หัวใจแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผืนป่าในอินโดนีเซีย

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือศูนย์กลางแห่งความหลากหลายทางชีวภาพของโลก

ผืนป่าเฉพาะในประเทศไทยมีจำนวนชนิดพันธุ์พืชและสัตว์คิดเป็นร้อยละ 5-8 ของที่พบทั้งหมดในโลก พบชนิดพันธุ์พืชที่มีท่อลำเลียง 10,250 ชนิด นก 10,250 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 336 ชนิด ส่วนผืนป่าในอินโดนีเซียคือถิ่นที่อยู่อาศัยของเหล่าปักษา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และพรรณพืชร้อยละ 10-15 ของสัตว์ป่าและพรรณพืชที่เรารู้จัก อุรังอุตัง ช้าง เสือ แรดและเหล่าปักษามากกว่า 1,500 สายพันธุ์และพืชนับพันสายพันธุ์ ทั้งหมดคือมรดกทางธรรมชาติและหัวใจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซียถือเป็นผืนป่าที่สำคัญของโลกและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมพื้นที่ ป่าฝนเขตร้อนในสุมาตรา ป่าฝนเขตบอร์เนียวและปาปัว

ป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซียยังคงถูกคุกคามอย่างหนักและถูกทำลายจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและเยื่อกระดาษ ทำลายป่าพรุที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ป้องกันการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก อีกทั้งยังทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลากชนิดรวมถึงเสือสุมาตรา อุรังอุตังในบอร์เนียว และนกปักษาสวรรค์(Bird of Paradise)ซึ่งมีถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่ในปาปัวเพียงที่เดียวในโลก

Primary Forest in Papua. © Ulet Ifansasti / Greenpeace

ภาพมุมสูงของป่าฝนเขตร้อนใกล้กับแม่น้ำ ดิกัล (Digul) ทางตอนใต้ของปาปัว

6% คือตัวเลขของป่าฝนเขตร้อนที่เหลืออยู่บนโลก

ผืนป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซียเป็น 1 ในร้อยละ 6 นี้ ป่าฝนเขตร้อนเป็นแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนที่สำคัญที่สุดให้กับมนุษย์ ในบริเวณป่าฝนเขตร้อนจะมีไม้ปกคลุมหลายระดับ ทั้งพืชคลุมดิน ไม้พุ่ม เถาวัลย์ ไม้เรือนยอด และไม้สูง เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากและเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพรรณพืชหลากหลายชนิด

ที่สำคัญที่สุด ป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซียเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่าสามหมื่นห้าพันล้านตัน แน่นอนว่าผืนป่าแห่งนี้นี้กำลังลดน้อยถอยลง และมีศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงไปเรื่อยๆ

การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตกว่าร้อยละ 70-90 อยู่ในป่าฝนเขตร้อน แต่การทำลายป่าเพื่อปรับหน้าดินให้กลายเป็นสวนปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด อ้อย และเยื่อกระดาษ ทำให้มีสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปกว่า 50 – 100 สายพันธุ์ต่อวัน

ปัจจุบันป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซียถูกทำลายไปแล้วถึงร้อยละ 72 ของพื้นที่ทั้งหมด อุรังอุตังและเสือสุมาตรา รวมถึงสัตว์ป่าและพรรณพืชที่หลากหลายกำลังเผชิญความเสี่ยง เช่นเดียวกับชุมชนท้องถิ่นนับล้านคนที่มีผืนป่าแห่งนี้เป็นดั่งชีวิต เป็นแหล่งพักพิงและแหล่งอาหาร

การทำลายป่าคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพบนโลก และมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทยและฟิลิปปินส์มีความล่อแหลมต่อผลกระทบที่เป็นหายนะของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด