ดำเนินการ / โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็กอยู่ในขั้นตอนที่เครือข่ายประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าถ่านหิน
โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ขนาด 150 เมกะวัตต์ ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จํากัด (มหาชน) เป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายการจัดการพลังงานของประเทศ ตามกรอบการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย (PDP)3 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ผลจากการจัดทำ PDP ดังกล่าว ได้นำมาสู่การพัฒนาและการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงต่างๆ รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัททีพีไอฯ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และใช้ถ่านหินเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงหลัก ก่อนนำมาซึ่งการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญของการคัดค้านคือกระบวนการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการฯ ซึ่งได้ ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเห็นชอบการอนุญาตประกอบกิจการพลังงานผลิตไฟฟ้าและประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าไปเมื่อวันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม 2561 ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ได้ยื่นหนังสือพร้อมด้วยข้อมูลเพื่อคัดค้านการอนุมัติโครงการ ดังกล่าวต่อ กกพ. มาโดยตลอด ทั้งนี้ข้อมูลในรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental and Health Impact Assessment (EHIA)) ของโครงการดังกล่าวระบุว่า บริษัททีพีไอโพลีน เพาเวอร์ จํากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัททีพีไอ โพลีน จํากัด (มหาชน) จะก่อตั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาด 150 เมกะวัตต์ โดยมีพื้นที่โครงการประมาณ 21.99 ไร่ หรือ 35,190 ตารางเมตร ผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงถ่านหินและเชื้อเพลิงจากขยะ หรือ RDF โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่ 1 การใช้เชื้อเพลิงถ่านหินร้อยเปอร์เซ็น กรณีที่ 2 การใช้เชื้อเพลิงขยะ RDF ร้อยละ 75 และถ่านหินร้อยละ 25 และกรณีที่ 3 การใช้เชื้อเพลิงขยะ RDF ร้อยเปอร์เซ็น
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 150 เมกะวัตต์แห่งนี้ จึงเข้าข่ายประเภทโครงการลําดับ ที่ 11.1 หรือ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน และเชื้อเพลิง RDF เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีขนาดกําลังผลิตกระแสไฟฟ้ารวมตั้งแต่ 100 เมกะวัตต์ ขึ้นไป ตามเอกสารแนบท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกําหนดประเภทขนาดและวิธีปฏิบัติสําหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่จะต้องจัดทํารายงาน EHIA บริษัท ทีพีไอ โพลีนฯ ผู้เป็นเจ้าของ โครงการจึงมอบหมายให้บริษัททอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จํากัด เป็นผู้ทำการศึกษาจัดทำรายงาน EHIA ก่อนจะนำมา ซึ่งกระบวนการให้ความเห็นชอบ อย่างไรก็ดีหน่วยงานภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ รวมถึงนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องมีข้อโต้แย้งซึ่งแสดงความห่วงใยต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการและได้ทำการยื่นเอกสารคัดค้านการอนุมัติอนุญาตโครงการหลายครั้ง
การที่มวกเหล็กและบริเวณใกล้เคียงเป็นแหล่งหินปูนขนาดใหญ่ทำให้พื้นที่แถบนี้กลายเป็นเป้าหมายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้ถ่านหินมากที่สุดเป็นอันดับต้นของประเทศในกระบวนการเผาไหม้ถ่านหินยังปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ ทั้งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5, PM10) และโลหะหนัก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้คนและสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ที่มีการแพร่กระจายของมลพิษทางอากาศ ผลกระทบจากการรับสัมผัสเอามลพิษต่างๆ เหล่านี้เข้าไปคือต้นทุนแฝงที่คนในพื้นที่ที่มีการแพร่กระจายมลพิษต้องแบกรับทั้งค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วย การเสื่อมสภาพของดินจากการตกสะสมของกรดที่มาจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจน รวมถึงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของโคนมที่นำไปสู่การสูญเสียรายได้และโอกาสจากการรีดนมไปจำหน่าย เมื่อออกไซด์ของไนโตรเจนจับตัวกับน้ำฝนจะเปลี่ยนสภาพเป็นฝนกรดและตกสะสมในดินก็ทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายหรือเจริญเติบโตไม่เต็มที่
จากรายงานวิจัย “มวกเหล็ก เมืองนมดีของทุกคน” มีข้อเสนอถึงการจัดการความเสี่ยงที่รอบคอบและเป็นธรรมต่อประชาชนกลุ่มอาชีพเลี้ยงโคนมและเกษตรกรรม โดยการทบทวน EIA/EHIA เพื่อวิเคราะห์การปลดปล่อยมลพิษในแบบกรณี Non-attainment Area ของกฎหมาย Clean Air Act ของสหรัฐอเมริกาโดยคำนึงถึงความสามารถในการรองรับของพื้นที่และกิจกรรมชุมชนที่พึ่งพาอากาศสะอาด ขณะเดียวกันปรับแก้ใบอนุญาตโรงงานให้ลดการปลดปล่อยมลพิษจนถึงระดับที่ชุมชนและอุตสาหกรรมจะอยู่ร่วมกันได้โดยท่ีไม่ผลักภาระให้ชุมชน และที่สำคัญคือไม่ควรอนุมัติสร้างโรงงานที่ปลดปล่อยมลพิษเพิ่มเติมขึ้นอีก
นอกจากนี้ในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 นายพฤฒิ เกิดชูชื่น ประธานชมรมอนุรักษ์ลำน้ำมวกเหล็ก กรรมการอุทยานน้ำตกเจ็ดสาวน้อย พร้อมชาวบ้านตำบลมิตรภาพ และตำบลมวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 150 เมกะวัตต์ กว่า 200 คน เข้ายื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 150 เมกะวัตต์ ของบริษัท ทีพีไอโพลีนเพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน โดยรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีรัศมีการแพร่กระจายมลพิษทางอากาศมากกว่า 5 กิโลเมตรตามที่อ้างจากรายงาน EIA ของโรงไฟฟ้าดังกล่าว