พลาสติกตัวร้าย ภัยคุกคามห่วงโซ่อาหาร

รู้หรือไม่ว่าขยะพลาสติกเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ร้อยละ 12 ถูกนำไปเผาซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และที่เหลือร้อยละ 79 ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม และหลุดเข้าข่ายใยอาหารในระบบนิเวศ

มลพิษพลาสติกเหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ทั้งเต่าทะเล ปลา นกทะเล รวมถึงปะการังด้วย นอกจากนี้การแตกตัวของขยะพลาสติกไปสู่พลาสติกจิ๋วๆ ที่เราเรียกมันว่า ไมโครพลาสติก ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกสัตว์ทะเลกินเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อเป็นเช่นนั้น ไมโครพลาสติกเหล่านี้ก็จะไหลทะลักเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร และแน่นอนว่ามนุษย์เราก็เป็นหนึ่งในห่วงโซ่นี้

การปนเปื้อนไมโครพลาสติกในอาหารและมนุษย์

หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของออสเตรีย (The Environment Agency Austria) ได้นำอุจจาระจากผู้ร่วมการทดลอง 8 คน จาก 8 ประเทศอย่าง ออสเตรีย อิตาลี ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหราชอาณาจักร โดยแต่ละคนได้รับประทานอาหารประจำวันแบบปกติ (ผู้ที่ร่วมการทดลองไม่มีใครทานมังสวิรัต และมี 6 คนที่ทานปลาทะเล) ก่อนที่จะส่งอุจจาระของพวกเขาให้หน่วยงานได้วิเคราะห์

ผลที่ได้คือ ตรวจเจอไมโครพลาสติกจากอุจจาระของผู้ที่ร่วมการทดสอบทุกราย โดยไมโครพลาสติกที่พบมีตั้งแต่ พอลิเอทธิลีนเทเรฟธาเลท  (ใช้ทำขวดน้ำดื่ม) โพลีพรอพีลีน (เช่น ถุงร้อนพลาสติกบรรจุอาหาร แก้วโยเกิร์ต ) ไปจนถึง โพลีไวนิลคลอไรด์ หรือ PVC (เช่น ฟิล์มห่ออาหาร) เฉลี่ยแล้วพบว่าในแต่ละ 10 กรัมของอุจจาระจะเจออนุภาคของไมโครพลาสติกจำนวน 20 ชิ้น

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า พบไมโครพลาสติกผสมอยู่ในเกลือ โดยเป็นผลการศึกษาร่วมระหว่างศาสตราจารย์ซึง-คยู คิม (Seung-Kyu Kim) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติอินชอน และกรีนพีซ เอเชียตะวันออก เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก (พลาสติกขนาดจิ๋ว) ในเกลือ พบไมโครพลาสติกในเกลือจากแบรนด์ต่างๆจากทั่วโลก

ผลวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่ามลพิษขยะพลาสติกไม่ได้เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล เพียงอย่างเดียว แต่มลพิษขยะพลาสติกที่พวกเราสร้างขึ้นกำลังคุกคามเราอย่างเงียบๆ

ปลาตัวนี้กำลังว่ายอยู่ท่ามกลางมลพิษขยะพลาสติกในเขตอุทยาน Wadi El Gamal ประเทศอียิปส์

 

ไมโครพลาสติกทำอะไรกับร่างกายเรา

เมื่อไมโครพลาสติกเหล่านี้หลุดรอดเข้าไปอยู่ในร่างกายของเราโดยที่เราไม่รู้ตัวนั้น เราอาจเปรียบเทียบกับงานวิจัยที่ตรวจสอบการหลุดรอดของไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกาย และข่าวร้ายก็คือ พลาสติกเล็กจิ๋ว(แต่ร้าย)พวกนี้มีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า BPA หรือบิสฟีนอลเอ สารตัวนี้จะไปรบกวนการทำงานของระบบในร่างกาย รบกวนการทำงานการปล่อยฮอร์โมนเอสโทรเจน

ด้วยระบบการจัดการขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ล้มเหลว เป็นสาเหตุหลักอีกประการที่ทำให้ขยะพลาสติกไปกองอยู่ในมหาสมุทร นอกเหนือจากปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน กิจกรรมต่างๆของมนุษย์ที่สร้างผลกระทบ มีความเข้าใจไม่เพียงพอถึงผลลัพธ์ที่เกิดจากพฤติกรรมของเรา ช่องว่างของการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล รวมทั้งขาดแหล่งเงินทุน

แม้ว่าในการประชุม Our Ocean (พ.ศ.2561) บริษัทผู้ผลิตอาหารและน้ำดื่มยักษ์ใหญ่ต่างออกมาให้คำมั่น จะปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลทั้งหมด 100% ภายในปี ค.ศ. 2020-2030 ซึ่งถ้ามองจากตัวเลขที่ขยะรีไซเคิลพลาสติกสามารถนำเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้จริงเพียง 9% ก็คงไม่ช่วย เพราะอีก 91%ก็จะไปสิ้นสุดที่หลุมฝังกลบ เตาเผาขยะหรือมหาสมุทรของเรา

การเรียกร้องให้แบรนด์ยักษ์ใหญ่เหล่านี้หยุดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวมาเป็นบรรจุภัณฑ์ของสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นเรื่องของเราทุกคน ทั้งประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ในการกำหนดนโยบายควบคุมและยุติมลพิษพลาสติกตัวร้ายเหล่านี้

 

Hazibition : นิทรรศการใต้ฝุ่น เปิดต้นตอปัญหาฝุ่นควัน