเนินต่อไป กรีนพีซและผู้นำกองเรืออื่นๆจึงวางแผนร่วมกันตั้ง “กองเรือสันติภาพ” ล่องเรือไปยังเกาะมูรูรัว เพื่อต่อต้านแผนทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินของฝรั่งเศส ทีมตกลงตามแผน แผนที่ต้องยอมรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า อาจต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างแข็งขันหรืออาจถูกแทรกแซงจากหน่วยลาดตระเวนของกองทัพเรือฝรั่งเศส ไม่มีใครนึกออกว่าการแทรกแซงตามคำสั่งของรัฐบาลฝรั่งเศสที่อาจเกิดขึ้นนั้นจะเป็นอย่างไร แต่ก็เตรียมแผนรับมือไว้ในการประชุมที่มีทุกค่ำคืนในโอคแลนด์
หลังห้าทุ่มไม่นาน การประชุมก็เสร็จสิ้นลง ผู้ร่วมประชุมหลายคนพร้อมลูกเรือลงจากเรือ มีบางคนยังอยู่บนเรือ รวมทั้งกัปตันพีท วิลล์คอกซ์ ลีลอยด์ แอนเดอร์สัน ผู้ควบคุมด้านสื่อสาร มาร์กาเรต มิลส์ และ ฮานน์ โซเรนสัน วิศวกร ซึ่งกำลังลาเพื่อนๆและลงไปในห้องพักใต้ท้องเรือ ความคิดชั่วแล่นที่ทำให้ฮานน์รอดชีวิต คือ เธอเดินกลับขึ้นมายังดาดฟ้าเรือเพราะอยากเดินเล่นสูดอากาศยามค่ำ ส่วนลูกเรืออีกเจ็ดคน รวมทั้งเฟอร์นานโด เปเรรา ช่างภาพ ก็ยังนั่งดื่มเบียร์สองขวดสุดท้าย คุยกันอยู่รอบโต๊ะเอนกประสงค์ใต้ท้องเรือ ฮานน์เดินไปดูว่าบาร์ยังเปิดอยู่หรือไม่ ตอนนั้นนาฬิกาบอกเวลาอีกสิบนาทีเที่ยงคืน แล้วแสงไฟก็ดับวูบ…
ผู้รับผิดชอบ?
นักประดาน้ำสองคนซึ่งอยู่ในทีมสายลับฝรั่งเศส วางระเบิดไว้ใต้ท้องเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ในเบื้องต้นรัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธความเชื่อมโยง แต่เมื่อหลักฐานท่วมท้นจึงยอมรับว่าวางแผนทั้งหมด มีสายลับฝรั่งเศสสองนายที่ต้องโทษจำคุก ส่วนอีกหลายคนหายตัวไป
คริสติน กาบอง (มีนามแฝงว่า เฟรเดริก บองลู กาบอง)
กาบองสมัครเป็นทหารฝรั่งเศสเมื่อปี 2520 และโอนย้ายไปหน่วยรวบรวมและประเมินข่าวของสืบราชการลับฝรั่งเศส (DGSE) กาบองแทรกซึมเข้าไปในกรีนพีซนิวซีแลนด์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2528 เพื่อสืบค้นแผนเดินทางไปมูรูรัวของกรีนพีซและรวมรวมทิศทาง แผนที่ และข้อมูลให้ทีมที่ประจำอยู่บนเรืออูเวีย และ ตูรินจ์ส์ เธอเดินทางออกจากนิวซีแลนด์วันที่ 24 พฤษภาคม 2528 ขณะที่เกิดระเบิด คริสตินอยู่ในอิสราเอล ในวันเดียวกันนั้นตำรวจโอคแลนด์ร้องขอไปยังทางการอิสราเอลเพื่อจับตัวคริสติน แต่หน่วยสืบราชการลับ DGSE เตือนให้รู้ตัวก่อน คริสตินหลบหนีออกจากอิสราเอลก่อนถูกจับตัว และนับจากนั้นมาไม่มีใครพบตัวเธออีกเลย
ทีมจารชนที่อูเวียอีกสามคนน่าจะเป็นผู้ลักลอบนำระเบิด เรือยางและเครื่องยนต์ที่ติดด้านหลังเรือเล็กเข้ามาในนิวซีแลนด์ มีความเป็นไปได้ที่หนึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้วางระเบิดทั้งสองลูก
จ่าทหารเรือ แบร์เตโล มีนามแฝงว่า ฌอง-มิเชล แบร์เตอโล
ประมาณสองทุ่มครึ่งของวันที่ 10 กรกฎาคม 2528 ฌอง-มิเชล แบร์เตอโล ใส่ชุดประดาน้ำและดำลงไปใต้น้ำ มุ่งหน้าไปยังเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ระเบิดที่ห่อหุ้มด้วยพลาสติกสองลูกผูกติดไว้กับเรือ ลูกหนึ่งอยู่ที่ใบพัดเรือ อีกลูกหนึ่งอยู่นอกกำแพงห้องเครื่อง ลูกเรือหลายคนขึ้นฝั่งไปดื่มแต่อีกหลายคนยังอยู่ในเรือและพักผ่อนอยู่ในห้องโถงใต้ท้องเรือ แบร์เตโลเป็นนักทำลายใต้น้ำจู่โจม ไม่มีใครรู้หลักแหล่งของเขาอีกเลยนับจากวางระเบิด
ดอกเตอร์ซาเวียร์ มานิเกต์
มานิเกต์เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้ได้รับอุบัติเหตุจากการดำน้ำ เขาอ้างว่าได้เป็นผู้โดยสารคนหนึ่งบนเรืออูเวีย เขาอาศัยอยู่ที่เมืองดีพพ์ แคว้นนอร์มังดี (ฝรั่งเศส) ในปี 2528 หลังจากนั้นได้เขียนหนังสือชื่อ The Jaws Of Death (Shark As Predator, Man As Prey) หรือ ปากมรณะ (ฉลามผู้ล่า มนุษย์ผู้เป็นเหยื่อ) ซึ่งมีข้อความอ้างอิงถึงบทบาทของเขาต่อการวางระเบิดเรนโบว์ วอร์ริเออร์
พันจ่าโรลองด์ แวร์จ (มีนามแฝงว่า เรย์มอนด์ เวล์ช)
เวล์ช เป็นผู้คุมเรืออูเวีย เป็นนักทำลายใต้น้ำจู่โจม เป็นทหารฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2513 และย้ายไปสังกัดหน่วยสืบราชการลับ DGSE ชั่วคราว มีฐานปฏิบัติการที่ศูนย์ฝึกอบรมนักทำลายใต้น้ำของกองทัพเรือ (CINC) ที่เมืองแอสเปรโต ในคอร์ซิกา ซึ่งปิดไปตั้งแต่ปี 2529
จ่าเจอร์ราด เอดรีส์ (มีนามแฝงว่า เอริก โอดรองจ์ หรือ เอริก อองเดรนจ์)
อองเดรนจ์เป็นนักทำลายใต้น้ำจู่โจม เป็นผู้นำเรือยางและเครื่องยนต์ติดท้ายเรือสำหรับแผนวางระเบิดเข้ามาจากลอนดอน เขาถูกจับได้ที่เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากหลบหนีอยู่หกปี แต่ทางการนิวซีแลนด์แจ้งต่อรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ไม่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน
พันตรีอแลงน์ มาฟาร์ต (มีนามแฝงว่า อแลงน์ ตูรินจ์)
มาฟาร์ตเป็นสมาชิกของหน่วยสืบราชการลับฝรั่งเศส สนับสนุนทีมก่อวินาศกรรม ตำรวจนิวซีแลนด์จับตัวได้ขณะไปคืนรถเช่า เขายอมรับสารภาพในข้อกล่าวหาสังหารหมู่และถูกจำคุก 10 ปี แต่ต่อมาถูกเนรเทศไปยังฐานทัพทหารอาโอ ในเฟรนช์ โปลินีเซีย เพียงสามปีก่อนเดินทางกลับปารีส และ ปัจจุบันติดยศพันเอก
นาวาเอกโดมินิเก พริเยอร์ (มีนามแฝงว่า โซฟี ตูรินจ์)
พริเยอร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนสันติภาพของยุโรป หลังจากถูกตำรวจนิวซีแลนด์จับ เธอได้รับโทษเช่นเดียวกับมาฟาร์ต สามีของพริเยอร์ได้รับอนุญาตให้อยู่ร่วมกับเธอได้ที่ฐานทัพอาโอ พริเยอร์ตั้งครรภ์และย้ายกลับกรุงปารีสในปี 2531 ขณะนี้พริเยอร์ติดยศพันตรี
นาวาเอกหลุยส์ ปิแอร์ ดิลเลส์ (มีนามแฝงว่า ฌอง หลุยส์ ดอร์มุนด์)
ดิลเลส์ เป็นหัวหน้าทีมระเบิดเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เป็นผู้ขับเรือยางให้นักประดาน้ำทั้งสองคน ขณะนี้ยังรับราชการอยู่หน่วยสืบราชการลับทางทหารของฝรั่งเศส
นาวาเอกฌอง-คลูด ลีสกีร์
ลีสกีร์ติดยศนาวาเอกในปี 2528 และเป็นหัวหน้าทีมปฏิบัติการวางระเบิด เขาถูกถอดจากตำแหน่งจากเรื่องอื้อฉาว แต่กลับได้เลื่อนขั้นเป็นพันเอกจากสงครามอ่าว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2538 เขาได้เลื่อนขั้นเป็นพลตรี