เมื่อโลกเต็มไปด้วยขยะพลาสติก

การผลิตพลาสติกมีความสัมพันธ์กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ บริษัทข้ามชาติมักเลือกประเทศด้อยพัฒนาซึ่งมีการจัดการของเสียที่ไร้ประสิทธิภาพและการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอเป็นปลายทางของการระบายผลิตภัณฑ์พลาสติกของตน ขณะที่สารเคมีที่เป็นพิษในกระบวนการผลิต พลาสติกสามารถหลุดรอดและตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม

 

ทีมงานกรีนพีซกำลังสำรวจขยะกองพลาสติกที่มีปริมาณกว่า 51,000 เมตริกตัน ขยะเหล่านี้มาจากเกาหลีใต้และถูกทิ้งอยู่ในบริเวณการจัดการขยะ Verde Soko ในฟิลอปปินส์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีพ.ศ.2561

มนุษย์เรายังหนีไม่พ้น “พลาสติก”

หากคิดว่ามลพิษพลาสติกยังคงวนเวียนอยู่ในมหาสมุทร แต่ยังมาไม่ถึงมนุษย์เรา คุณคิดผิด เพราะหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของออสเตรีย (The Environment Agency Austria)ได้นำอุจจาระจากผู้ร่วมการทดลอง 8 คน จาก 8 ประเทศอย่าง ออสเตรีย อิตาลี ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหราชอาณาจักร โดยแต่ละคนได้รับประทานอาหารประจำวันแบบปกติ (ผู้ที่ร่วมการทดลองไม่มีใครทานมังสวิรัต และมี 6 คนที่ทานปลาทะเล) ก่อนที่จะส่งอุจจาระของพวกเขาให้หน่วยงานได้วิเคราะห์

ผลที่ได้คือ ตรวจเจอไมโครพลาสติกจากอุจจาระของผู้ที่ร่วมการทดสอบทุกราย โดยไมโครพลาสติกที่พบมีตั้งแต่ โพลีเอธีลีน (ส่วนประกอบของถุงพลาสติก) โพลีพรอพีลีน (ฝาขวดน้ำ) ไปจนถึง โพลีไวนิลคลอไรด์ (ที่พบได้จากท่อพีวีซี) เฉลี่ยแล้วพบว่าในแต่ละ 10 กรัมของอุจจาระจะเจออนุภาคของไมโครพลาสติกจำนวน 20 ชิ้น

สัตว์บนบกก็ถูก(พลาสติก)ทำร้ายเช่นกัน

ไม่ใช่แค่สัตว์ทะเลเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามอันน่ากลัวนี้ แต่สัตว์บนบกก็ต้องเผชิญกับอันตรายเช่นเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็น ช้างที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นกกระสาในสเปน หรือแม้กระทั่งไฮยีนาที่ดินแดนห่างไกลอย่างเอธิโอเปีย ก็หนีไม่พ้นวิกฤตขยะพลาสติก พวกมันอาจบังเอิญกินพลาสติกเข้าไปโดยไม่รู้ตัว หรืออาจโชคร้ายถูกห่อหุ้มด้วยขยะพลาสติก อาทิ ช้างในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่มีรายงานและภาพถ่ายระบุว่า อุจาระของช้างตัวนี้มีถุงพลาสติกและถุงขนมปนอยู่ด้วย

การปนเปื้อนเหล่านี้อันตรายมากเพราะ เมื่อสัตว์กินชิ้นส่วนของพลาสติกเข้าไปพลาสติกชิ้นนั้นจะไปกีดขวางลำไส้ของสัตว์ และไปรบกวนระบบย่อยอาหาร โดยทำให้เอนไซม์ในกระเพาะอาหารหยุดหลั่ง และที่น่ากลัวกว่านั้นคือระดับฮอร์โมนถูกรบกวนหรือทำให้เกิดผลกระทบอื่นๆ ในระบบของร่างกาย มีประมาณการว่าในแต่ละปีมีนกทะเลราว 1 ล้านตัวและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลราว 100,000 ชีวิตตายจากการกินพลาสติกเข้าไปและไปรบกวนระบบย่อยอาหารและติดค้างในกระเพาะอาหารและลำไส้

คงไม่ใช่เรื่องดีนัก ถ้าพวกเราเน้นความสะดวกสบายจากการใช้พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง พวกมันมีอายุการใช้งานสั้น แต่ใช้เวลาย่อยสลายยาวนาน ดังนั้นเพื่อลดภาระโลกและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเราในอนาคต คำตอบคือ การลดใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทาง พัฒนาหาวัสดุทางเลือกที่ไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต