การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงระบบภูมิอากาศ(climate system) โดยมนุษย์เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ออกสู่บรรยากาศโลกในช่วง150 กว่าปีที่ผ่านมา ก๊าซเรือนกระจกดูดซับและกักเก็บความร้อนที่แผ่ออกจากโลก ผลคือโลกร้อนขึ้น กิจกรรมของมนุษย์ทั้งจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า และการทำปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อนและในที่สุดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย

โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะในขณะที่กำลังเดินเครื่อง ได้ปล่อยควันจากการเผาไหม้ถ่านหินจากปลายปล่องในช่วงเช้า และเดินเครื่องอีกครั้งในช่วงเวลากลางคืน

การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติในภาคพลังงาน ภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคการคมนาคมขนส่งและภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง รายงาน Carbon Majors Database ยังระบุว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีบริษัทอุตสาหกรรมฟอสซิลเพียง 100 แห่งที่เป็นแหล่งกำเนิดของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกถึงร้อยละ 70

ภาพภูเขาหัวโล้นในจังหวัดน่าน ปัจจุบันชาวสวนนิยมปลูกข้าวโพดเป็นอาหารสัตว์เพื่อส่งขายให้กับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ การสำรวจในปี พ.ศ.2558 พบว่าการเผาป่าและการถางป่าเพื่อปลูกข้าวโพดในจังหวัดน่านมีส่วนทำให้ปรากฎการณ์เอลนิโญ่รุนแรงขึ้น

การตัดไม้ทำลายป่า

ในเขตขั้วโลกและแถบละติจูดกลาง ป่าไม้ช่วยควบคุมสภาพภูมิอากาศให้อุ่นขึ้น ส่วนป่าฝนเขตร้อน ใบไม้ของพรรณพืชช่วยจับความชื้นและปล่อยให้ระเหยออกมาช้าๆ เป็นเสมือนเครื่องจักรธรรมชาติ เมื่อผืนป่าถูกโค่นลงและมีการเผาป่าในพื้นที่ขนาดใหญ่ สภาพที่แห้งและร้อนขึ้นจะเข้าไปแทนที่

ป่าฝนเขตร้อนมีคาร์บอนไดออกไซด์กักเก็บอยู่ครึ่งหนึ่งของคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในพรรณพืชทั่วโลก เมื่อมีการเผาป่าไม้ คาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลจะปล่อยออกสู่บรรยากาศโลก ต้องใช้เวลาหลายทศวรรษไม่ว่าจะเป็นกลไกทางธรรมชาติหรือการปลูกป่าทดแทนเพื่อดึงคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศกลับคืนสมดุล

วัวที่ถูกเลี้ยงในฟาร์ม Tangara ที่ ซานตาอมาเลีย บราซิล

การทำปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม

การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเชิงอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียวได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกใกล้เคียงกับการปล่อยจากภาคการคมนาคมขนส่ง นอกจากนี้ยังมีการใช้ปุ๋ยที่มีส่วนผสมของไนโตรเจนยังสามารถปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ได้อีกด้วย

ก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมมนุษย์ดังกล่าวนี้เมื่อปล่อยออกสู่บรรยากาศจะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกไปอีกหลายทศวรรษ (หรืออาจเป็นหลายศตวรรษ)

ขณะนี้ โลกของเราไม่อาจรองรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ได้อีกแล้ว

หากเราไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีโอกาสสูงอย่างยิ่งที่สังคมมนุษย์จะเผชิญกับความเสี่ยงจากเหตุการณ์สภาพอากาศแบบสุดขั้วและหายนะภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่สามารถย้อนกลับคืนเหมือนเดิม

Hazibition : นิทรรศการใต้ฝุ่น เปิดต้นตอปัญหาฝุ่นควัน