กรุงเทพฯ, 25 พฤษภาคม 2568 – กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และ Decode.Plus จัดกิจกรรมเปิดตัวภาพยนตร์สารคดี “Voices Under Attack: SLAPP and the Fight to Protect the Environment” หรือชื่อภาษาไทย “SLAPP: เมื่อสิทธิในการปกป้องสิ่งแวดล้อมตกเป็นเป้าหมาย” ณ โรงภาพยนตร์ LIDO CONNECT ห้องฉายภาพยนต์ที่ 1 โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของการใช้กระบวนการทางกฎหมายในลักษณะที่เรียกว่า SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) ซึ่งมักถูกนำมาใช้เพื่อปิดกั้นเสียงของนักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมตลอดจนประชาชนที่ลุกขึ้นมาใช้สิทธิในการแสดงออก และการชุมนุมประท้วงเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ไม่เพียงตีแผ่ความอยุติธรรมที่นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมต้องเผชิญ แต่ยังสื่อถึงพลัง ความกล้าหาญ และความหวังของผู้คนทั่วประเทศที่ยังคงยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และเรียกร้องให้มีการจัดทำกลไกทางกฎหมายที่เป็นธรรมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน 

กิจกรรมครั้งนี้ยังเปิดเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักกิจกรรม นักกฎหมาย ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน เพื่อร่วมกันหาทางออกจากปัญหา SLAPP และสร้างสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกระทรวงยุติธรรม เจ้าภาพในการร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน พ.ศ…  กล่าวว่า  “ในฐานะตัวแทนภาครัฐ เรามีหน้าที่สำคัญในการสร้างกรอบทางกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสังคมในกระบวนการยุติธรรม การป้องกัน SLAPP ถือเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่จะช่วยให้การใช้กฎหมายไม่ถูกบิดเบือนมาเป็นเครื่องมือปิดกั้นเสียงประชาชน เรากำลังเดินหน้าร่างกฎหมายและกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความสมดุลย์ระหว่างสิทธิส่วนบุคคลและประโยชน์สาธารณะ รวมถึงส่งเสริมความยุติธรรมและความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม”

มนูญ วงษ์มะเซาะห์ นักสื่อสารงานรณรงค์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “เราหวังให้สารคดีเรื่องนี้เป็นเครื่องมือสื่อสารถึงสังคม โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นนักกฎหมายหรือผู้พิพากษา เพื่อให้พวกเขาใช้ดุลยพินิจในการตัดสินคดีบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ไม่ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเครื่องมือในการปิดปากนักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม เราต้องร่วมกันสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่า การพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะไม่ควรถูกปิดปากด้วยกระบวนการทางกฎหมายหรือ SLAPP พร้อมกันนั้นก็ต้องผลักดันให้มีกฎหมายที่คุ้มครององค์กรภาคประชาสังคม นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม”

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ และผู้ประสานงานบริหารมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ผู้เป็นที่ปรึกษาและให้ข้อมูลในสารคดีชิ้นนี้ กล่าวว่า SLAPP คือ เครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อปิดกั้นการส่งเสียง และทำให้ผู้ใช้สิทธิเสรีภาพหวาดกลัว ไม่กล้าลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อความยุติธรรม สิ่งแวดล้อม และประโยชน์สาธารณะ เราจำเป็นต้องมีระบบกฎหมายที่เข้มแข็งและชัดเจน ไม่ให้กระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นอาวุธเพื่อปิดปาก เพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิและประโยชน์สาธารณะ

นอกจากระบบกฎหมายแล้ว การป้องกันการฟ้องปิดปาก หรือ SLAPP อีกอย่างหนึ่ง คือ ต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดและความเข้าใจของนักกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ที่ไปสนับสนุนหรือดำเนินการในการฟ้องคดีปิดปาก ต้องกล้าปฏิเสธไม่ทำคดีฟ้อง SLAPP ต้องไม่คิดว่าผู้ใช้ SLAPP มีสิทธิฟ้องคดี และผู้บังคับใช้กฎหมายในส่วนต่างๆต้องไม่รับเรื่องเหล่านี้ไว้ดำเนินการต่อไม่ว่าในชั้นใดๆ 

“ตัวเองในฐานะทนายความ ยืนยันที่จะไม่ทำคดีให้แก่ผู้จะใช้กฎหมายปิดปาก พร้อมร่วมปกป้องนักปกป้องสิทธิฯ จากการถูก SLAPP และจะเดินหน้าสนับสนุนการสร้างกฎหมายและมาตรการที่จะปกป้องนักปกป้องสิทธิและชุมชนอย่างเต็มที่ต่อไป”

ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนนักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแลดล้อม หนึ่งในผู้ร่วมเล่าเรื่องหลักในภาพยนตร์สารคดีกล่าวอย่างมีความหวังว่า 

“ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่รักและหวงแหนบ้านเกิด การได้ลุกขึ้นปกป้องสิ่งแวดล้อมคือสิ่งที่เราต้องทำ แต่ในความเป็นจริง การออกมาพูดความจริงกลับทำให้เราถูกคุกคามและฟ้องร้อง เราไม่ควรต้องกลัวหรือถูกคุกคามเพียงเพราะเราอยากปกป้องอนาคตของเรา 

เราคิดว่า เราอยากสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ออกไป และสารคดีนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ และสร้างความหวังว่าเราจะไม่ยอมแพ้ และสังคมจะเข้าใจและสนับสนุนการต่อสู้ของเราอย่างแท้จริง”

ภาณุทัศน์ เกตุเจริญ ผู้กำกับสารคดี กล่าวว่า “การร่วมผลิตสารคดีเรื่องนี้เป็นความตั้งใจในฐานะสื่อที่มีบทบาทในการนำเสนอข้อมูลเพื่อประโยชน์สาธารณะ เราเห็นความจำเป็นในการสะท้อนเสียงและเรื่องราวของนักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมที่มักถูกมองข้าม การเล่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เพียงการรายงานข่าว แต่คือการใช้พลังของสื่อเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เราต้องการส่งต่อสารที่สำคัญนี้ให้สังคมได้รับรู้ เพื่อจุดประกายความตระหนักรู้ และสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างแท้จริง”

ภัทราภรณ์ ศรีทองแท้  บก.Decode.Plus กล่าวทิ้งท้าย ว่า ความกลัวคือความรุนแรงอย่างหนึ่งของ SLAPP ที่ครอบงำสังคมไทยและส่งต่อวัฒนธรรมของการกดทับในรูปแบบของกฎหมาย เมื่อการฟ้องร้องในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ถูกใช้เพื่อแสวงหาความยุติธรรม แต่ใช้เพื่อหวังผลให้เสียงของการเรียกร้องสิทธิและให้ข้อมูลที่เป็นจริงต่อสาธารณะนั้นอ่อนแรงและเงียบหายไป ทำให้เกิดภาวะชะงักงันในการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ท้ายที่สุด SLAPP จะกลายเป็นความเสื่อมทรุดและกัดกินรากฐานของระบอบประชาธิปไตยไทยในที่สุด  

“แม้สื่อมวลชน จะเป็นกลุ่มเป้าหมายลำดับ 5 ของการฟ้องปิดปากในประเทศไทยก็ไม่ได้ช่วยให้เราคลายความกังวล เพราะทุกวันนี้ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ และในวันที่เรามีสื่อพลเมืองและสื่ออิสระซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการทำหน้าที่ “Watch dog” หรือตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเข้มข้น รวมถึงให้ข้อมูลตลอดจนแสดงความคิดเห็นต่อโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย เรื่องที่น่ากังวล คือยังไม่มีกลไกคุ้มครองคนทำสื่อพลเมืองและสื่ออิสระเหล่านี้ ท่ามกลางการช่วงชิงนิยามและความหมายของ ‘สื่อ’ ในบริบทที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป”

ท้ายสุดนี้หากหน่วยงานหรือองค์กรใดสนใจนำภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ไปจัดฉาย หรือมีประสงค์จะจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหา SLAPP และการปกป้องสิ่งแวดล้อม สามารถติดต่อกรีนพีซ ประเทศไทยได้โดยตรง

www.greenpeace.or.th

FB: Greenpeace Thailand

ร่วมสนับสนุนงานรณรงค์ของกรีนพีซ ประเทศไทยได้ที่นี่