ผลกระทบของนิวเคลียร์ต่อชีวิต และการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
เป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษแล้ว ที่เกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุนิวเคลียร์กลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้เกิดการปนเปื้อนกัมมันตรังสีพื้นที่ขนาดใหญ่ในทวีปยุโรป คนรุ่นปัจจุบันอาจจำไม่ได้ว่า หลายประเทศต้องทำลายผักโขมและผักสีเขียวอื่นๆ เช่น เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี มีการยกเลิกการบริโภคนม และวัวทั่วยุโรปต้องถูกกักไว้ในคอกเท่านั้น
เหตุการณ์นี้ส่งผลให้กวางขนาดใหญ่จำนวนมากในแลปแลนด์ แกะในเลคดิสทริคของประเทศอังกฤษ และหมูป่าในแทบชวาร์ซวาลด์ของประเทศเยอรมนี ต้องถูกฆ่าทิ้งเนื่องจากพวกมันปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่สูงเกินไป
ในหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบสูงสุดคือ ประเทศเบลารุส ยูเครน และรัสเซีย พื้นที่หลายร้อยตารางกิโลเมตรยังคงเป็นพื้นที่ปนเปื้อนเกินที่จะมีผู้คนกลับเข้ามาอยู่อาศัยได้ และผู้คนอีกหลายล้านคนในบริเวณห่างออกไปยังคงต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวันอยู่เพราะอาจเสี่ยงกับสารปนเปื้อน ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2529 เด็กๆที่อยู่ในรัศมีที่กัมมันตรังสีสามารถแผ่ไปถึงต่างป่วยเป็นโรคมะเร็ง ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่าอาจมีผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 คนจากสารกัมมันตรังสีจากเหตุการณ์นี้
เหตุการณ์ที่ว่านั่นคือ หายนะภัยนิวเคลียร์เชอร์โนบิล
ต่อมาในปี พ.ศ.2554 เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นซ้ำในญี่ปุ่น ปรากฎการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงและทำให้เตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิได้รับความเสียหาย จนเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีปริมาณมหาศาล
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ผู้คนเกือบแสนคนที่อาศัยอยู่ใกล้กับบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่สามารถกลับบ้านเดิมของเขาได้ วิถีชีวิตรอบๆโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เสียหายนั้นหยุดชะงักจนกระทั่งปัจจุบัน นี่เป็นสิ่งที่เราทราบจากประสบการณ์ตรงว่าพลังงานนิวเคลียร์นั้น มาพร้อมกับความเสี่ยงขั้นรุนแรง
หลังการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ผู้คนต่างหวาดกลัวการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีสู่สิ่งแวดล้อม หลายประเทศยุติการนำเข้าอาหารทะเลจากฟุกุชิมะ เกิดความหวาดกลัวว่าเด็กๆในรัศมีใกล้เคียงอาจได้รับการแผ่รังสีและมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งดังเช่นเหตุการณ์ในเชอร์โนบิล
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในฟุกุชิมะ
จากรายงาน Radiation Reloaded กล่าวว่า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของหายนะภัยนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิจะยังคงอยู่ไปอีกหลายสิบปีหรืออาจนับร้อยปี เนื่องจากสารประกอบของกัมมันตภาพรังสีนั้นซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อของพืชและสัตว์ และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร และมีการแพร่กระจายปนเปื้อนลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกโดยพายุไต้ฝุ่น การละลายของน้ำแข็ง และการเกิดน้ำท่วม
จากรายงานดังกล่าว กรีนพีซได้สำรวจระดับการปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ฟุกุชิมะ 25 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.2554 โดยในปี พ.ศ.2558 เน้นการสำรวจไปที่พื้นที่ป่าไม้บนภูเขา ในเขตอิตาเตะ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ โดยทั้งกรีนพีซและทีมวิจัยอิสระได้ตรวจพบการเคลื่อนย้ายแพร่กระจายของกัมมันตรังสีที่สันปันน้ำของภูเขา ซึ่งหลังจากนั้นอาจเข้าสู่ระบบนิเวศชายฝั่งทะเล
แม่น้ำอาบุกุมะ ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายใหญ่ของญี่ปุ่นที่ไหลผ่านพื้นที่ฟุกุชิมะ มีระดับการปนเปื้อนซีเซียม 137 ที่ 111 เทราเบคเคอเรล (terabecquerel, TBq) และที่ 44 เทราเบคเคอเรล (terabecquerel, TBq) ภายใน 100 ปี หลังจากหายนะภัย
เป็นที่ชัดเจนว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงแรกกำลังปรากฎ อาทิ การปนเปื้อนกัมมันตรังสีในเนื้อเยื่อของพืชป่าและต้นไม้ ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายของธาตุซีเซียมในเปลือกไม้ เนื้อไม้และแก่นไม้ โดยมีความเข้มข้นสูงในใบไม้ใหม่ สำหรับกรณีของต้นซีดาร์จะพบมากที่เกสร ปริมาณระดับรังสีจะมีมากขึ้นในต้นสน
นอกจากนี้ยังพบในประชากรผีเสื้อพันธุ์ Pale Grass Blue หนอนที่ดีเอ็นเอได้รับความเสียหายพบในบริเวณที่มีการปนเปื้อนกัมมันตรังสีสูง พบธาตุซีเซียมปนเปื้อนในปลาน้ำจืดเศรษฐกิจ นกนางแอ่นบ้านมีความแข็งแรงน้อยลง รวมถึงพบการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในระบบนิเวศที่สำคัญอย่างยิ่งของพื้นที่ชายฝั่งปากแม่น้ำ
เราจำเป็นต้องมีระบบพลังงานที่สามารถต่อกรกับวิกฤตสภาพอากาศ ที่มีพื้นฐานอยู่บนระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานนิวเคลียร์มีน้อยกว่าไฟฟ้าจากระบบพลังงานหมุนเวียน และจะยังคงลดลงต่อไปในอีกหลายปีที่กำลังจะมาถึง
การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะมีค่าใช้จ่ายหลายสิบล้านล้านบาท อาจเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงเหมือนกับเหตุการณ์เชอร์โนบิลหรือเหตุการณ์ในฟุกุชิมะและจะก่อให้เกิดกากกัมมันตภาพรังสีในระดับสูงที่ทำให้เสียชีวิตได้ รวมทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้ส่วนประกอบของอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มอย่างรวดเร็ว
Hazibition : นิทรรศการใต้ฝุ่น เปิดต้นตอปัญหาฝุ่นควัน