พื้นที่คุ้มครองทางทะเลโดยมีชุมชนเป็นผู้นำ

การจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลโดยมีชุมชนเป็นผู้นำ (Community-led marine protected areas) หรือ “ทะเลชุมชน” คือการจัดการพื้นที่ชายทะเลใกล้ฝั่งโดยชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่นั้นอย่างต่อเนื่องร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ

เช่น องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย ในรูปแบบของการเป็นพันธมิตรกัน (partner) ทะเลชุมชนจึงเป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ให้ตรงกับความต้องการของชุมชน ผ่านกฎกติกาที่คนในพื้นที่ได้เจรจาต่อรองและเป็นที่ยอมรับแล้ว และเกิดการพัฒนาทั้งในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม


มิติสังคม

การจัดการทรัพยากรรูปแบบ “ทะเลชุมชน” ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน สร้างทัศนคติที่ดีด้านสิ่งแวดล้อม และยกระดับการมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่นในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ชุมชนที่เข้าร่วมการจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลโดยสมัครใจมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตดีขึ้น ตลอดจนมีความสามารถในการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ (Resilience) ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การจัดการแบบมีส่วนร่วมยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับการธรรมาภิบาลท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐในท้องถิ่นด้วย

ในด้านความมั่นคงทางอาหาร มีข้อค้นพบว่า การจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลโดยมีชุมชนเป็นผู้นำส่งผลในแง่บวกต่ออัตราการจับปลาที่เพิ่มสูงขึ้น ปลาที่จับได้ก็มีขนาดใหญ่ขึ้น (Jupiter et al., 2014) และคนในพื้นที่ที่มีโอกาสได้รับสารอาหารที่หลากหลายขึ้นเนื่องจากหันมาทำเกษตรกรรมนอกฤดูประมง (Robertson et al., 2020, p.117) 


มิติสิ่งแวดล้อม

การจัดทำพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในทุกรูปแบบ ร่วมทั้งการทำทะเลชุมชน ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลได้อย่างยั่งยืน และช่วยปกป้องปะการังจากการถูกทำลาย รายงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทยระบุว่า ภายหลังมีการทำพื้นที่คุ้มครองทางทะเล พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2,780 ตารางกิโลเมตรในปี 2563 จากเดิมที่มีอยู่ 1,680 ตารางกิโลเมตรในปี 2539 (Satumantpan and Chuenpagdee, 2022, p.546)

มิติเศรษฐกิจ

การจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลโดยมีชุมชนเป็นผู้นำเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ไขทุกปัญหา จึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะความรู้ที่เกี่ยวกับอาชีพบนฐานทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสและแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ให้กับชุมชนชายฝั่ง (Robertson et al., 2020, p.9) และให้ชาวประมงมีแหล่งรายได้อื่นในช่วงที่มีการปิดพื้นที่ตามฤดูกาลเพื่อให้สิ่งมีชีวิตในทะเลได้เติบโตและรักษาความสมดุลทางชีวภาพ เช่น รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นแรงจูงใจให้ชาวประมงหันมาเข้าร่วมการทำพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Jupiter et al., 2014, p.170)

รูปแบบธุรกิจที่สามารถพัฒนาควบคู่ไปกับการจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลโดยมีชุมชนเป็นผู้นำเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น คือ วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างการแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจและการช่วยเหลือสังคม และเป็นกลไกหนึ่งที่เกื้อหนุนการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยธุรกิจนั้นต้องมีศักยภาพที่จะมีความยั่งยืนทางการเงินได้ด้วยตนเอง และกระบวนการผลิตหรือการดำเนินกิจการรวมถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคม สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อม

แผนผังแสดงความเชื่อมโยงระหว่างการนำการจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลโดยมีชุมชนเป็นแกนหลักในการทำนโยบายซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพของมนุษย์และระบบนิเวศ และเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาของสหประชาชาติ

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

  1. ยอมรับและส่งเสริมสิทธิและศักยภาพของประมงพื้นบ้านและชุมชนชายฝั่งในฐานะผู้เล่นสำคัญในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน และด่านหน้าในการรุก รับ ปรับตัวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพที่สูญหายไปอันเนื่องมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์
  2. ส่งเสริมการจัดการประมงโดยอิงสิทธิมนุษยชน (right-based fisheries management) และใช้การบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลรูปแบบอื่น ๆ เช่น ทะเลชุมชน OECMs เพื่อเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในประเทศไทยเพื่อให้ถึงเป้า 30×30 ที่ไทยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในเวทีโลก โดยใช้กรอบคิดเรื่องการร่วมบริหารจัดการ (co-management) ระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนในการจัดทำพื้นที่คุ้มครองทางทะเลโดยมีชุมชนเป็นผู้นำ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ 
  1. เพิ่มการลงทุนในด้านการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองโดยชุมชนเป็นผู้นำ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินทุน
  2. ปรับปรุงการธรรมาภิบาลเพื่อลดความคลุมเครือและพื้นที่ที่ทับซ้อนของต่างหน่วยงาน
  3. สร้างการพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการพื้นที่คุ้มครองโดยชุมชนเป็นผู้นำ และเครือข่ายในระดับภูมิภาคเพื่อช่วยในการติดต่อประสานงานกับผู้ปฏิบัติการณ์ด้านการสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเล
  4. จัดทำ “หลักสูตรชุมชน” ที่บูรณาการเรื่องสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และของดีในตำบลตนเองเข้าไปอยู่ในการศึกษาของโรงเรียน ให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เพื่อให้เข้าใจพื้นที่ตนเองและมีส่วนร่วมในการต่อยอดและพัฒนาของดีที่มีอยู่ในบ้านตนเอง
  5. เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงตลาดให้กับกลุ่มประมงพื้นบ้านเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนของประมงพื้นบ้านที่ทำธุรกิจอยู่บนความรับผิดชอบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยจัดตั้งแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อวิสาหกิจชุมชนและ/หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดนอกพื้นที่ให้กับชุมชน และให้ผูบริโภคที่สนใจสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของชุมชนได้มากขึ้น และเป็นการเชื่อมเครือข่ายคู่ค้าให้แก่ชุมชนต่าง ๆ ตลอดจนยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน และมีขั้นตอนการรับรองมาตรฐานสินค้าที่ผลิตโดยชุมชนที่ชัดเจนและไม่ซับซ้อน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ขั้นตอนการดำเนินงานให้ชุมชนได้รับทราบ

“บ้านเรา ให้เราดูแล”

ร่วมสนับสนุนการสร้าง “ทะเลชุมชน” หรือพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ชุมชนเป็นผู้นำ (Commnunity-led marine protected areas) และปกป้องสิทธิของชุมชนชายฝั่งที่กำลังได้รับผลกระทบจากทั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มลพิษจากอุตสาหกรรม และประมงทำลายล้าง


“บ้านเรา ให้เราดูแล”

ร่วมสนับสนุนการสร้าง “ทะเลชุมชน” หรือพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ชุมชนเป็นผู้นำ (Commnunity-led marine protected areas) และปกป้องสิทธิของชุมชนชายฝั่งที่กำลังได้รับผลกระทบจากทั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มลพิษจากอุตสาหกรรม และประมงทำลายล้าง