ชุมพร, 8 สิงหาคม 2562 – ภาคประชาชนในอำเภอหลังสวนจังหวัดชุมพรขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางพลังงานโดยเข้าร่วมกิจกรรมอบรมความรู้เรื่องระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และปฏิบัติการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาด 30 กิโลวัตต์ให้กับโรงพยาบาลหลังสวน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้มีกิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่นจักรยานเกิดขึ้นเมื่อวัน ณ ที่ว่าการอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร โดยรายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายสมทบเข้ากองทุนแสงอาทิตย์เพื่อนำไปติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาล [1]

การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการช่วงแรกของกองทุนแสงอาทิตย์(Thailand Solar Fund) [2] ที่ใช้เงินบริจาคจากประชาชนทั้งหมดเพื่อสร้างการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานให้กับโรงพยาบาลของรัฐ 7 แห่ง ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปในระบบออนกริดหรือระบบที่ไม่ใช้แบตเตอรี่สำรองแต่ยังเชื่อมต่อระบบกับการไฟฟ้า โดยที่โรงพยาบาลหลังสวนจะเป็นโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งแรกของภาคใต้และแห่งที่ 2 ของกองทุนแสงอาทิตย์

โรงพยาบาลหลังสวน เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ขนาด 120 เตียง รับผิดชอบประชาชนอำเภอหลังสวนและอำเภอใกล้เคียงในจังหวัดชุมพรไม่น้อยกว่า 150,000 คน และรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชุมชนในโซนใต้ของจังหวัดชุมพร ประกอบด้วยโรงพยาบาลละแม โรงพยาบาลพะโต๊ะ โรงพยาบาลทุ่งตะโก และโรงพยาบาลปากน้ำหลังสวน ด้วยขีดจำกัดทางด้านงบประมาณและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทางโรงพยาบาลหลังสวนจึงจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายที่สามารถทำได้ อย่างเช่น การประหยัดพลังงานและการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน เนื่องจากปัจจุบันภาระค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลเฉลี่ยเดือนละราว 5 แสนบาท

นายแพทย์ศักดิ์สิทธิ์ มหารัตนวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร กล่าวว่า “ทางโรงพยาบาลมีศักยภาพในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป โดยมีอาคารบริการของโรงพยาบาลที่มีความเหมาะสมในการติดตั้งและลงทุน มีบุคลากรที่ทำงานซ่อมบำรุงที่จะสามารถเข้าร่วมอบรมเพื่อพัฒนาทักษะในการร่วมติดตั้งและดูแลรักษาอีกราว 8 คน โรงพยาบาลมีนโยบาย และคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลมีความมุ่งมั่นในการประหยัดพลังงานและการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน การระดมทุนเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้กับโรงพยาบาลจะช่วยลดภาระค่าไฟให้กับโรงพยาบาล และหากมีมาตรการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพร่วมด้วยจะช่วยให้ลดภาระค่าไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นอีก”

บุญยืน ศิริธรรม คณะกรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า “ การบริจาคของประชาชนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์เพื่อสนับสนุนให้โรงพยาบาลทั้ง7แห่งแรกของประเทศไทยสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ภายในปี2562นั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญยิ่งในการต่อกรกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ผูกขาดอำนาจการจัดการพลังงาน เมื่อทุกหลังคาบ้านติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วนอกจากจะลดค่าบิลไฟฟ้าของครอบครัว ยังลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศอีกทั้งหายนะทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของทุกคน  ประชาธิปไตยทางพลังงานย่อมจะเกิดเมื่อเราสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน”

ปฏิบัติการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปของกองทุนแสงอาทิตย์ดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับการขับเคลื่อนเพื่อความเป็นธรรมทางพลังงาน แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2562) มาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในประเทศไทยเน้นไปที่ระดับกิจการ (utility scale) เช่น โซลาร์ฟาร์ม ซึ่งมีกลไกสนับสนุนผ่านการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff [3]ในขณะที่ระบบ Net-metering ยังเป็นเพียงโครงการนำร่องโดยการติดตั้งโซลาร์รูฟที่ผลิตเพื่อใช้เองและเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผลเพราะยังคงติดอยู่ที่ระเบียบการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าที่ไม่อนุญาตให้มีกระแสไฟฟ้าไหลย้อนเข้าสู่ระบบ ส่วนโครงการโซลาร์ภาคประชาชนตามแผนของกระทรวงพลังงานนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ

จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ทางออกเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางพลังงานคือกลไกเชิงนโยบายที่รับประกันถึงสิทธิของประชาชนในการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและส่งไฟฟ้าขายเข้าระบบสายส่งได้ก่อนโดยไม่จำกัดจำนวน ช่วยยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านมาตรการ Net Metering[4] เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ และกรีนพีซเสนอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(Energy Regulatory Commission of Thailand) ออกมาตรการ net metering โดยเร็ว”

หมายเหตุ :

[1] กองทุนแสงอาทิตย์เปิดรับบริจาคเงินจากประชาชนทั่วประเทศผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เลขที่บัญชี 429-017697-4 โดยมีช่องทางการรับบริจาคและรับหลักฐานการบริจาค เงินทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thailandsolarfund.org ทั้งนี้การบริจาคเงิน สามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ด้วยมูลนิธิฯ เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง

[2] กองทุนแสงอาทิตย์เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลายทั้งด้านผู้บริโภค การพัฒนาเด็ก สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อระดมทรัพยากรติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ทำงานรณรงค์ผลักดันให้เกิดขยายตัวของระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในระดับครัวเรือน หน่วยงานและสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคธุรกิจ บนพื้นฐานของการมี ส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปพลังงานโดยการลงมือทำจริงในพื้นที่เป้าหมายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานหมุนเวียน www.thailandsolarfund.org เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช), สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ), เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค, สมาคมประชาสังคมชุมพร, มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต, บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด, Solarder, โรงเรียนศรีแสงธรรม, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด), เครือข่ายสลัม4ภาค, มูลนิธิภาคใต้สีเขียว, เครือข่ายลันตาโกกรีน Lanta Goes Green, มูลนิธิสุขภาพไทย และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

[3] www.erc.or.th/ERCWeb2/Front/StaticPage/StaticPage.aspx?p=200&Tag=SolarRooftop

[4] ร่วมลงชื่อเพื่อผลักดันมาตรการ Net Metering ได้ ที่นี่

ติดต่อประสานงาน :

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา โทรศัพท์ 095-534-2575 อีเมล์ [email protected]
จริยา เสนพงศ์ โทรศัพท์ 081-692-8978  อีเมล์ [email protected]

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม