พลังของเรา ช่วยหยุดวิกฤตในมหาสมุทรได้

วิกฤตต่างๆในทะเลและมหาสมุทรที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงหลายภาคส่วนจนเราคิดว่า คนธรรมดาและผู้บริโภคอย่างเราไม่อาจยื่นมือเข้าไปช่วยอะไรได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราทุกคนนั้นมีบทบาทสำคัญในการกู้วิกฤตของทะเลมหาสมุทร

พลังของพวกเราจะกำหนดความเป็นไปของทรัพยากรในมหาสมุทร ยกตัวอย่างเช่น การที่ผู้บริโภคผลักดันให้บริษัทใหญ่หันมาปรับปรุงระบบการจับทูน่า ปลาที่นิยมนำมาทำเป็นปลาทูน่ากระป๋อง ให้ยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงความยั่งยืนของระบบนิเวศ

ภาคประชาชนและเครือข่ายชุมชนที่ลงมือปกป้องทรัพยากรอันล้ำค่าในทะเลและมหาสมุทร

มีปัจเจกชน ชุมชนและกลุ่มองค์กรต่างๆ ทำงานเพื่อปกป้องทะเลไทยอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง  เช่น กลุ่มอนุรักษ์ชายหาด  เครือข่ายประมงพื้นบ้าน(สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทย เป็นต้น) หรือภาคประชาชนที่ทำงานสนับสนุนการทำประมงอย่างยั่งยืนและมีจริยธรรม อาทิ ร้านคนจับปลา (Fisher Folk) และ โครงการประมงพื้นบ้านสัตว์น้ำอินทรีย์ ธุรกิจเพื่อสังคมที่เน้นรับซื้อปลาจากชาวประมงที่จับปลาอย่างยั่งยืน ไม่ทำร้ายท้องทะเล ปลอดภัยกับผู้บริโภคในราคาที่เป็นธรรม ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน

การสนับสนุนการบริโภคอาหารทะเลจากการประมงที่ยั่งยืนเป็นการแสดงจุดยืนว่าผู้บริโภคต้องการอาหารทะเลที่ปลอดภัยและไม่ทำร้ายท้องทะเล เป็นทางเลือกของผู้บริโภคที่จะช่วยหยุดภัยคุกคามต่อทะเลและมหาสมุทรของเราทุกคนได้

อาหารทะเลยั่งยืน

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าก่อนที่ปลาหรืออาหารทะเลจะเดินทางมาถึงจานอาหารคุณนั้นอาจมาจากการประมงที่ทำลายระบบนิเวศทางทะเลอย่างใหญ่หลวงอย่างไรบ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่เราควรถามไถ่ถึงแหล่งที่มาของปลาที่คุณกิน เพราะเราอาจกำลังมีส่วนให้เกิดวิกฤตในท้องทะเลโดยไม่รู้ตัว

เรื่องขนาดใครว่าไม่สำคัญ!

คำกล่าวที่ว่ากินลูกปลาแล้วจะได้แคลเซียมเยอะนั้นเป็นเพียงความเชื่อ การที่บริโภคปลาที่ยังมีขนาดเล็กนั้นก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งระบบนิเวศและระบบเศรษฐกิจไทย เช่น ปลาทูตัวเล็ก 1 กิโลกรัม มีจำนวนประมาณ 1,000 ตัว ราคา กิโลกรัมละ 100 บาท แต่หากปล่อยให้ปลาทูเจริญเติบโตและบริโภคในขนาด 10-13 ตัวต่อกิโลกรัม ราคากิโลกรัมละประมาณ 80-120 บาทปลาทูจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 8,000-12,000 บาท น่าเสียดายแค่ไหนที่ลูกปลาทูไม่มีโอกาสได้โตเป็นปลาทูตัวใหญ่เนื้อแน่นให้เราได้กินกันและขยายพันธุ์สร้างปลาทูได้อีกจำนวนมหาศาล  

ลองมาดูกันสิว่า เราควรเลือกซื้ออาหารทะเลที่มีขนาดเท่าไรจึงจะไม่สร้างความสูญเสียให้กับท้องทะเล

เติมรักให้ทะเล ด้วยการเลี่ยงกินปลาเหล่านี้

ทะเลและมหาสมุทรมีระบบนิเวศที่หลากหลายและสิ่งมีชีวิตทุกชนิดต่างมีความเชื่อมโยงและพึ่งพาอาศัยกัน สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่คนรักอาหารทะเลทำได้คือไม่กินอาหารทะเลที่มาจากสัตว์น้ำเหล่านี้

ฉลาม: ผู้บริโภคบางกลุ่มมีความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการบริโภคหูฉลาม บ้างเชื่อว่าเป็นเมนูบำรุงสุขภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้วหูฉลามหนึ่งชามมีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับไข่เป็ดเพียงหนึ่งฟองเท่านั้น

ทะเลที่มีฉลาม ก็เหมือนกับป่าที่มีเสือ ฉลามเป็นผู้ล่าแห่งท้องทะเล การฆ่าฉลามจึงทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเสียสมดุลเพราะเป็นการตัดวงจรผู้ล่าอันดับบนสุด ในทุกๆปีมีฉลามจำนวนกว่า 73 ล้านตัวถูกฆ่าเพื่อเป็นอาหาร จนทำให้ฉลามตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์

ปลากระเบนราหูน้ำเค็ม (แมนตา): ถูกจัดในบัญชีแดงของไทย (IUCN Red List, Thailand) ในประเภท “มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable : VU)”  เนื่องจากขยายพันธุ์ยากเมื่อเทียบกับสัตว์น้ำสายพันธุ์อื่น โดยตัวเมียต้องมีอายุ 10 ปี จึงเริ่มผสมพันธุ์ได้ ใช้เวลาตั้งครรภ์นาน 1 ปี และให้กำเนิดลูกครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น  หลังกำเนิดลูกจะต้องพักตัวอีก 2-5 ปี จนกว่าจะเริ่มผสมพันธุ์ได้ใหม่ ดังนั้นการจับปลากระเบนแมนตา 1 ตัว เท่ากับต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อจะได้ประชากรใหม่มาทดแทน

ปลานกแก้ว: ปลานกแก้วทุกตัวมาจากการประมงที่ผิดกฎหมาย เพราะปลานกแก้วมีถิ่นอาศัยอยู่ในแนวปะการัง และแนวปะการังเกือบทั้งหมดในประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครอง ปลานกแก้วมีความสำคัญสูงสุดในแนวปะการัง โดยปลานกแก้วจะขับถ่ายออกมาเป็นทรายละเอียด ช่วยเพิ่มปริมาณเม็ดทรายในทะเล หมุนเวียนแร่ธาตุในแนวปะการัง เรียกได้ว่าเป็นผู้พิทักษ์แนวปะการังตัวจริง

ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน: ปลาทูน่าที่มีราคาสูงถึงหลักล้านพันธุ์นี้เป็นที่ต้องการอย่างมากในวงการซูชิ หรือที่เรียกว่า “ฮอนมากุโร” โดยถูกล่าเพื่ออาหารจานหรูของมนุษย์จนเกือบใกล้สูญพันธุ์ และการประมงทูน่านั้นมักเป็นประมงแบบทำลายล้าง ที่มีผลพวงคือการจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่สัตว์เป้าหมาย เช่น ฉลาม

เอ็นหอยจอบ: การทำประมงเพื่อเอาเอ็นหอยมาทำอาหารมีเบื้องหลังที่ทำร้ายท้องทะเล ด้วยการขุดเอาหอยขึ้นมา เลือกตัดเฉพาะเอ็นของหอยจอบ ทิ้งเปลือกและเนื้อลงทะเล ส่งผลให้น้ำทะเลเน่าเสีย ทิ้งให้ทะเลเต็มไปด้วยเศษซากของเปลือกหอยและตะกอนดิน

ปลาที่มีไข่ หมึกไข่ ปูไข่นอกกระดอง: หากเรากินแม่พันธุ์สัตว์น้ำเหล่านี้จะเป็นการตัดวงจรการเกิดของสัตว์น้ำอีกหลายหมื่นหลายแสนตัว และทำให้ปริมาณปลาลดลงเนื่องจากไม่มีโอกาสได้ขยายพันธุ์

นอกจากนี้ เราสามารถช่วยเป็นกระบอกเสียงเพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตในทะเลที่เป็นสัตว์คุ้มครองตามกฎหมายและไม่สนับสนุนการบริโภคสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์บัญชีแดงของสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ(International Union for Conservation of Nature-IUCN)

ลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

สิ่งที่น่าตกใจสำหรับวิกฤตในมหาสมุทรอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือมลพิษพลาสติก พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นตัวการสำคัญของภัยคุกคามของสัตว์ทะเล ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ (University of Exeter) และสถาบันวิจัยทางทะเลพลีมัธ (Plymouth Marine Laboratory – PML) พร้อมด้วยทีมนักวิจัยของกรีนพีซตรวจพบพลาสติกจิ๋วหรือไมโครพลาสติก (ขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร) ในทางเดินอาหารของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมเช่นโลมา แมวน้ำ และวาฬจำนวน 50 ตัว 10 สายพันธ์ุ ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุและถูกพัดมาเกยตื้นบนชายฝั่งรอบสหราชอาณาจักร

พลาสติกที่พบกว่าร้อยละ 84 เป็นเส้นใยสังเคราะห์ที่สามารถพบได้ในเสื้อผ้า ตาข่ายจับปลา และแปรงสีฟัน หรือมาจากพลาสติกที่แตกตัวจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกและขวดพลาสติก

ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในบรรจุภัณฑ์พลาสติกยังคงบอกให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ รีไซเคิลพลาสติกใช้ครั้งเดียวนี้ต่อไป แต่การรีไซเคิลขยะพลาสติกไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป เราต้องลดและยุติการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในทุกๆทาง ทั้งการออกนโยบายควบคุมการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ความร่วมมือจากบริษัทที่จะต้องหยุดการนำพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ และพลังของผู้บริโภคในการลดหรือหยุดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง