การผลิตและการบริโภคพลาสติกในรูปแบบไม่ยั่งยืนนั้นก่อให้เกิดต้นทุนในหลายมิติก ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน เศรษฐกิจโดยรวม และความสามารถของประเทศในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้ยังสะท้อนเพียงบางส่วนของต้นทุนที่แท้จริงทั้งหมดเท่านั้น โดยยังไม่รวมถึงความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมในมิติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวงจรชีวิตของพลาสติก ตั้งแต่กระบวนการสกัดวัตถุดิบ การผลิต การกำจัด ไปจนถึงการรั่วไหลสู่ระบบนิเวศ

ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการยุติมลพิษพลาสติกในระดับภูมิภาค แต่โอกาสนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเริ่มลงมืออย่างจริงจังด้วยการกำหนดเป้าหมายระดับชาติที่ชัดเจนและทะเยอทะยานตั้งแต่ตอนนี้ และให้คำมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายลดการผลิตพลาสติกใหม่ร้อยละ 75 ภายในปี พ.ศ. 2583 จะเป็นสัญญาณเชิงนโยบายที่ชัดเจนและมีพลัง ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับในระดับนานาชาติ เปิดประตูสู่การลงทุนในเศรษฐกิจหมุนเวียน และส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่ยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องสนับสนุนมาตรา 6 ตามร่างข้อความล่าสุดของประธานการประชุมฯ (Chair’s Text) อย่างเป็นทางการ เพื่อแสดงเจตจำนงและความเป็นผู้นำในระดับโลก