พลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย?

เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ประเทศไทยมีโอกาสอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนใน การบรรลุเป้าหมายพลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี พ.ศ. 2593 พลังงานหมุนเวียน 100% หมายถึงระบบพลังงานที่สามารถตอบสนองความต้องการ ในสังคมจากการผสมผสานเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน อาทิ ลม แสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพ ความร้อนใต้พิภพและชีวมวล เข้ากับเทคโนโลยีด้านประสิทธิภาพพลังงาน โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ การพัฒนาระบบสายส่งแบบกระจายศูนย์ รวมถึงระบบเก็บประจุไฟฟ้า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน 100% ไม่ใช่คำถามเรื่องความเป็นไปได้ทางเทคนิคหรือผลดีในทางเศรษฐกิจอีกต่อไป หากแต่เป็นเรื่องของเจตจำนงทางการเมือง

Wind Turbine in Nakhon Si Thammarat. © Jonas Gratzer / Greenpeace

กังหันลมพลังงานในนครศรีธรรมราช ผู้คนในลุ่มน้ำปากพนังคัดค้านแผนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ภาครัฐควรสนับสนุนการลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพื่อเป็นพลังงานที่มีศักยภาพยั่งยืนกว่าเดิม

 

Krabi Goes Green สู่เมืองต้นแบบ พลังงานหมุนเวียนเกินร้อย

การศึกษาร่วมกันของเครือข่ายนักวิชาการอิสระระบุว่า เมื่อพิจารณาศักยภาพแหล่งพลังงาน หมุนเวียนของจังหวัดกระบี่และความเป็นไปได้ในเชิงปริมาณพลังงานหมุนเวียนที่จะตอบสนองความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดของจังหวัด กระบี่สามารถเป็นจังหวัดต้นแบบที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างสมบูรณ์ 100% ทุกๆ ชั่วโมงในปี พ.ศ.2569

ปัจจัยหลักของการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนคือการมีนโยบายที่เหมาะสม เช่น การรับซื้อพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบก่อนพลังงานฟอสซิล การมีกลไกการผลิตและราคาพลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุน และการปรับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การพัฒนาสายส่งและระบบโครงข่ายอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพก็เป็นส่วนที่ขาดไม่ได้

 

กองทุนแสงอาทิตย์ Thailand Solar Fund

เป็นการระดมทุนครั้งใหญ่ของเครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการในการสร้าง Solar Rooftop ให้กับโรงพยาบาล การรวมตัวครั้งนี้เกิดขึ้นในนาม “เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์” โดยจะติดตั้ง Solar Rooftop ให้กับโรงพยาบาลรัฐทั้ง 7 แห่งที่เป็นโรงพยาบาลนำร่องในการติดตั้ง (โรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก โรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลศรีอุดม จ.อุบลราชธานี โรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น โรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี โรงพยาบาลสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และโรงพยาบาลหลังสวน จ. ชุมพร)

โครงการมีเป้าหมายเพื่อนำเงินที่ลดค่าไฟฟ้าไปใช้ในการรักษาชีวิตผู้ป่วยและเพิ่มขีดความสามารถในการบริการประชาชนอย่างเต็มที่ต่อไป และแสดง ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมถึงศักยภาพของการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน

การติดตั้ง Solar Rooftop ขนาด 30 เมกะวัตต์ในโรงพยาบาล 1 แห่งนั้นจะช่วยลดค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลได้ถึง 2 แสนบาทต่อปี และหากสามารถติดตั้ง Solar Rooftop ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศได้ถึง 1,000 เมกะวัตต์ ก็สามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลกว่า 7,200 บาทต่อปีอีกด้วย

เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างเป็นธรรม กรีนพีซรณรงค์ผลักดันผู้กำหนดนโยบายให้มีการคุ้มครองสิทธิในการใช้ทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้าและนโยบายที่กำหนดให้ลูกค้าของการไฟฟ้าสามารถเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองในบ้านเรือนหรือในกิจการของตนเอง(Net Metering)