สถานะ ชะลอโครงการ
พื้นที่ 2 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 โรง คือ ในพื้นที่ อำเภอหัวไทร และอำเภอท่าศาลา โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เป็นเจ้าของโครงการ การดำเนินการทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูล การพาผู้นำชุมชน ท้องถิ่น ข้าราชการไปศึกษาดูงาน การส่งนักวิชาการลงพื้นที่เพื่อทำความใจกับพื้นที่ในการประเมินความคิดเห็นของชุมชน รวมทั้งการสนับสนุนงบประมาณไปยังกลุ่ม องค์กรต่างๆ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) ได้มีการตั้งศูนย์ประสานงานข้อมูล ที่เมืองนครศรีธรรมราช สามแยกหน้าศาลของอำเภอหัวไทร และบ้านสาขา ตำบลท่าขึ้นมีการขึ้นป้าย 7 ขั้นตอนในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน
การก่อเกิดกลุ่ม เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา
เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา รวมตัวจากกลุ่มเล็กๆ ของชาวบ้านตะเคียนดำ ตำบลท่าขึ้น ก่อนจะยกระดับเป็นอำเภอในเวลาต่อมา เป็นการรวมกลุ่มของบุคคลหลากหลาย สาขาอาชีพ ในทุกระดับ ประสานความร่วมมือและแนวร่วมกับทุกฝ่าย เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินและสิ่งแวดล้อมไว้ให้ลูกหลานในอนาคต ติดตามและเรียนรู้ข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีจุดยืนชัดเจน ในการเคลื่อนไหว การแสดงพลังพลังในรูปแบบต่างๆ ตามจิตสำนึกและศักยภาพของแต่ละคน แต่ละพื้นที่ ระดมทุนและจัดหางบประมาณด้วยตัวเอง จุดยืนของเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา คือ เราไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ทำไมประชาชนในพื้นที่จึงต้องคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล โครงการโรงไฟฟ้าฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้นทั้งสองแห่ง จะนำเข้าถ่านหินจาก ประเทศอินโดนีเซีย และ/หรือ ออสเตรเลีย ซึ่งต้องขนส่งถ่านหินมาทางเรือ ดังนั้นจึงต้องสร้างในพื้นที่ชายฝั่งทะเล และต้องการพื้นที่ราบชายฝั่งประมาณ 700 – 1,400 ไร่ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าเฟสแรก หรือก่อสร้างในพื้นที่ราบใกล้ฝั่ง แต่ต้องมีพื้นที่เป็นสะพานลำเลียงถ่านหินยาวประมาณ 100 เมตรเปิดสู่ทะเล
ถ่านหินบิทูบินัสจำนวน 1 ตัน เผาไหม้แล้วจะเหลือเป็นขี้เถ้าราว 100 กิโลกรัม โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินประมาณวันละ 7,000 ตัน หรือ 7 ล้านกิโลกรัม ดังนั้นจะเหลือขี้เถ้าวันละราว 700 ตัน หรือวันละ 700,000 กิโลกรัมจะถูกนำไปใช้ผสมในอุตสาหกรรมซีเมนต์และการฝังกลบ ที่ผ่านมาขี้เถ้าถ่านหิน จะมีการนำไปทำอิฐบล็อกมวลเบา เป็นต้น ขี้เถ้าลอยที่มาจากการเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีมีสารปรอท สารหนู ตะกั่ว และแคดเมียม หากได้รับเข้าไปอาจจะเกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและผลกระทบด้านสุขภาพระยะยาวจากการปนเปื้อนในระบบห่วงโซ่อาหาร
การเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม แต่ไฟฟ้าสำรองของประเทศล้น
จังหวัดนครศรีธรรมราชใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 320 เมกะวัตต์ ตอนนี้มีโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่อำเภอขนอมอยู่แล้วประมาณ 700 เมกะวัตต์ แต่กฟผ.กำลังจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มทั้งในพื้นที่ อำเภอหัวไทร อำเภอท่าศาลา ถึง 1,600 เมกะวัตต์ ขณะนี้รัฐบาลมีแผนจะก่อพัฒนาโครงการพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ เซาเทิร์นซีบอร์ด โดยจะสร้างนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา อุตสาหกรรมการเกษตร ตำบลแก้วแสน อำเภอนาบอน และอุตสาหกรรมเหล็ก ที่ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ติดพื้นที่ อำเภอหัวไทร ดังนั้น การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ จำเป็นต้องผลิตพลังงานไฟฟ้าจำนวนมากเพื่อเป็นพลังงานสำรองไว้รองรับ
พื้นที่ในการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใช้พื้นที่ ประมาณ 700 – 1,400 ไร่และต้องเป็นพื้นที่ราบติดชายทะเล พื้นที่อำเภอท่าศาลา ชายฝั่งทะเลผู้คนอยู่อย่างหนาแน่น หากเกิดผลกระทบขึ้นจะส่งผลต่ออาชีพประมง เกษตรกรรมและธุรกิจขนาดเล็กที่เป็นรายได้หลักในพื้นที่
ท่าเรือขนส่งถ่านหิน จะสร้างสะพานลำเลียง ขุดลอกร่องน้ำ
การขนส่งถ่านหินต้องขนส่งทางเรือ กินน้ำลึกประมาณ 14 เมตร ขนาดเรือ 2,000 – 200,000 ตันกรอส การสร้างท่าเรือจะต้องขุดลอกร่องน้ำ ซึ่งชายฝั่งทะเลอำเภอท่าศาลา ระดับน้ำลึก 14 เมตร จะต้องออกไปไกลนับสิบกิโลเมตร การแย่งชิงน้ำจืดเพื่อใช้ในการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหิน การดูดน้ำทะเลติดสัตว์น้ำวัยอ่อน อีกทั้งการระบายน้ำร้อนลงสู่ชายฝั่งทะเล น้ำที่ใช้ในระบบหล่อเย็นต้องใช้น้ำมหาศาล หากใช้น้ำจืดจะเกิดการแย่งชิงน้ำ หากใช้น้ำเค็มจากชายฝั่งเพื่อการหล่อเย็นลูก กุ้ง หอย ปู ปลา จะติดไปด้วย สัตว์น้ำวัยอ่อนจะลดลงในระบบนิเวศ อีกทั้งน้ำร้อนที่ปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลต่อสัตว์น้ำ ชาวประมงและประชาชนในพื้นที่อาจจะได้รับผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว