สถานะ ชะลอโครงการ

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลที่ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา บนพื้นที่ 2,960 ไร่ มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,100 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง โดยกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เครื่องที่ 1 ในปี 2564 และเครื่องที่ 2 ในปี 2567 โดยมีโครงการท่าเทียบเรืออยู่บริเวณด้านหน้าโครงการเพื่อรองรับการขนส่งทางทะเลของ เชื้อเพลิงถ่านหินประเภทบิทูมินัส และซับบิทูมินัสนำเข้าจากต่างประเทศที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าฐานที่ผลิตไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องการที่จะเพิ่มสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ 

สำหรับโครงการดังกล่าวที่เป็นโครงการตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2015)  ต้องทำตามขั้นตอนทางกฏหมายที่ต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) กฟผ. จึงได้ดำเนินการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ดังต่อไปนี้

กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้องและสุขภาพ หรือ Public Scoping (ค.1) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557

กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ค.2) ดำเนินการระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์-10 มีนาคม 2558 โดยใช้วิธีการศึกษาผ่านการสนทนากลุ่ม และสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการ

กระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ Public Review (ค.3) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ระหว่างวันที่ 27-28 กรกฏาคม 2558

ทั้งนี้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) แล้ว เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นการประชุมที่เร่งด่วน ปิดลับ และปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน  

สืบเนื่องจากการประท้วงของเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน การเดิน ”เทใจให้เทพา” และการนั่งอดอาหารของเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ทำให้เกิดการลงนามในบันทึกความเข้าใน (MOU) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสั่งยกเลิกรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ EHIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่ และกระทรวงพลังงานได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ เพื่อศึกษาความเหมาะสมของโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของทั้งสองจังหวัด

ผลการศึกษา “โครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้”  ที่ยังไม่แล้วเสร็จ ได้ชะลอโครงการดังกล่าวนี้ ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ที่มอบหมายให้ที่ปรึกษาโครงการคือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า 50 ล้านบาท ซึ่งเดิมทีตั้งกรอบเวลาในการศึกษาโครงการฯ ประมาณ 9 เดือนในการทำการศึกษาโครงการดังกล่าว การนำเสนอรายงานเบื้องต้นเกิดขึ้นช่วงเดือนธันวาคม 2562 (มีข้อมูลที่ไม่ชัดเจน) นิด้าต้องจัดเวทีสานเสวนาให้ครบ 4 ครั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นให้ครบทั้ง 4 พื้นที่ คือ จังหวัดสงขลา กระบี่ สุราษฏร์ธานี และชุมพร และจัดทำเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ออกมาในช่วงปลายปี 2563 เพื่อเสนอให้คณะกรรมการฯ และเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาต่อ ทำให้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ทั้งนี้ในช่วง10ปีแรกยังไม่มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้เฉพาะเจาะจงในจังหวัดดังกล่าว