เนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

ระบบอาหารที่เน้นการผลิตเนื้อสัตว์และนมเชิงอุตสาหกรรมเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด โดยกว่าร้อยละ 60 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตอาหารนั้นมาจากผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์รถบรรทุกและเครื่องบินทุกชนิดในโลกใบนี้

หากเรายังนิ่งเฉยกับประเด็นนี้ ในปี 2593 ระบบอาหารนี้จะเป็นแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจกมากเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์

การเติบโตของทุนที่แลกมาด้วยสิ่งแวดล้อมและชีวิตคน

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของโลกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยมีกําลังการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละประมาณ 5 ล้านตัน (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2564) เพื่อเป็นอาหารสัตว์สําหรับปศุสัตว์ 

อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่อันดับสามของโลก ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้กลับต้องแลกมาด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศ หมอกควันพิษข้ามพรมแดน การสูญเสียพื้นที่ป่า ปัญหาสุขภาพของคนไทย รวมถึงความไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรและผู้บริโภค 

การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์และการกินเนื้อสัตว์กำลังทำให้เราและโลกเจ็บป่วย การผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม นำไปสู่การทำลายป่าและแหล่งน้ำปนเปื้อนจากของเสียจากสัตว์ 

เมื่อพื้นที่ป่าไม้จำนวนมหาศาลทั่วโลกถูกทำลายเพื่อผลิตเนื้อสัตว์อุตสาหกรรม ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายพันล้านตันจะถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อน ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ หากเราทำลายป่าจนสูญเสียความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพก็จะไม่สามารถช่วยเราในการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้อีกต่อไป

ปฏิวัติระบบอาหาร! เพื่อต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ระบบอาหารที่ยั่งยืน เป็นธรรม และเน้นการผลิตและบริโภคพืชผัก คือทางออกของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

รัฐบาลต้องลงมือดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยต้องมีมาตรการให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มีภาระรับผิดต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้นในระบบเกษตรพันธสัญญา โดยบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่เชื่อมโยงต่อการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษตลอดห่วงโซ่อุปทานจะต้องมีภาระรับผิดชอบ กำหนดให้เปิดเผยที่มาของอาหารปศุสัตว์ หันมาสนับสนุนพืชผักผลไม้เพื่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก และยุตินโยบายที่สนับสนุนอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เพื่อปกป้องความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพของทุกคน

Hazibition : นิทรรศการใต้ฝุ่น เปิดต้นตอปัญหาฝุ่นควัน