นี่ไม่ใช่คำพูดเกินจริงแต่อย่างใด แต่เป็นข้อค้นพบสำคัญจากงานวิจัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง PLASTIC PEOPLE ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Plastic Doc & Talk (กรุงเทพ) โดย KongGreenGreen X Greenpeace เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์ลิโด้ ประเด็นสำคัญในบทสนทนาที่ถูกพูดถึงในงานนี้ คือ ความสำคัญของสนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastics Treaty) ที่ให้ความสำคัญกับการลดพลาสติกตั้งแต่ต้นทางเพื่อเลี่ยงวิกฤตสาธารณสุขที่รัฐต้องแบกรับอันเกิดจากมลพิษพลาสติกที่ตกค้างในร่างกายมนุษย์

หลายคนอาจเคยได้ยินข้อสมมติฐานหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า ภายในปีค.ศ.2050 คาดว่าขยะพลาสติกในมหาสมุทรจะทวีปริมาณขึ้นจนกระทั่งมีจำนวนมากกว่าปลา และเราไม่จำเป็นต้องขอถุงพลาสติกเพื่อซื้อปลา เนื่องจากในปลามีพลาสติกแล้ว แต่สำหรับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง PLASTIC PEOPLE ได้สร้างข้อถกเถียงที่สำคัญว่า มลพิษขยะพลาสติกนั้นไม่ได้เพียงแค่อยู่รอบตัวเรา แต่อยู่ภายในร่างกายของเรา แม้แต่ในเลือด สมอง รวมถึงรกของมารดา สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในร่างกายจะทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อสารพิษอันตราย อาจทำให้เป็นโรคอ้วน เบาหวาน มีลูกยาก และมะเร็ง

จากรกสู่สมอง: หรือ Homo sapiens กำลังกลายเป็น Homo Plasticus?

มนุษย์ไม่ได้กำลังกลายเป็นไซบอร์กพลาสติก แต่ทุกเสี้ยวส่วนของร่างกายมนุษย์กำลังถูกแทรกซอนด้วยไมโครพลาสติก

ยุคแอนโธรพอซีน (Anthropocene) หรือยุคสมัยที่กล่าวถึงมนุษยสมัยที่ระบบนิเวศ สภาพภูมิอากาศ และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมถูกมองว่าเป็นผลที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ เรามักจะกล่าวว่ามลพิษพลาสติกเป็นผลกระทบจากแอนโธรพอซีนที่กระจายตัวไปทุกหนแห่ง ทั้งดิน น้ำ หิมะในขั้วโลก และอากาศ แม้การผลิตพลาสติกบางส่วนจะถูกนำไปใช้เพื่อความจำเป็นต่าง ๆ เช่น ทางการแพทย์ แต่ในการผลิตพลาสติกซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมนั้นมุ่งเน้นการผลิตเพื่อเป็นพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single use plastic) มากถึงร้อยละ 40 ซึ่งจะกลายเป็นมลพิษพลาสติกในที่สุด นี่คือวัฏจักรของการก่อวิกฤตโลกร้อนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ตั้งแต่การก่อมลพิษทั้งก๊าซเรือนกระจกและการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเราอย่างไม่มีที่สิ้นสุด คำกล่าวหนึ่งที่ว่า พลาสติกทุกชิ้นที่ถูกผลิตขึ้นตั้งแต่ในอดีตในยุคสงครามโลกยังคงไม่สลายไปและกระจายอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งบนโลกใบนี้

ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง PLASTIC PEOPLE เชื่อมโยงข้อมูลที่สำคัญหลายประการ โดยเริ่มต้นจากข้อมูลงานวิจัยที่เผยว่าร้อยละ 83 ของน้ำประปาทั่วโลกปนเปื้อนพลาสติก และการปนเปื้อนในน้ำสำหรับใช้อุปโภคและบริโภคเช่นนี้ นำไปสู่การตั้งคำถามว่าไมโครพลาสติกเหล่านี้จะเข้าสู่ร่างกายของเราหรือไม่ ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง PLASTIC PEOPLE จึงเริ่มสำรวจการตกค้างของไมโครพลาสติกในอุจจาระของมนุษย์ พบว่ามีทั้งไมโครพลาสติก และเส้นใยไฟเบอร์ ในด้านผลกระทบทางสุขภาพนั้น ในภาพยนตร์ระบุว่ายังเป็นช่วงเริ่มต้นของการศึกษาผลกระทบของมลพิษพลาสติกต่อต่อมไร้ท่อของมนุษย์ อันเป็นตัวกำหนดกลไกการทำงานของร่างกาย เช่น ฮอร์โมน และแม้จะเป็นเพียงสารพิษเพียงเล็กน้อยก็สามารถส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงได้ อาทิ โรคอ้วน และภาวะมีบุตรยาก

ไม่ใช่เพียงแค่ผลกระทบของมลพิษพลาสติกจะมีส่วนทำให้มีบุตรยากขึ้นเท่านั้น แต่ทารกในครรภ์มารดาก็มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับไมโครพลาสติกก่อนที่จะได้เห็นหน้าแม่เสียอีก ภาพยนตร์สารคดี PLASTIC PEOPLE พาเราไปยังห้องทำคลอดและตรวจสอบการปนเปื้อนพลาสติกในรกแม่ ข้อค้นพบนั้นน่าตกใจมาก โดยในรกมารดาคนหนึ่งพบไมโครพลาสติกมากถึง 12 ชิ้น และจากกลุ่มตัวอย่าง 34 คน พบการปนเปื้อนในรกมากถึง 26 คน และแพทย์ผู้ทำการวิจัยระบุว่า “หากพบพลาสติกในรกของครรภ์มารดา ก็ต้องมีปนเปื้อนในน้ำนมเช่นกัน” และเสริมต่อว่า เมื่อพลาสติกเข้าไปถึงระดับเซลล์แล้วจะสามารถทำลายโครงสร้างของร่างกาย และเนื่องจากทารกเริ่มก่อตัวในครรภ์ พลาสติกอาจส่งผลต่อเด็กได้ตั้งแต่ในครรภ์ “เราอยู่บนโลกนี้ไม่ได้ถ้าไม่มีพลาสติก แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้มันอย่างไร และไม่ควรใช้แบบโง่ๆ เช่น การสร้างขวดพลาสติก”

อีกมุมหนึ่ง นอกเหนือจากมารดากับทารก พลาสติกยังคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสมอง โดยสารเบนซีนในกระบวนการผลิตทำให้ชายคนหนึ่งที่อาศัยใกล้โรงงานอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกจดจำช่วงเวลาสำคัญอย่างโมเมนต์ที่ลูกตัวเองเกิดมาไม่ได้ ทำให้ภาพยนตร์สารคดี PLASTIC PEOPLE สืบค้นต่อไปยังการปนเปื้อนพลาสติกในเลือดและสมองของมนุษย์ ในจุดนี้ผู้ชมอาจจะไม่แปลกใจแล้วว่า ผลการตรวจสอบพบว่า มีการปนเปื้อนในสมองของผู้ป่วยมะเร็งสมองคนหนึ่ง และมีการตั้งข้อสงสัยถึงการปนเปื้อนในสมองและความเชื่อมโยงกับโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ ผลการตรวจเลือดกลุ่มตัวอย่าง 20 คน โดยใช้เลือดแค่ 10 มิลลิกรัม พบว่ามีการปนเปื้อนสารพิษพลาสติก ทั้งจากไนลอน ที่คาดว่าจะมาจากเสื้อผ้าหรือพรม นอกจากนี้ยังพบสารอันตรายอย่าง พอลิสไตรีน (Polystyrene หรือ PS) พอลิโพรพิลีน (Polypropylene หรือ PP) สารกลุ่มพาเลต (phthalates) สารเคมี PFAS (per-and polyfluoroalkyl substances) หรือ ‘สารเคมีตลอดกาล’ (forever chemicals) และสารปรุงแต่งอื่น ๆ งานวิจัยระบุว่า ความเสี่ยงต่อสุขภาพนั้น เบื้องต้นคือการเกิดการอักเสบระดับต่ำ ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังประเภทอื่น ลำเลียงต่อไปยังอวัยวะและเนื้อเยื่ออื่นได้ รวมถึงสมอง

คำถามสำคัญของ PLASTIC PEOPLE คงไม่ใช่แค่เพียงว่าร่างกายเราปนเปื้อนพลาสติกมากน้อยแค่ไหน แต่เราจำเป็นต้องผลิตพลาสติกเพิ่มอีกมากแค่ไหน ควรจะตระหนักถึงภัยคุกคามจากพลาสติกหรือยัง และเราควรจะส่งต่อโลกที่ปลอดภัย หรือส่งต่อมลพิษพลาสติกให้กับเด็กตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา

มนุษย์โลกกำลังอยู่ใน “Toxic relationship” กับพลาสติก แต่เรายังมีเวลาที่จะออกจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษนี้ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตั้งเงื่อนไขอย่างไร ซึ่งกรีนพีซชวนให้คิดถึงทางออกที่เป็นธรรมต่อประชากรโลกมากที่สุดคือ กำหนดให้มีเป้าหมาย(Global Target) และกรอบเวลาชัดเจน (Timebound)ในการลดการผลิตพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง ภายใต้การประชุมของ “คณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee: INC) ในการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล” ครั้งที่ 5 รอบที่ 2 หรือ INC-5.2 และนี่คือภารกิจสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องแสดงเจตจำนงและความเป็นผู้นำในเวทีโลก เพื่อก้าวสู่เส้นทางในการลดมลพิษพลาสติกตั้งแต่ต้นทางอย่างยั่งยืน

บทสนทนาว่าด้วยความหวังของคน-พลาสติก

“นี่คือ Wake up call ที่เราไม่สามารถกด snooze ได้อีกแล้ว” แม็กซีน อินทิพร แต้มสุขิน

จากข้อมูลในภาพยนตร์สารคดีสู่การพูดคุยเพื่อหาทางออกของปัญหามลพิษพลาสติก ทั้งในระดับรายบุคคล บริษัท และระดับผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย คุณชณัฐ วุฒิวิกัยการ ผู้ก่อตั้ง “KongGreenGreen” ร่วมกับกรีนพีซ ได้เปิดวงสนทนากับ คุณฐิติกร บุญทองใหม่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และคุณแม็กซีน อินทิพร แต้มสุขิน Health & Wellness Lifestyle Content Creator จาก Maxdicine Channel ตอกย้ำอีกครั้งถึงพลังของผู้บริโภคและบทบาทของภาครัฐและเอกชนต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อยุติยุค Single Use Plastic

คุณพิชามญชุ์ รักรอด กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “ประเด็นความกังวลด้านด้านเศรษฐกิจมักถูกนำขึ้นมาพูดเสมอจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก เมื่อมีการพูดถึงการลดมลพิษพลาสติกที่ยั่งยืน ในความจริงแล้ว มลพิษพลาสติกส่งผลกระทบต่อหลายแง่มุม ทั้งความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่อาจไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาให้อยู่ในสภาพเดิมได้ และค่าสาธารณสุขไม่เคยถูกคำนวณให้เป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจ และในบางครั้งไม่สามารถประเมินค่าได้ สิ่งนี้คือความเร่งด่วนที่สะท้อนว่าเราถึงเวลาที่ต้องลดการผลิตพลาสติก”

ภาพยนตร์สารคดี PLASTIC PEOPLE ได้สะท้อนแล้วว่าเราเพียงอยู่ในจุดที่กำลังเริ่มศึกษาถึงผลกระทบของพลาสติกต่อสุขภาพเท่านั้น และยังไม่อาจคาดเดาถึงผลกระทบอย่างครอบคลุมได้ในขณะนี้ คุณแม็กซีน กล่าวว่า “มีปีหนึ่งไปตรวจเลือดแล้วพบสารพิษในเลือด ทำให้เราตระหนักถึงสารเคมีมาก ๆ และคำนึงถึงสุขภาพองค์รวม ถ้าโลกป่วย เราก็ป่วย เราจึงต้องดูแลตัวเองด้วยการมีพื้นฐานที่ต้องใส่ใจโลก เราสามารถควบคุมการกระทำของเราได้ในทุกๆวัน และการกระทำของเราส่งผลมากกว่าที่เราคิด” ในประเด็นการปนเปื้อนมลพิษพลาสติกในเลือด คุณชณัฐได้เล่าว่า “ส่วนตัวไม่ได้แปลกใจเลยว่ามีพลาสติกในร่างกายเท่าไหร่ ที่ตกใจ คือ ไมโครพลาสติกที่อยู่ในร่างกายเราอาจนำพาสิ่งไม่ดีสู่ระบบร่างกาย เช่น ความจำ ระบบสืบพันธุ์ และมะเร็ง เรามักจะมองพลาสติกเป็นแค่ปัญหาขยะ แต่การผลิตพลาสติกยังมีกระบวนการสร้างมลภาวะมากมาย จะมีสักกี่คนที่เข้าใจว่าการช่วยลดถุงพลาสติก คือการลดใช้ปิโตรเลียม และช่วยลดโลกร้อนได้”

ขยะพลาสติกไม่ได้มีจุดเริ่มต้นและจุดจบที่ถังขยะ แต่มีที่มาของปัญหาที่ปิโตรเลียมและสารเคมีในอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกที่ก่อมลพิษมหาศาล คุณฐิติกรระบุว่า “ทุกอย่างรอบตัวมีส่วนผสมของพลาสติกที่หลากหลาย และมีการใช้สารเคมีทำให้พลาสติกแปรรูปเป็นหลากหลายรูปแบบ สารประกอบทางเคมีมีมากถึง 16,000 กว่าชนิด โดยกว่า 1,000 ชนิดถูกแบนไปแล้ว กว่า 2,000-3,000 ชนิดถูกระบุว่ามีความอันตราย แต่ที่เหลือยังมีความคลุมเครือและยังหาคำตอบอยู่ กว่าเราจะรู้ว่ามีอันตรายหรือไม่ก็ส่งผลกระทบต่อเราแล้ว ทางออกที่ง่ายที่สุดคือผู้ผลิตต้องหันมาออกแบบสินค้าที่ลดการใช้พลาสติกเพื่อเลี่ยงอันตราย” คุณฐิติกร เล่าถึงงานวิจัยที่สอดคล้องกันกับการศึกษาการปนเปื้อนในกระแสเลือดเช่นเดียวกับในภาพยนตร์ว่า “ผลการศึกษาในพื้นที่จัดการขยะอิเล็กทรอนิคส์ในโซนภาคอีสานของไทยซึ่งมีการปฏิบัติการโดยการแยกด้วยมือ พบว่ามีสารอันตรายในเลือดสูงมาก โดยเฉพาะสารไดออกซิน และ POPs (Persistent Organic Pollutants) หรือสารมลพิษอินทรีย์ที่ตกค้างยาวนาน ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสารที่ก่อผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ตั้งแต่หัวจรดเท้า พบสูงกว่าพื้นที่ที่ไม่มีการจัดการขยะอิเล็คทรอนิคส์กว่าสิบเท่า การผลิตพลาสติกปฐมภูมิในปัจจุบันมีการใส่สารพลาสติกไม่เหมือนกัน ดังนั้นการรีไซเคิลที่แยกเพียงสีของพลาสติก เมื่อมีการหลอมรวมจึงกลายเป็น mixed chemical ทำให้สารเคมีเหล่านี้ถูกปล่อยมายังมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้อีก การแก้ตั้งแต่ต้นทางเท่านั้นถึงจะแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้ ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ก็ไม่รู้จะเห็นผลตอนไหน นี่เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า เราควรลดการใช้สารเคมีในพลาสติกได้แล้วหรือยัง”

เราทุกคนล้วนเป็นผู้บริโภคจริงหรือ

คุณพิชามญชุ์ กล่าวว่า “แม้ว่าการแก้ปัญหามลพิษพลาสติกจะมีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จริงๆ แล้ว เราทุกคนล้วนสวมหมวกการเป็นผู้บริโภค เรามั่นใจว่า ไม่ว่าจะมาจากภาคส่วนไหน ทุกคนล้วนเข้าใจถึงปัญหาพลาสติกแล้ว” แต่ทุกครั้งที่มีข้อเสนอเรื่องการแก้ไขปัญหาพลาสติก กลุ่มที่บอกว่าเป็นคนสร้างปัญหาและต้องเป็นผู้ปรับพฤติกรรมเพื่อแก้ปัญหาคือผู้บริโภคเท่านั้น โดยคุณพิชามญชุ์ได้ย้ำถึงปัญหามลพิษพลาสติกในระดับโครงสร้างว่า “การแก้ปัญหาพลาสติก ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการลดจากผู้บริโภคฝ่ายเดียว คำว่า “พลาสติก” ต้องหมายถึง “พลาสติกตลอดวงจรชีวิต”คือ ทั้งระบบจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรือนการปลูกผักออแกนิคที่ใช้พลาสติก ไปจนถึงโรงงานการผลิตพลาสติก ดังนั้นการลดทั้งระบบต้องเกิดการร่วมมือหลาย ๆ ภาคส่วน”

อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคที่มักถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้สร้างมลพิษนั้น วิทยากรทุกคนล้วนเชื่อในพลังของผู้บริโภค ดังที่คุณแม็กซีนให้ความเห็นว่า “ไม่ว่าเราจะเป็นใคร ทั้งผู้บริโภคและกลุ่มธุรกิจ เรามีพลังที่จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อไป” ซึ่งสอดคล้องกับคุณชณัฐ ว่า “ผมมีความเชื่อในพลังผู้บริโภคมาก ๆ ผู้บริโภคเป็นเสียงที่ผู้ผลิตฟัง ผู้ผลิตมักอ้างความต้องการของผู้บริโภคเป็นเหตุผลหลักที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เราช่วยได้ เราทุกคนเป็นอินฟลูในการสร้างเทรนด์ได้ และเสียงของเราจะส่งไปถึงผู้ผลิต”

คุณฐิติกรได้ตั้งคำถามต่อปัญหานี้เช่นกันว่า “ถึงเวลาที่เราต้องพิจารณาว่าเราต้องลดตั้งแต่ต้นทางหรือเปล่า และเร่งรัดพรบ. PRTR ประกอบกันไปด้วยซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญเพื่อบังคับให้อุตสาหกรรมผู้ผลิตพลาสติกรายงานข้อมูลสารเคมีในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารเคมีและมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม”

พลังของผู้บริโภคสามารถเรียกร้องให้ผู้ผลิตเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งจะต้องทำไปอย่างสอดคล้องกันกับเจตนารมณ์ของรัฐในการปรับเปลี่ยนไปสู่การกำหนดนโยบายที่เร่งไปสู่การลดการผลิตพลาสติก สิ่งที่กรีนพีซ ประเทศไทย และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) เสนอต่อภาครัฐคือ การผลักดันกฎหมายกลางของโลกในการจัดการกับมลพิษพลาสติก ภายใต้สนธิสัญญาพลาสติกโลก อันจะเป็นกลไกสำคัญในการลดพลาสติกระดับโลก “การมีเป้าหมายที่ทะเยอทะยานที่จะนำให้ทุกประเทศก้าวไปพร้อมกัน” คุณพิชามญชุ์เสนอ “ภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารที่ปล่อยเงินกู้สำหรับการลงทุนนั้นจะต้องมุ่งสนับสนุนการลงทุนไปในทิศทางที่สอดคล้องกันด้วย กรีนพีซเรียกร้องให้ทั่วโลกลดการผลิตพลาสติกลงให้ได้ร้อยละ 75 ภายในปี 2040 ซึ่งจะช่วยทั้งประเด็นเรื่องสังคมและสุขภาพของมนุษย์ อนาคตสุขภาพของเรา

ในขณะที่โลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่การประชุมเจรจาระดับนานาชาติว่าด้วยสนธิสัญญาพลาสติกครั้งสำคัญในเดือนสิงหาคมนี้ สังคมไทยก็เฝ้าติดตามบทบาทของคณะผู้แทนเจรจาไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดท่าทีของประเทศในเวทีนี้ ประเด็นเรื่องผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพมนุษย์ที่ปรากฏในภาพยนตร์สารคดี Plastic People สะท้อนเสียงเรียกร้องจากประชาชนอย่างชัดเจนว่า วิกฤตนี้ไม่อาจรอได้ และควรได้รับการยกระดับเป็นวาระเร่งด่วนเหนือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนอุตสาหกรรม

“สิ่งที่ทำให้สนธิสัญญาพลาสติกโลกยังไม่เกิดขึ้นคือ ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ได้แก่  อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย ต้องการให้สนธิสัญญาอ่อนที่สุด โดยต้องการให้แก้ที่ผู้บริโภคและประเทศรับขยะปลายทางเท่านั้น การค้านเช่นนี้แปลว่าเขาจะเสียผลประโยชน์ แต่ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกต้องการให้มีการควบคุมอย่างเข้มแข็งทั้งหมดทั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นเกาะและชายฝั่ง ต้องการให้แก้ไขปัญหาพลาสติกให้รวดเร็วที่สุด การประชุมสนธิสัญญาต้องการการเห็นด้วยจากทุกประเทศ 100% จึงยังไม่สามารถทำความตกลงได้ การแก้ที่ผู้ผลิตร้อยกว่ารายนั้นแก้ง่ายกว่าที่ประชากรทั่วโลกหลายล้านคน และง่ายกว่าการหาทางแก้ที่ปลายน้ำหรือผู้บริโภค แต่ผู้ผลิตไม่เห็นด้วยเนื่องจากการห้ามการผลิตหมายถึงการขาดทุน แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม” คุณฐิติกร อธิบาย “การยืดระยะเวลาการเกิดสนธิสัญญาพลาสติกไปเรื่อย ๆ ย่อมส่งผลเสียในวงกว้างต่อผู้บริโภค และประเทศที่ต้องรับมลพิษพลาสติกปลายทาง”

จาก PLASTIC PEOPLE สู่ Power of People ข้อค้นพบและบทสนทนาของคนที่อยากเห็นอนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติกนั้น เป็นเสียงของประชาชนที่กังวลต่อสุขภาพและคนรุ่นต่อไป โดยต้องการเห็นมาตรฐานสากลในการจัดการพลาสติกที่ใช้แล้ว ที่ให้ความสำคัญกับการลดพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เหลือแค่เพียงผู้นำโลกจะต้องยอมรับว่าทางเดียวที่จะจัดการกับวิกฤตมลพิษพลาสติกได้ และหันมาให้ความสำคัญกับการลดการผลิตและยุติการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งผ่านการผลักดันสนธิสัญญาพลาสติกโลกภายใต้การประชุม INC-5.2 โดยที่ให้ความสำคัญกับด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างเท่าเทียม

ในช่วงวันที่ 4 ถึง 15 สิงหาคมนี้เป็นช่วงการประชุมเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่จะมีตัวแทนจากภาครัฐของไทย รวมถึงกรีนพีซที่เป็นตัวแทนของภาคประชาสังคม เข้าร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ด้วย ร่วมกันส่งเสียงเพื่อร่วมกันผลักดันให้การเจรจานี้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกที่ทะเยอทะยานและเข้มแข็งที่จะช่วยแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติก และมีผลบังคับใช้จริงเชิงกฎหมายอนาคตสุขภาพของเราของสิ่งแวดล้อมอยู่ที่การเจรจาสนธิสัญญาโลกพลาสติกในครั้งนี้