พอล ฮิลตัน ช่างภาพกรีนพีซ ได้นำความงามใต้น้ำของกระเบนราหูน้ำเค็ม หรือ แมนตา มาให้ชมกัน ภาพถ่ายเหล่านี้ถ่ายในปี 2557 บริเวณน่านน้ำที่อุดมไปด้วยแพลงก์ตอนบริเวณนอกชายฝั่งของเกาะ Nusa Penida ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะบาหลี และเป็นบริเวณที่มีกระแสน้ำ 2 สายมาบรรจบกันระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย

กระเบนราหูน้ำเค็ม หรือ แมนตา จัดเป็นปลากระดูกอ่อนชนิดหนึ่ง กระเบนชนิดนี้ถูกจัดว่าเป็นปลากระเบนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเมื่อโตเต็มวัยสามารถมีความกว้างช่วงปีก (ครีบหู) ได้ถึง 6.7 เมตร หรือ 22 ฟุต มีน้ำหนักได้ถึง 1,350 กิโลกรัม หรือ 3,000 ปอนด์ แหล่งอาศัยของพวกมันพบได้ในน่านน้ำเขตร้อนทั่วโลก บริเวณรอบแนวปะการัง

แมนตา ( Manta ) ภาษาสเปนแปลว่า “ผ้าห่ม” พวกมันวิวัฒนาการร่างกายให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเพื่อช่วยในการว่ายน้ำให้ดีขึ้น และยังมีครีบที่รูปร่างคล้ายปีกสำหรับโบยบินในท้องทะเล ด้วยรูปร่างที่มีขนาดใหญ่และการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วของมัน ทำให้กระเบนแมนตามีศัตรูตามธรรมชาติน้อยมาก โดยที่มีศัตรูกลุ่มเดียว คือวาฬเพชรฆาต (Orcinus orca) และวาฬเพชรฆาตเทียม (Pseudorca crassidens) แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานแน่นอน

สมัยก่อนแมนตาจะหาอาหารตามพื้นท้องทะเล ก่อนที่จะวิวัฒนาการมาเป็นกรองกินแพลงก์ตอนตามทะเลเปิดในปัจจุบัน ซึ่งลักษณะการกรองกินของมันจะใช้ครีบหูที่อยู่บริเวณด้านหน้า โบกพัดน้ำเข้ามาในปากเพื่อกรองกินแพลงก์ตอน

แต่รู้หรือไม่ว่าในปัจจุบัน ปลากระเบนราหูน้ำเค็ม หรือ แมนตา ถูกจัดในบัญชีแดงของไทย (IUCN Red List, Thailand) ในประเภท “มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable : VU)” เนื่องจากขยายพันธุ์ยากเมื่อเทียบกับสัตว์น้ำสายพันธุ์อื่น โดยตัวเมียต้องมีอายุ 10 ปี จึงเริ่มผสมพันธุ์ได้ ใช้เวลาตั้งครรภ์นาน 1 ปี และให้กำเนิดลูกครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น หลังกำเนิดลูกจะต้องพักตัวอีก 2-5 ปี จนกว่าจะเริ่มผสมพันธุ์ได้ใหม่ ดังนั้นการจับปลากระเบนแมนตา 1 ตัว เท่ากับต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อจะได้ประชากรใหม่มาทดแทน

ไปดูภาพความสวยงามของพวกมันกัน

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก
– vivanatura.org/Manta%20birostris.html
www.marinemegafauna.org/
www.iucnredlist.org/details/198921/0
www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/Ocean/a-guide-to-sustainable-seafood/dont-eat-these-fish/

Comments

Leave your reply