มรดกจากหายนะภัยเชอร์โนบิลและฟุกุชิมะ

เมื่อหายนะภัยนิวเคลียร์เกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะจัดการกับการปนเปื้อนกัมมันตรังสี และการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนนั้นก็ไม่สามารถทำได้สมบูรณ์

หายนะภัยที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในปีพ.ศ. 2529 และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะในปีพ.ศ. 2554 บอกกับเราถึงผลพวงอันร้ายแรงที่ตามมาของอุบัติภัยนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ นั่นคือ ความเสียหายในระยะยาวต่อสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อม บาดแผลเหล่านี้ยังคงอยู่กับเราในปัจจุบัน และยังคงอยู่กับเราอีกยาวนานในอนาคต ผลกระทบนั้นย่อมมีมากกว่าการเสียชีวิตของประชากรหลายหมื่นคนและผลกระทบทางสุขภาพของประชากรหลายแสนคน

แม้ว่าอุตสาหกรรมนิวเคลียร์พยายามอย่างมากในการจำกัดขอบเขตของผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนของผู้เสียชีวิต แต่ในความจริงแล้วผลกระทบนั้นกระจายออกไปในวงกว้างในระดับที่ซับซ้อนและฝังรากลึก

เราอาจสรุปผลกระทบของการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 2 เหตุการณ์ได้ดังนี้

1. การปนเปื้อน

ทั้งเหตุการณ์สารกัมมันตรังสีรั่วไหลในฟุกุชิมะและเชอร์โนบิลต่างเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแผ่รังสีจากการสลายของไอโซโทปกัมมันตรังสี ในบริเวณกว้าง ประชาชนไม่สามารถกลับเข้าไปในพื้นที่เพื่ออาศัยได้อีกต่อไป อย่างไรก็ดียังมีประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่จะถูกผลกระทบของการแผ่รังสีนี้ทั้งในฟุกุชิมะและเชอร์โนบิล ซึ่งทำให้พวกเขามีความเสี่ยงที่จะป่วยหรือมีปัญหาทางด้านสุขภาพทั้งกายและใจ

ผลการการตรวจสอบรังสีพบว่าพื้นที่ป่ารอบเชอร์โนบิลและฟุกุชิมะกลายเป็นแหล่งที่มีการสะสมสารกัมมันตรังสี กรีนพีซกล่าวว่าป่าไม้ที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีทำให้ชุมชนใกล้เคียงมีความเสี่ยงจากการสัมผัสหรือเกิดการปนเปื้อนขึ้นใหม่

ถุงเก็บหน้าดินและหญ้าที่ปนเปื้อนกัมนตรังสีที่ถูกเก็บจากพื้นที่ปนเปื้อนในอิตาเตะ เชื่อว่านี่เป็นวิธีลดการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีในพื้นดินด้วยการถางหน้าดินที่มีการปนเปื้อนมากที่สุดออก

2.ผลกระทบต่อสุขภาพ

หลังจากเหตุการณ์เชอร์โนบิล เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นวงกว้างในยูเครน เบลารุส และรัสเซีย ในหลากหลายด้าน โดยเด็กๆและกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบที่ชัดเจนนั่นคือการวินิจฉัยว่าพวกเขาเป็นมะเร็ง เช่นมะเร็งเต้านม และลูคีเมีย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบว่าศักยภาพการรับข้อมูลของกลุ่มผู้ใช้แรงงานลดลงอีกด้วย

3.ผลกระทบต่อวิถีชีวิต

ทั้งเหตุการณ์ในฟุกุชิมะและเชอร์โนบิลบังคับให้ประชาชนในบริเวณนั้นหลายพันคนต้องทิ้งบ้านของตัวเอง โดยยังไม่มีโอกาสได้กลับคืนถิ่นเนื่องจากพื้นที่บริเวณนั้นถูกปนเปื้อนไปแล้ว หายนะภัยนิวเคลียร์นี้ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบต้องเผชิญกับแรงกดดัน ไม่ว่าจะเป็นการอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อหลีกเลี่ยงภัยคุกคามจากกัมมันตภาพรังสี พวกเขาต้องพรากจากเพื่อน ครอบครัว และชุมชนเป็นเวลาหลายปี ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากวิถีชีวิตของพวกเขาต้องเปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนยังไม่ได้รับการชดเชยด้านการเงินอย่างเป็นธรรมอีกด้วย

รายงานของกรีนพีซเสนอให้เห็นชัดเจนว่า ภาครัฐและอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ไม่พร้อมที่จะต่อกรกับหายนะภัยนิวเคลียร์ ไม่เพียงแต่มาตราการอพยพอย่างเร่งด่วนหลังจากการเกิดอุบัติภัยเท่านั้น ยังหมายรวมถึงการจัดการในระยะยาวกับผู้คนหลายแสนคนที่ต้องอพยพถิ่นฐานและไร้ที่อยู่อาศัย อีกทั้งชุมชนและพื้นที่การเกษตรที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสี