ระบบเกษตรกรรมของเราทุกวันนี้พึ่งพาการใช้สารเคมีปริมาณมหาศาล อีกทั้งยังถูกครอบงำโดยบริษัทขนาดยักษ์เพียงไม่กี่รายที่รวมตัวอยู่แค่บางภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะในประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวย อุตสาหกรรมเกษตรนั้นเน้นผลิตพืชผลหลักอยู่เพียงไม่กี่ชนิด ซึ่งทำลายความยั่งยืนด้านอาหารและระบบนิเวศอันจำเป็นอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของมนุษย์

 

Organic Rice Art Ratchaburi. © Greenpeace / Athit Perawongmetha

ข้าวออแกนิคจากเกษตรกรในจังหวัดราชบุรี

 

เกษตรกรรมเชิงนิเวศ คือคำตอบของระบบการผลิตอาหารที่ไม่ทำร้ายคนปลูก คนกิน และสิ่งแวดล้อม เป็นกระบวนการที่ครอบคลุมระบบการจัดการความหลากหลายของพืชและปศุสัตว์สมัยใหม่เพื่อให้ได้ผลผลิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้น และใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในขณะที่ลดความต้องการปัจจัยภายนอกให้เหลือน้อยที่สุด การเกษตรเชิงนิเวศเป็นหลักประกันความสมบูรณ์ของการเกษตรและอาหารที่ดีต่อสุขภาพสำหรับวันนี้และวันพรุ่งนี้ด้วยการปกป้องดิน น้ำ และสภาพภูมิอากาศ เกษตรกรรมเชิงนิเวศเป็นการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมปนเปื้อนด้วยปัจจัยทางเคมีหรือพืชดัดแปลงพันธุกรรม

 

เกษตรกรรมอุตสาหกรรม ทำลายป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ

เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ได้นำไปสู่การผลิตเป็นจำนวนมากเพื่อป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่สิ่งนี้แลกมาด้วยต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมนานับประการ ไม่ว่าจะเป็นการเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่การเกษตร การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การสูญเสียหน้าดิน การคุกคามพื้นที่ป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลากชนิด และการตกค้างของสารเคมีอันตรายในแหล่งน้ำ รวมทั้งทำให้ “เขตมรณะ” (Dead Zone) ซึ่งเป็นเขตที่สิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ทั้งในแหล่งน้ำ ทะเลและมหาสมุทร แผ่ขยายกว้างขึ้น

 

ปัญหาจากสารเคมีและยาฆ่าแมลง

แม้จะมีความพยายามในการผลักดันให้ประเทศไทยยุติการนำเข้าสารเคมีและยาฆ่าแมลงที่มีส่วนเชื่อมโยงต่อโรคมะเร็งมาเป็นระยะเวลานาน แต่ไทยยังคงไม่มีท่าทีว่าจะแบนการนำเข้าสารเคมีและยาฆ่าแมลงเหล่านี้ ซึ่งประกอบไปด้วย พาราควอต ไกลโฟเสต และคลอไพริฟอส ซึ่งในแต่ละปีไทยเรานำเข้าสารเหล่านี้เข้ามาใช้กว่า 10 ล้านตันด้วยเหตุผลที่ภาคเกษตรบางส่วนยังมองว่า สารเคมีช่วยลดต้นทุนให้กับการผลิตผลผลิต ในขณะที่ 50 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการนำเข้าและใช้สารเคมีเหล่านี้แล้ว

Pesticide Spraying in Tea Estate in Kerala. © Vivek M. / Greenpeace

เกษตรกรกำลังพ่นยาฆ่าแมลงในไร่ชา เมือง Munnar อินเดีย

 

สำหรับผู้บริโภคปลายทางแบบเราแล้ว ทางออกที่ดีที่สุด คือการสนับสนุนอาหารจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่ช่วยให้ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคห่างไกลจากสารเคมีมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอีกด้วย นอกจากจะเป็นการรักษาสุขภาพของคนกินแล้ว ยังเป็นการช่วยให้เรามั่นใจได้ว่า เราไม่ได้เป็นสาเหตุปลายทางที่บริโภคอาหารบนความเสี่ยงของเกษตรกรอีกด้วย

 

จีเอ็มโอ ภัยคุกคามความหลากหลายของพืชพรรณไทย

ประเทศไทยนั้นมีพืชพรรณอาหารหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ แต่เป้าหมายของพืชจีเอ็มโอนั้นคือการผลิตเพื่อป้อนระบบอุตสาหกรรม ไม่ใช่การผลิตเพื่อเป็นอาหารมนุษย์

จีเอ็มโอผลิตพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์ (ข้าวโพด) เครื่องนุ่งห่ม (ฝ้าย) หรือแม้กระทั่ง ถั่วเหลืองที่เป็นวัตถุดิบในมื้ออาหารสำหรับพวกเรา ผู้ที่ต้องการพืชดัดแปลงพันธุกรรม คือ ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่  อีกทั้งเทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมนี้ได้รับการยอมรับในเพียงไม่กี่ประเทศและเป็นพืชเพียงไม่กี่ชนิด โดยพื้นที่ปลูกพืชจีเอ็มโอมีเพียงร้อยละ 3 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั่วโลก

แท้ที่จริงแล้วข้อมูลจากอุตสาหกรรมจีเอ็มโอแสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 90 ของพื้นที่ปลูกพืชจีเอ็มโอทั้งโลกกระจุกตัวอยู่เพียง 5 ประเทศเท่านั้น (ประกอบไปด้วย สหรัฐอมเริกา บราซิล อาร์เจนตินา แคนาดา และอินเดีย) และเกือบ 100 % ของพืชจีเอ็มโอเหล่านี้เป็นพืชเพียง 2 ชนิดเท่านั้น หนึ่งคือพืชต้านทานยากำจัดวัชพืช และสองคือพืชที่ทนพิษยาฆ่าแมลง กล่าวง่าย ๆ คือ พืชจีเอ็มโอไม่ได้เลี้ยงคนทั้งโลก

 

กินอย่างรู้ที่มา

การรู้ถึงที่มาของอาหารนั้น คือการได้รู้ว่าอาหารที่เรากินนั้นปลอดภัยต่อสุขภาพของเราแค่ไหน มีวิธีการปลูกอย่างไรและใครเป็นคนปลูก  ซึ่งนั่นหมายความว่าหากเรารู้ถึงที่มาของอาหารสักนิด เราก็จะสามารถเลือกสนับสนุนอาหารที่ไม่ทำร้ายสุขภาพของทั้งคนปลูกและสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน