สถานะ การขออนุมัติประทานบัตรในการทำเหมืองแร่

ย้อนหลังไปในปี 2530 มีบริษัทเอกชนเข้ามาขอซื้อที่ดินในหมู่ 12 บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จากการบอกเล่า สมาชิกในชุมชนส่วนหนึ่งต้องขายที่ดินให้ไปอย่างไม่เต็มใจ เนื่องจากถูกข่มขู่หากไม่ยอมขายให้ และถูกยึดที่ดินโดยชาวบ้านจะไม่ได้อะไรตอบแทน

ในปี 2543 บริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เนื้อที่ประมาณ 284 ไร่ 30 ตารางวา มีปริมาณถ่านหินจากการสำรวจประมาณ 720,000 ตัน ระยะเวลาในการยื่นขอทำสัมปทาน 10 ปี  โดยมีชุมชน 2 แห่งที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรห่างจากพื้นที่เหมืองคือ บ้านกะเบอะดินและบ้านขุน รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) [1] ระบุว่า ถ่านหินที่ขุดได้จากเหมืองที่อมก๋อยจะใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานปูนซีเมนต์ที่จังหวัดลำปาง

นับตั้งแต่มีการสำรวจแหล่งแร่ในปี 2543 มาจนถึงการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จในเดือนตุลาคมปี 2554  ชาวอมก๋อยต่างตั้งข้อสงสัยถึงขั้นตอนการทำงานของเจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษา ทั้งในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของโครงการ รายชื่อของสมาชิกในชุมชนที่ยินยอมให้ทำเหมืองถ่านหินไม่ตรงกับลายเซ็นในเอกสาร ส่วนหนึ่งเป็นรายชื่อของผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ  ในกรณีของหมู่บ้านกะเบอะดินซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวปกากะญอ บางคนไม่สามารถพูดหรือเขียนภาษาไทยได้ แต่มีรายชื่อเซ็นยอมรับโครงการในรายงาน EIA

การทำมติประชาคมในปี2552 เพื่อใช้ประกอบรายงาน EIA โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ไม่มีการชี้แจงถึงผลกระทบจากการทำเหมืองถ่านหินทั้งต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบ หากเป็นการประชาสัมพันธ์ว่าชาวบ้านจะมีไฟฟ้าและถนนเข้ามาในหมู่บ้าน

ในเดือนพฤษภาคม 2562 ชุมชนในพื้นที่อมก๋อยรวมตัวยื่นจดหมายและข้อเรียกร้องให้ยุติโครงการเหมืองถ่านหินถึงนายอำเภออมก๋อย โดยหยิบยกผลกระทบผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ผลกระทบด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศ การปนเปื้อนมลพิษในแหล่งน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำทิ้งจากเหมืองถ่านหินที่มีสภาพเป็นกรด(Acid Mine Drainage ; AMD) ตลอดจนการทำลายระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

ล่าสุดในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้นำศาสนา​และชุมชนในอำเภออมก๋อยกว่า 500 ​คน​ ร่วมประกอบพิธีบวชป่า กิจกรรมทำแนวกันไฟ ฝังหมุดประกาศเขตพื้นที่ทางจิตวิญญาณบริเวณพื้นที่ป่าหมู่บ้านกะเบอะดิน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า “ชาวอมก๋อยไม่ต้องการให้วิถีชีวิตและอัตลักษณ์จากสิ่งชั่วร้ายมาเอาไปซึ่งผืนดินและทรัพยากรชุมชน และยืนยันว่าจะปกป้องทรัพยากรของประเทศต่อไป”

[1] บริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด 2554: รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับสมบูรณ์) โครงการทำเหมืองแร่ถ่านหิน คำขอประทานบัตรที่ 1/2543 ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ของ บริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด, กรุงเทพมหานคร


แผนที่น้ำทรัพยากรของชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองถ่านหิน